กรมบัญชีกลางชี้ Block chain สร้างความเป็นธรรมประมูลงานภาครัฐ
กรมบัญชีกลางยืนยัน การนำระบบ Block chain มาใช้ในการประมูลงานภาครัฐ ช่วยความเป็นธรรมให้แก่ผู้เข้าประมูลทุกราย เผย ณ เดือนเม.ย.มียอดประมูลงานภาครัฐไปแล้ว 2.69 ล้านโครงการ เป็นวงเงินโครงการ 8.89 แสนล้านบาท ยอดประมูลต่ำกว่าราคากลางถึง 2.65 หมื่นล้านบาท
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมานี้ กรมบัญชีกลางซึ่งเป็นหน่วยงานในการควบคุมดูแลการประมูลภาครัฐทั้งหมด ได้นำระบบ Block Chain มาใช้ในกระบวนการประมูลงานภาครัฐ เพื่อทำให้ผู้ร่วมประมูลทุกราย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าของโครงการที่เสนอประมูล จะไม่เห็นราคาประมูล (Bid) จนกว่าจะปิดการประมูล ได้สร้างความเป็นธรรมในการประมูลงานภาครัฐ
ทั้งนี้ การเสนอราคาประมูลบน Block Chain ดังกล่าวนั้น ข้อมูลการประมูลจะถูกส่งมายังกรมบัญชีกลางและส่งต่อไปยังธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารที่ดูแลระบบการประมูลงานภาครัฐ ซึ่งกรมบัญชีกลางและธนาคารกรุงไทย จะดำเนินการเข้ารหัส ( Encrypt) ซึ่งจะไม่มีใครเปิดดูได้ก่อนเวลาการปิดประมูล จึงสามารถป้องกันการฮั้วประมูลได้
เธอกล่าวว่า นอกจากการนำระบบ Block Chain มาใช้ในงานประมูลภาครัฐแล้ว กรมบัญชีกลาง ยังลดระยะเวลาการประมูล จากเดิม 8 ชั่วโมง คือ จาก 8.00 น ถึง 16.00 น เหลือ3 ชั่วโมง จาก 9.00 น ถึง12.00 น เนื่องจากเห็นว่า ระยะเวลา 3 ชั่วโมงของการประมูล on line น่าจะเป็นเวลาที่เพียงพอแล้วที่ภาคเอกชนจะมีเวลาในการเสนอรนาคาประมูล นอกจากนั้นการลดระยะเวลาการประมูลให้สั้นลง ได้สร้างความสบายใจให้กับผู้ร่วมประมูลว่าข้อมูลการเสนอราคาไม่รั่วไหล แม้ว่าภายใต้ระบบ Block Chain ดังกล่าว การ Hack ไม่สามารถทำได้ก็ตาม
สำหรับเอกสารชี้ชวนการประมูลนั้น กรมบัญชีกลาง เปิดให้ผู้สนใจทุกรายสามารถ Down load เอกสารได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเปิดกว้างให้ผู้สนใจทุกราย สามารถเข้าถึงงานประมูลภาครัฐ อย่างเท่าเทียม
ในปีงบประมาณ 2565 หน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างรวม 5.36 ล้านโครงการ วงเงินโครงการ 1.436 ล้านล้านบาท โดยมีโครงการที่มีผู้ชนะการประมูลรวม 5.21 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าโครงการรวม 1.202 ล้านล้านบาท แต่ประมูลได้ในราคา 1.167 ล้านล้านบาท ทำให้ประหยัดงบประมาณ3.65 หมื่นล้านบาท คิดเป็นประหยัดงบประมาณได้ 3.04 % ของงบประมาณในโครงการที่มีการประมูลงานทั้งหมด
สำหรับมูลค่าโครงการภาครัฐที่มีผู้ชนะการประมูล ที่มีมูลค่ารวม 1.167 ล้านล้านบาท แยกเป็น การประมูลด้วย e-bidding 42.08 % การเสนอราคาแบบเฉพาะเจาะจง 38.44 % ,วิธีการคัดเลือกโดยหน่วยงานภาครัฐเอง 17.98 % และวิธีอื่นๆ 1.50 %
ส่วน 10 หน่วยงานภาครัฐที่มีการจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด เรียงลำดับจากหน่วยงานที่มีมูลค่าจัดซื้อจัดจ้างมากสุดอันดับหนึ่งจนถึงอันดับ 10 คือ กรมชลประทาน, กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรุงเทพมหานคร, กรมราชทัณฑ์ ,กองทัพบก ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, และการประปานครหลวง
ในปีงบประมาณ 2566 ณ เดือนเม.ย.ที่ผ่านมานี้ มีการประมูลงานภาครัฐไปแล้ว 2.69 ล้านโครงการเป็นวงเงินโครงการ 8.89 แสนล้านบาท แต่มีโครงการที่ประสบความสำเร็จในการจัดซื้อจัดจ้างเป็นวงเงิน 4.30 แสนล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณ หรือ ประมูลต่ำกว่าราคากลางถึง 2.65 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5.82 % ของวงเงินงบประมาณที่ชนะการประมูล ทั้งนี้ วิธีการประมูลด้วยเฉพาะเจาะจงคิดเป็น 45.79 % ของมูลค่าการปะมูลทั้งหมด รองลงมาคือ วิธี e-bidding สัดส่วน 42.02 %