แบงก์ชาติ งัดมาตรการ ‘แก้หนี้เรื้อรัง’ สั่งแบงก์ เคลียร์หนี้ให้จบใน4ปี

แบงก์ชาติ งัดมาตรการ ‘แก้หนี้เรื้อรัง’ สั่งแบงก์ เคลียร์หนี้ให้จบใน4ปี

ธปท.เตรียมออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน แก้หนี้เรื้อรัง สั่งแบงก์ ต้องลดดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้ 8-12% ต้องปิดจบหนี้ของลูกหนี้ให้ได้ภายใน 4 ปี หวังลูกหนี้หลุดพ้นวงจรหนี้โดยเร็ว

      ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูล “หนี้ครัวเรือน”ภายใต้ข้อมูลชุดใหม่ที่รวมทั้งสินเชื่อที่อยู่ภายใต้กำกับ ธปท.และไม่ได้อยู่ภายใต้กำกับ เช่น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อสหกรณ์ และสินเชื่อเพื่อการศึกษา ซึ่งส่งผลให้ หนี้ครัวเรือน ไตรมาสแรกปี 2566 เพิ่มจาก 86.3% เป็น 90.6% หรือ 16ล้านล้านบาท

     ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ธปท.อยู่ระหว่างการเตรียมออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งจะครอบคลุมการแก้ปัญหาตลอดวงจรหนี้ ทั้งแต่การก่อหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ การดูแลหนี้เดิม โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และกลุ่มหนี้เรื้อรัง ซึ่งคาดว่าแนวทางหรือหลักเกณฑ์การแก้หนี้จะสามารถประกาศได้ในปลายเดือน ก.ค.นี้

         แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวว่า นอกจาก การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยการเร่งกำชับแบงก์ เจ้าหนี้ อย่างเข้มข้น ให้เร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้อย่างเร่งด่วน ก่อนที่มาตรการช่วยเหลือทางการเงินจะหมดมาตรการในสิ้นปีนี้

       ธปท.ยังอยู่ระหว่างการออกชุดมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนผ่าน 4 มาตรการหรือหลักการ โดยหนึ่งในนั้น คือ มาตรการแก้หนี้ “เรื้อรัง” หรือ Rersistent Debt สำหรับลูกหนี้ที่เป็นหนี้ปกติ แต่เรื้อรัง แต่ยังปิดจบหนี้ไม่ได้ หรือต้องใช้เวลานานเกินไป

สั่งเจ้าหนี้ปิดจบหนี้ให้ได้ภายใน4ปี

      โดยการกำหนด Intended outcome โดยต้องสามารถจบหนี้ “เรื้อรัง”ให้เสร็จสิ้นใน 4ปี โดยกำหนดการปิดหนี้ ตามกลุ่มลูกหนี้ คือ General PD สำหรับลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ในปีที่ 1 ถึง 2 และยังไม่สามารถจบหนี้ได้

       เช่นกลุ่มที่ มีการชำระดอกเบี้ย มากกว่าเงินต้น เช่นกู้เงิน 100,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยที่ 25% โดยจ่ายดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ 3% ต่อเนื่อง จนถึงปีที่ 2 ส่งผลให้ดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้ว โดยรวมอยู่ที่ 39,680 บาท ขณะที่เงินที่ชำระหนี้ทั้งหมด ถูกนำไปตัดเงินต้นเพียง 23,743บาทเท่านั้น กลุ่มนี้ ถูกจัดเป็นกลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง

        ดังนั้น เพื่อเร่งให้ลูกหนี้ หลุดออกจากวงจรหนี้ ปิดเร่งปิดหนี้ให้จบโดยเร็ว โดยเฉพาะเงินต้น ธปท.จะกำหนดให้ สถาบันการเงิน และนอนแบงก์ ส่ง Notification Letter ให้ลูกหนี้ และแจ้งลูกหนี้ว่า เข้าข่ายเป็นลูกหนี้ “เรื้อรัง” เพราะมีการจ่ายดอกเบี้ย มากกว่าเงินต้นติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2ปี ซึ่งลูกหนี้ควร เพิ่มการจ่ายชำระหนี้ เพื่อปิดหนี้ให้ไวขึ้น เพื่อให้ปิดหนี้โดยเร็ว

บังคับแบงก์ลดดอกเบี้ย8-12%ช่วยลูกหนี้

      ถัดมาหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ให้จบได้ภายใน 3ปี ลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มนี้ จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Severe PD ที่จะต้องเข้าสู่มาตรการเข้มข้นทั้ง ลูกหนี้และเจ้าหนี้

     ทั้งนี้ ธปท.จะกำหนดให้แบงก์ให้ทางเลือกกับลูกหนี้ โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้จบภายใน 4 ปี หากไม่สามารถจบหนี้ได้ในปีที่ 3 และหนี้เริ่มลามเข้าสู่ปีที่ 4 แบงก์ และเจ้าหนี้จะถูกบังคับให้ลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ลงที่ 8 หรือ 12% ตามความเสี่ยงลูกหนี้ เช่นหากดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 25% แบงก์ต้องลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้มากที่สุด 12% จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องชำระลดลงเหลือเพียง 13%เท่านั้น

       ดังนั้น เพื่อไม่ให้แบงก์ หรือเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบ จะต้องเร่งกระบวนการ “ปิดจบหนี้” ให้จบสิ้นโดยเร็วภายใน 4 ปี

        ขณะที่ฝั่งลูกหนี้หากไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 4 ปี จะถูกติด Flag บนข้อมูลเครดิตของฐานข้อมูลเครดิตบูโร เช่นเดียวกัน ติดรหัสลูกหนี้ที่มีปัญหากลุ่มอื่น ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกหนี้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้จนถึงปีที่ 5 แม้ลูกหนี้รายดังกล่าวจะไม่ได้เป็นหนี้เสียหรือค้างชำระ

        “การติด Flag ลูกหนี้บนข้อมูล NCB เหมือนการติดแบล็กลิสต์ลูกหนี้ ว่าลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยง แม้ลูกหนี้กลุ่มนี้จะไม่เป็นหนี้เสียก็ตาม เหล่านี้ก็เพื่อให้แบงก์ และลูกหนี้ ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง ให้จบโดยเร็ว ไม่งั้นผลกระทบที่ตามมาอาจมากกว่าคาด เช่น ในฝั่งเจ้าหนี้ แบงก์ ต้องถูกบังคับให้ลดดอกเบี้ยลูกสูงสุด12%ส่วนนี้กระทบแน่นอนกับธุรกิจ ขณะที่ลูกหนี้จะไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในช่วง 5 ปี ตราบใดที่ยังเคลียร์หนี้ไม่จบ”

         นอกจากมาตรการที่เข้มข้นในการแก้หนี้เรื้อรัง สิ่งที่ธปท.ให้แบงก์ทำควบคู่กัน เพื่อป้องกันหนี้เรื้อรังในอนาคต โดยการกำหนดให้สถาบันการเงิน นอนแบงก์ กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจน ในทุกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ตั้งแต่ดอกเบี้ยเริ่มต้นจนสูงสุด และให้เปรียบเทียบดอกเบี้ย และระยะเวลาปิดหนี้ โดยเฉพาะสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน ที่แบงก์ต้องทำให้เห็นว่า ระหว่างจ่ายเต็ม และจ่ายขั้นต่ำ มีภาระต่อลูกหนี้อย่างไร

          ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ให้ตรงเวลา และจ่ายเพิ่มมากกว่าขั้นต่ำหรือดอกเบี้ย เจ้าหนี้ ต้องแจ้งเตือนก่อนถึงวันครบกำหนดชำระ และมีการเปรียบเทียบดอกเบี้ย และระยะเวลาปิดหนี้ ในใบแจ้งหน้าให้ครบถ้วน

        รวมถึงการสนับสนุนให้ปิดหนี้ สินเชื่อเช่าซื้อ และชำระเต็มจำนวน สำหรับสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน ที่แบงก์ต้องทำให้เห็นว่า ลูกหนี้ที่จ่ายน้อยกว่า จ่ายเต็มจำนวน มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ธปท.เตรียมออกหลักเกณฑ์แก้หนี้ ก.ค.นี้

       นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ ธปท.จะเปิดแนวทาง หรือหลักการในการหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยเบื้องต้นการแก้หนี้ครัวเรือนจะดำเนินการภายใต้ 3 หลักเกณฑ์ 

      1.เกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending : RL) 2.กลไกการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk Based Pricing : RBP) และ 3.มาตรการ Macroprudential policy (MAPP) หรือการให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และให้ลูกหนี้มีเงินเหลือพอในการดำรงชีพ (DSR)

      รวมทั้งหลังจากเปิดแนวทางการแก้หนี้ที่ชัดเจนแล้ว ธปท.จะเปิดการทำเฮียริ่ง ทั้ง 3 แนวทางต่อไป และจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อบังคับใช้เกณฑ์ต่างๆในเบื้องต้น แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะทันปีนี้หรือไม่

       ทั้งนี้ คาดว่าหลักเกณฑ์ที่สามารถประกาศได้ก่อน คือ การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และการแก้หนี้เรื้อรังที่คาดว่าจะสามารถประกาศให้สามารถบังคับใช้ได้เป็นตัวแรกๆ

        นอกจากนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการจัดทำถังข้อมูล หรือศูนย์ข้อมูลหนี้ ภายใต้หน่วยงานธปท. เพื่อให้การดูแลลูกหนี้มีความครบถ้วน และครอบคลุมมากขึ้น

       สำหรับภาพหนี้ หนี้เสียในระบบหนี้ครัวเรือนไทย โดยเฉพาะในส่วนลูกหนี้รายย่อย ล่าสุดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.2% จาก 3.1% ขณะที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2) ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.2% จาก 6.9%

        ซี่งจากการติดตาม เอ็นพีแอลของระบบธนาคาร และนอนแบงก์ พบว่า แม้ปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับที่แบงก์ยังบริหารจัดการได้ และหลังจากนี้ อาจเห็นหนี้เสียขยับมากขึ้นอีก หลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน แต่จะไม่เกิด หน้าผาเอ็นพีแอลหรือ NPL Cliff

        ส่วนหนี้ในกลุ่ม SM ธปท.มีการติดตามใกล้ชิด โดยให้เจ้าหนี้เร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ก่อนที่มาตรการจะหมดภายในสิ้นปีนี้

เชื่อหนี้ค้างชำระ“เช่าซื้อรถ”เป็นหนี้เสียต่ำ

      ขณะที่ สินเชื่อเช่าซื้อ ในส่วนสินเชื่อค้างชำระหรือกลุ่ม SM แม้มีอัตราการค้างชำระเพิ่มขึ้น แต่จากพฤติกรรมลูกหนี้และการชำระของลูกหนี้ในอดีต เชื่อว่า ลูกหนี้กลุ่ม SM ราว 60% จะยังคงมีสถานะ SM ต่อไปได้ และมีเพียง 10% ที่จะไหลเป็นหนี้เสีย ขณะที่ อีก 20% มีโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้ปกติได้ในอนาคต

     “พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อสินเชื่อรถที่ค้างชำระ ไม่ใช่ว่าเราไม่ห่วง แต่เราเชื่อว่าทั้งหมดที่ค้างชำระไม่ใช่ทั้งหมดที่จะเป็นหนี้เสีย เพราะดูจากพฤติกรรมลูกหนี้แล้ว พบว่ามีการเลี้ยงงวดไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอมหรือเทศกาล แต่เราก็ไม่ได้ชะล่าใจ หรือนิ่งนอนใจ เราให้มีการให้เจ้าหนี้ เข้าไปดูแลว่า ลูกหนี้ในกลุ่มไหนที่มีโอกาสไหล และเร่งเข้าไปเจรจาเพื่อช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อเนื่อง”

        นอกจากนี้ หากดูพอร์ตลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในปัจจุบันพบว่าในช่วงโควิดมีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย หรือกลุ่มรหัส 21 ราว 70% เป็นลูกหนี้แบงก์รัฐที่เป็นกลุ่มที่มีรายได้เปราะบางและมีรายได้น้อย ขณะที่อีก 10% เป็นหนี้ของธนาคารพาณิชย์ และ 30% เป็นหนี้ของธุรกิจนอนแบงก์

       แต่ปัจจุบัน ลูกหนี้ในกลุ่มรหัส 21 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการแก้หนี้ของแบงก์รัฐ โดยหนี้ลดลงจากระดับสูงสุดที่ 4แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 มาอยู่ที่ 3.06 แสนล้านบาทในปัจจุบัน ขณะที่จำนวนบัญชีลูกหนี้ในกลุ่ม 21 ลดลง จากระดับสูงสุดที่มีปัญหา 4.7 ล้านบัญชี ลดเหลือ 4.4 ล้านบัญชีในปัจจุบัน และหากดูจำนวนบัญชีพบว่า ปัจจุบันพบว่าอยู่ระดับคงที่ที่ 3.1 ล้านคน