ค่าเงินบาทวันนี้ 28 มิ.ย.66 ‘อ่อนค่า’จากตลาดปิดรับความเสี่ยง

ค่าเงินบาทวันนี้ 28 มิ.ย.66 ‘อ่อนค่า’จากตลาดปิดรับความเสี่ยง

ค่าเงินบาทวันนี้ (28 มิ.ย.66) เปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ 35.30บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” จากดอลลาร์ แข็งค่า และราคาทองลง ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่ปิดรับความเสี่ยง จับตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.15-35.40 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ (28 มิ.ย.2566)  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.30 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.28 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.40 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า "เงินบาท"เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 35.18 บาทต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ) ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ตามการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลงต่อเนื่องของราคาทองคำท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น 

ค่าเงินบาทวันนี้ 28 มิ.ย.66 ‘อ่อนค่า’จากตลาดปิดรับความเสี่ยง

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้บ้างและอาจมีการขยับโซนในการแกว่งตัวที่สูงขึ้น หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้านแรกแถว 35.30 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ ทั้งนี้ หากไม่มีแรงเทขายสินทรัพย์ไทยที่รุนแรง เงินบาทก็อาจจะไม่ได้อ่อนค่าต่อไปมากนัก เพราะผู้เล่นในตลาดต่างก็รอติดตามปัจจัยข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ PCE และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ในช่วงท้ายสัปดาห์ 

ทั้งนี้ เงินบาทอาจจะยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจนได้ในระยะสั้น จนกว่าจะเห็นการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ สถานการณ์การเมืองไทยเริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาล (ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง) นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน เรามองว่า เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินต่างประเทศจากบรรดาผู้นำเข้า ซึ่งเบื้องต้นเรามองว่า แนวรับแรกของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 35.10 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 35.00 บาทต่อดอลลาร์

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดซึ่งแม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาดจะทำให้เฟดมีโอกาสที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป แต่ภาพดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดคาดหวังไว้อยู่แล้ว ทำให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ และหุ้นในธีม AI สามารถรีบาวด์ขึ้นแรง(Tesla +3.8%, Nvidia +3.1%) ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.65% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.15% 

ตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย +0.05% หนุนโดยความหวังว่าทางการจีนอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (L’ Oreal +0.8%, Rio Tinto +0.6%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังคงถูกกดดันโดยท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ที่ต่างย้ำจุดยืน พร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อสูง

ตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 3.80% อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถผ่านโซนดังกล่าวได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip) สอดคล้องกับมุมมองของนักวิเคราะห์หลายที่ ที่ต่างมองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ มีโอกาสทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.20%-3.50% ในช่วงสิ้นปี 

ตลาดค่าเงิน แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาด แต่ความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยก็ลดลง ตามการเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของผู้เล่นในตลาด ส่งผลให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102.5 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.3-102.6 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงและการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ย่อตัวลงมาแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,920-1,925 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก อาทิประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้ง ECB และเฟด 

นอกจากนี้ ปัจจัยการเมืองรัสเซียก็จะเป็นอีกสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งความวุ่นวายทางการเมืองรัสเซียก็อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้