การค้าโลกถดถอย ปี 2566 จ่อโตเพียง 1.7% ด้าน ‘ส่งออกไทย’ ยังหดตัวไม่หยุด
พบสัญญาณการค้าโลกถดถอย (Trade Recession) จากทั้งการเมาค้างหลังจากการล็อกดาวน์, ประชาชนหันไปซื้อบริหารมากกว่าสินค้า, รวมทั้งการเติบโตแบบชะลอตัวจากจีน ท่ามกลางเอ็นจิ้นของเศรษฐกิจไทยอย่างภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง
Key Points
- ในปี 2566 การค้าสินค้าโลกจ่อขยายตัวเพียง 1.7% จาก 2.7% ในปีก่อนหน้า
- WTO คาดปี 2567 การค้าโลกจ่อขยายตัวขึ้นแตะ 3.2% แต่ก็ยังมีปัจจัยกดดันที่อาจทำให้ประมาณการดังกล่าวลดลงได้
- ปัจจุบันทั้งโลกอยู่ในจุดปลายสุดของโลกาภิวัตน์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19
- ตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมาของไทย หดตัว 6.4% ซึ่งนับเป็นการย่อตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 จนส่งผลในเดือนม.ค.- มิ.ย.ไทยขาดดุลทางการค้าไปแล้ว 6,307.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ท่ามกลางความกังวลของบรรดานักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก (Global Recession) หนึ่งสัญญาณที่เริ่มสร้างความตึงเครียดให้บรรดานักลงทุนแล้วคือ “ความถดถอยของตัวเลขการค้าโลก” ที่สร้างความเสี่ยงให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) อย่างมีนัยสำคัญ
โดยข้อมูลเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ขององค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินว่า ปริมาณการค้าสินค้าโลกในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโต 1.7% ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ 2.7% ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของซิตี้ (Citi) ที่ว่า ปริมาณการนำเข้าทั่วโลกหดตัวติดลบทั้งปี 2565 และ 2566
นอกจากนี้ WTO ยังประเมินว่า ปี 2567 การค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นแตะระดับ 3.2% แต่ตัวเลขดังกล่าวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากปัจจุบันมีปัจจัยกดดันเศรษฐกิจจำนวนมากรวมถึงความตึงเครียดทางการเมือง อุปทานอาหารหดตัว และผลกระทบจากนโยบายทางการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลายประเทศ
ตัวเลขส่งออกเอเชีย-ไทยช่วงครึ่งปีแรก
บทวิเคราะห์ของไฟแนนเชียลไทมส์ ระบุว่า
ความเสี่ยงด้านสภาวะการค้าโลกถดถอยปรับตัวน่ากังวลมากขึ้นหลังจากหลายประเทศเริ่มประกาศตัวเลขส่งออกช่วงครึ่งปีแรกออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งมีเอ็นจิ้นหลักคือ การส่งออกต่างประสบกับความยากลำบากยากมาก
ด้านกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราการขยายของตัวมูลค่าส่งออกระหว่างเดือนม.ค.- มิ.ย. ปี 2566 ของไต้หวัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย และไทย ล้วนติดลบอยู่ที่ 18.1% 10% 8.8% 8.7% 8.4% และ 5.4% ตามลำดับ
โดยตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมาของไทย หดตัว 6.4% ซึ่งนับเป็นการย่อตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 จนส่งผลให้เดือนม.ค.- มิ.ย.ประเทศไทย ขาดดุลทางการค้าแล้วกว่า 6,307.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่เดวิด ลูบิน (David Lubin) หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ตลาดเกิดใหม่จากซิตี้ระบุ 3 เหตุผลหลักที่ทำให้การค้าโลกหดตัวลงจนถึงทุกวันนี้
1. อาการเมาค้างทางการค้า (Trade Hangover) ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงการระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ที่ทำให้การบริโภคสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันจึงเห็นว่าความต้องการชะลอตัวลง
รวมทั้ง หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐ และประเทศพันธมิตรตะวันตกต่างใช้นโยบาย “แจกเงิน” กระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าจากประชาชน สวนทางกับจีนที่ใช้นโยบายดึงคนงานกลับเข้าโรงงานเพื่อเพิ่มอุปทาน ขณะที่ประเทศคู่ค้าเร่งเพิ่มอุปสงค์ ดังนั้นตัวเลขทางการค้าจึงปรับตัวสูงขึ้น
2. ในประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนหันไปซื้อ “บริการ” แทน “สินค้า”
3. การเติบโตแบบชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง รวมทั้งการใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่ปรับตัวสูงขึ้นของจีนกระจุกตัวอยู่ในภาคบริการมากกว่าการใช้จ่ายด้านการลงทุนที่มักได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
ทิศทางการค้าทั่วโลกจ่อหดตัว
ทั้งนี้ ลูบิน ประเมินว่า การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังไม่สดใสคือ อยู่ที่ประมาณ 3% ทั้งในปีนี้ และปีหน้า เป็นปัจจัยกดดันปริมาณการค้าโลกอย่างเห็นได้ชัดนับว่าเติบโตแบบชะลอตัวเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ขยายตัวถึง 3.5% ที่สำคัญการชะลอตัวของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โลกจะเข้าไปกดดันการค้า และอุปสงค์ทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ
รวมทั้งปัจจุบันทั้งโลกอยู่ใกล้จุดปลายสุดของโลกาภิวัตน์ (Peak Globalisation) โดย ตามข้อมูลของ IMF พบว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 การส่งออกคิดเป็น 15% ของจีดีพีโลก ขณะที่โลกาภิวัตน์ดันอัตราส่วนดังกล่าวให้แตะ 25% ของจีดีพีในช่วงวิกฤติการเงินเมื่อปี 2008 ทว่าอัตราส่วนดังกล่าวกลับลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือ 20% ของจีดีพีในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
น่าสนใจว่า อีกปัจจัยที่บ่งชี้ถึงสภาวะถดถอยของการค้าโลกคือ ความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของการค้าโลกและการเติบโตของจีดีพีโลก โดยอัตราการเติบโตของการค้าโลกในช่วงปี 2553-2563 โดยเฉลี่ยแล้วต่ำกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีโลกเป็นทศวรรษแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
จากเหตุการณ์ดังกล่าว WTO คาดการณ์ว่า การเติบโตของการค้าโลกจะต่ำกว่าการเติบโตของ จีดีพีอีกครั้งในปี 2566 ท่ามกลางนโยบายการกีดกันทางการค้า ความปั่นป่วนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการให้ความสำคัญกับห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่นมากขึ้น
มากไปกว่านั้น บรรดานักเศรษฐศาสตร์ เริ่มส่งเสียงเตือน ถึงปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เอลนีโญ” ที่อาจกระทบผลผลิตสินค้าและภาคการส่งออก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์