“อาคม”หวั่นไทยแหล่งฟอกเงิน สั่งศุลกากรเข้มลักลอบขนเงินสดเข้าประเทศ
“อาคม”สั่งศุลกากรตรวจเข้มต่างชาติขนเงินสดเข้าประเทศ หวั่นเป็นแหล่งฟอกเงิน ด้านศุลกากรเผยพบความผิดปกติกรณีต่างชาติขนเงินสดเข้าประเทศทุกวัน อัตราการเพิ่มหลักพันเปอร์เซ็นต์เทียบกับปีก่อน หลังรัฐบาลเปิดประเทศ เตรียมแก้ระเบียบยึดเงินทั้งจำนวนเข้าหลวง
นายอาคม พิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมศุลกากรว่าขณะนี้ มีขบวนการลักลอบขนเงินสดเข้าประเทศไทยจากผู้เดินทางเข้าประเทศผ่านทางสนามบินต่างๆ ซึ่งกรมศุลกากรได้มีการตรวจจับได้จำนวนมาก ตนจึงมอบหมายให้กรมศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการเรื่องดังกล่าว
“ศุลกากรมีการตรวจเข้มอยู่แล้ว แต่การลักลอบขนเงินสดนี้ มีการไหลเข้ามาตามสนามบิน ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้จะแฝงตัวเดินทางเข้ามาเหมือนนักท่องเที่ยว โดยมีพฤติกรรมเหมือนการลักลอบขนยาเสพติด ซึ่งได้รับรายงานจากกรมศุลกากรว่ามี กลุ่มที่กระทำการลักลอบขนเงินสดเข้าประเทศ เยอะขึ้น ทั้งนี้เงินสดเหล่านี้คาดว่าเป็นเงินที่ไม่สะอาด ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย”นายอาคม กล่าว
อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้กรมศุลกากร มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านกรมศุลกากรก็มีการทำงานที่เข้มงวดมาตลอด ไม่ว่าจะเรื่องลักลอบนำเข้าเนื้อหมู หรือ ยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งกรมศุลกากรก็ได้รายงานว่า กำลังอยู่ในระหว่างประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อ จัดการและป้องกันการกระทำผิดเหล่านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ กรมศุลกากร ได้ตรวจสอบพบข้อผิดสังเกตว่า มีการลักลอบนำเข้าเงินสดในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งมีสถิติการจับกุมที่ได้เกือบทุกวัน หรือมีสถิติการจับกุมเพิ่มขึ้นหลักพันเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเปิดประเทศหลังจากโควิด ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ที่เดินทางมาลักษณะเป็นนักท่องเที่ยว และมีการขนเงินสดหลากหลายสกุลเงิน ทั้งเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เงินเยน เป็นต้น
กรณีล่าสุด กรมศุลกากรพบว่า ชาวต่างชาติขนเงินสกุลเยนเข้าประเทศไทยราว 50 ล้านเยน โดยพฤติกรรมส่วนใหญ่จะซุกซ่อนเงินสดเหล่านี้ คล้ายกับการลักลอบขนยาเสพติด คือ การปรับปรุงภายในกระเป๋าเดินทาง ตามขอบกระเป๋า เพื่อทำช่องลับและซุกเงินลงไป จากนั้น จะจะกลบเกลื่อนด้วยเสื้อผ้า หรือของใช้ทั่วไป แสดงถึงเจตนาชัดเจนว่า ต้องการหลบ หรือซ่อนเงินสดไว้และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการฟอกเงิน ซึ่งของหรือเงินสดที่ถูกซุกซ่อนไว้ สามารถตรวจจับได้ด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ ค่อมสายพานขนกระเป๋าของกรมศุลกากรได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันพิธีการกรมศุลกากรได้กำหนดว่า บุคคลธรรมดา หรือนักท่องเที่ยวสามารถ นำเงินสกุลบาทติดตัวเข้าหรือออกไปยังต่างประเทศได้ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท แต่หากเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ มาเลเซีย รวมทั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน (เฉพาะมณฑลยูนนาน) สามารถนำเงินสกุลบาท ติดตัวออกไปได้ ไม่เกิน 2,000,000 บาท โดยหากเกินกว่า450,000 บาท จะต้องสำแดงรายการเงินตราไทยนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ขณะผ่านด่านศุลกากร
ส่วนสกุลเงินต่างประเทศ ทั้งขาเข้าและออก ปัจจุบันไม่มีการจำกัดจำนวนเงินตราต่างประเทศ หรือปัจจัยการชำระเงินตราต่างประเทศออกไปนอกหรือเข้ามาในราชอาณาจักร แต่หากบุคคลใดนำเงินตราต่างประเทศที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ออกไปนอก หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีมูลค่ารวมกันเกินกว่าหนึ่งหมื่นห้าพันดอลล่าร์สหรัฐ(15,000 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือเทียบเท่า ต้องสำแดงรายการเงินตราต่างประเทศนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ขณะผ่านด่านศุลกากร
ส่วนบทลงโทษของการลักลอบนำเข้า หรือออก เงินสดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กรมศุลกากร คือโทษปรับ โดยปรับเพียง 10% จำนวนเงินส่วนที่เกินกำหนด แล้วคืนเงินให้กับผู้ที่โดนโทษปรับไป ส่วนข้อมูลการจับกุมการลักลอบขนเงินสดเข้าหรือออกประเทศ กรมศุลกากรก็จะรายงาน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งกรณีผู้กระทำชาวต่างชาติก็จะติดตามดำเนินคดียาก
อย่างไรก็ตาม บทลงโทษกรณีการลักลอบขนเงินสดนั้น เบากว่าการลักลอบขนสินค้า เนื่องจาก กรณีของสินค้านั้น หากกรมศุลกากรจับกุมได้ ก็จะมีโทษปรับเป็นมูลค่า 2 เท่าของสินค้า ส่วนสินค้าผิดกฎหมายก็จะยึดของกลาง และนำไปสู่กระบวนการทำลายต่อไป ดังนั้น กรมศุลฯ กำลังแก้ระเบียบการปรับให้หนักขึ้น เช่น การยึดเงินสดทั้งจำนวน เป็นต้น และประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่าการขนเงินสดนั้น เป็นขบวนการฟอกเงินหรือไม่