น่ากังวลแค่ไหน .. กับการลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
หนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าจะสร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนในช่วงสัปดาห์ก่อน คือ การที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำอย่างฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Long-term Issuer Default Rating) ของสหรัฐฯ จาก “AAA” เป็น “AA+”
และปรับมุมมองเป็นมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) จากติดลบ (Negative Outlook) แต่คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไว้ที่ “AAA” โดยกล่าวอ้างถึงภาวะถดถอยทางการคลังในช่วง 3 ปีข้างหน้า ภาระหนี้สาธารณะโดยรวมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และธรรมาภิบาลที่แย่ลงต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ “AA” และ “AAA” อื่นๆ สะท้อนจากความขัดแย้งด้านเพดานหนี้ (Debt Ceiling) ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และถูกแก้ไขปัญหาในช่วงนาทีสุดท้ายเสมอ ทำให้ถูกมองว่าขาดหลักการที่ดีในการจัดการ
คำถามก็คือ .. การปรับอันดับดังกล่าวน่ากังวลแค่ไหนและจะมีผลกระทบอะไรบ้าง โดยเฉพาะกับการลงทุน คำตอบก็คือผลกระทบต่อทั้งตลาดการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะในกลุ่มตราสารหนี้นั้นมีน้อยมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
โดยทั่วๆ ไปการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือแสดงให้เห็นถือโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) ของผู้ออกที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะมาจากปัจจัยใดๆ ตาม ซึ่งความเสี่ยงในส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้นจะส่งกระทบโดยตรงต่อผลตอบแทนของตราสารที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ออก
โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมแบบไม่มีหลักประกัน โดยเมื่ออันดับความน่าเชื่อถือลดต่ำลง ความเสี่ยงเพี่มสูงขึ้น ราคาของตราสารหนี้ก็จะปรับลดลง และให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสำหรับนักลงทุน แต่ระดับของผลกระทบก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละกรณี เช่น โดนลดอันดับความน่าเชื่อถือกี่อันดับ
มีการปรับลดพร้อมๆ กันหรือมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ระหว่างสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ หรือไม่ หรือแม้แต่เหตุปัจจัยที่นำมาซึ่งการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือว่าเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว และสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนหรือไม่
ในรอบนี้ผลกระทบที่มีไม่มากนั้นเกิดจากหลากหลายปัจจัย ได้แก่ 1. เรื่องปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ และประเด็นเรื่องเพดานหนี้สาธารณะนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยการลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในรอบนี้ สร้างความงุนงงให้กับนักลงทุนในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของระยะเวลาของการถูกปรับลด โดยเมื่อมองไปยังปัจจัยที่ถูกกล่าวอ้างถึงนั้นและเป็นสาเหตุของการลดอันดับความน่าเชื่อถือนั้นไม่ได้เป็นปัจจัยใหม่ โดยหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้นก็ค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
รวมถึงเรื่องของธรรมมาภิบาล (Governance) นั้น เราก็ผ่านเรื่องของปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) ซึ่งหลายๆ คนมองว่าเป็นเครื่องต่อรองทางการเมืองมาเป็นระยะเวลาใหญ่ๆ แล้ว ทำให้ผลกระทบต่อตลาดการเงินนั้นมีน้อยมาก โดยในช่วงสัปดาห์ก่อนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นก็จริง แต่คาดว่าจะเกิดจากปัจจัยอื่นๆ เสียมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องของโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession Risk) นั้นดูเหมือนจะลดลง เนื่องจากนโยบายการเงินที่ดอกเบี้ยน่าจะเข้าสู่ช่วงท้ายๆ ของขาขึ้น ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจนั้นชะลอลงก็จริง แต่ชะลอน้อยกว่าที่เคยคาดไว้
2. ผลกระทบยังคาดว่าจะน้อยในระยะยาวด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดน้ำหนักการลงทุนในสหรัฐฯ ลง ในหมู่นักลงทุนสถาบัน หรือเงินทุนไหลออก เนื่องจากตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงมีขนาดใหญ่ สภาพคล่องสูงที่สุดในโลก รองเงินเม็ดเงินระหว่างประเทศขนาดใหญ่ได้ แตกต่างจากประเทศ AAA อื่นๆ ที่แม้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าหากพิจารณาจากอันดับความน่าเชื่อถือ แต่ก็ไม่ได้ตลาดการเงินที่มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับเงินลงทุนขนาดใหญ่ได้
3. นอกจากนี้การปรับลดของฟิทช์ เรทติ้งส์ ก็เป็นเพียงการปรับลดลงที่ยังอยู่ในกรอบใกล้เคียงกับสถาบันอื่นๆ โดยการปรับลดนั้นปรับลงมาเท่ากับ S&P ที่ AA+ (ในขณะที่ Moody’s ยังคงไว้ที่ Aaa) ซึ่งนักลงทุนสถาบันบ่อยครั้งที่จะพิจารณาอย่างสถาบันจัดอันดับมากกว่า 1 ที่ ดังนั้นการเปลี่ยนในครั้งนี้ดูเหมือนจะแทบไม่มีผลกระทบใดๆ เลย
โดยเราต้องไม่นำเรื่องนี้มาผสมกับการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ หรือความกังวลอื่น เช่น ความพยายามของบางประเทศ เช่น กลุ่ม BRICS หรือ ตะวันออกกลางที่จะลดการพึ่งพิงการใช้เงินดอลลาร์ โดยไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศหรือไม่ แต่การบริหารความเสี่ยงของการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งหรือสกุลเงินใดสกุลเงินหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งเริ่มมีอิทธิพลมากจนเกินไป และน่าจะทำกับในหลายๆ ประเทศเป็นปรกติอยู่แล้ว และอาจจะไม่ได้ต้องเฉพาะเจาะจงที่ดอลลาร์ คนเดียว ซึ่งไม่ได้แปลว่าเศรษฐสหรัฐฯ จะพังทลายหรือทุกคนสูญสิ้นความเชื่อมั่นต่อดอลลาร์ แต่อย่างใด
ดังนั้นน่าจะพอคาดเดาได้ว่าผลกระทบต่อทั้งเรื่องของตลาดการเงิน โดยเฉพาะเรื่องของตราสารหนี้จากเรื่องของการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือนั้นมีน้อยมาก และเหมือนว่าจะถูกลืมไปอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ในขณะที่การประกาศเพิ่มความยืดหยุ่นให้กรอบผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (Yield Curve Control) ของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งกระทบทางอ้อมนั้นจะยังดูส่งผลกระทบมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
ส่วนปัจจัยที่น่าจะส่งกระทบกว่าสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ยังอยู่ที่เรื่องของทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และประเทศหลักอื่นๆ การคาดการณ์เงินเฟ้อ และเรื่องของโอกาสของการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่ง Yield จะขึ้นหรือลงนั้นปัจจัยเหล่านี้ยังคงมีผลกระทบมากกว่าครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด