เศรษฐกิจครัวเรือนอย่างง่ายๆ เริ่มที่บัญชีรับ - จ่าย
เรามาย้อนความทรงจำกันสักนิด “ได้รับเงินเดือน เดือนแรกเท่าไร แล้วเราใช้จ่ายกับอะไรไปบ้าง” และเมื่อเวลาผ่าน ณ ปัจจุบันตัวเลขในบัญชีหรือเงินเก็บของเราไปถึงไหนกันแล้ว
ทั้งนี้บางท่านอาจจะก้าวไปถึงจุดหมายทางการเงินที่วางไว้ ก็ขอชื่นชมและยินดีด้วยค่ะ แต่บางท่านอาจจะยังก้าวไปไม่ถึงฝั่งฝัน สำหรับท่านที่ยังก้าวไปไม่ถึงฝั่งฝันเราลองมาตรวจเช็คกันหน่อยไหมคะ ว่าในแต่ละวันเราใช้เงินไปกับอะไรบ้าง โดย "จดบันทึกบัญชีรายรับ รายจ่าย" เพื่อจะได้รู้ว่าเงินหายไปไหน มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่าอาหาร ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน
รวมถึงค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เกินความจำเป็นอยู่เท่าไร เช่น ค่ากาแฟ บุหรี่ หรือลั้นลาปาร์ตี้บ่อยๆ ยิ่งถ้ามีตลาดนัดคนเมืองอยู่ใกล้ๆ ด้วยแล้ววิถีนักช้อปจะตามมาทันทีหรือเปล่า การทำบันทึกบัญชีรายรับ - รายจ่าย จะทำให้เรารู้พฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง ทำให้เรามองเห็นสถานะของตนเองและครอบครัว "รู้จุดบอดหรือรูรั่วของการใช้จ่าย" ทำให้มีข้อมูลสำหรับการลดรายจ่ายและเพิ่มเงินออม
นอกจากนี้แล้วเมื่อทำเป็นประจำจะทำให้เราไม่หลงลืมภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่างๆ จนทำให้เกิดดอกเบี้ย เช่น ค่าบัตรเครดิต เป็นต้น ดังนั้น การจัดทำบันทึกบัญชีรับ จ่าย จะทำให้เรามีความรอบคอบและรัดกุมสามารถวางแผนการเงิน ทำให้ผิดพลาดในการใช้จ่ายได้น้อยลงและก้าวไปถึงจุดหมายที่วางไว้ได้ในที่สุด
ทั้งนี้ คุณอาจวางแผนการเงินหรือแบ่งรายได้ออกเป็นส่วนๆ เช่น เงินออม 20% ค่าใช้จ่ายทั่วไปกับการดำรงชีพ 50% ค่าใช้จ่ายส่วนตัวไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ค่าใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ 30%
เมื่อเราลดรายจ่าย ก็หันมาดูเรื่องเงินออมกันบ้าง ออมที่ไหน ออมอย่างไร ออมเพื่ออะไรก็ต้องวางแผน ที่สำคัญทำอย่างไรจะชนะเงินเฟ้อ ซึ่งเฟ้อขึ้นทุกปี ปีละ 3-4%
ดังนั้น เราจึงต้องเรียนรู้เรื่องการวางแผนทางการเงิน เพื่อนำไปสู่การลงทุนอย่างเหมาะสม อันดับแรก การวางแผนทางเงินอย่างง่ายๆ ที่เรารู้จักกันดีคงหนีไม่พ้นเงินฝากธนาคาร แต่ฝากอย่างไรให้คุ้มค่า ในเบื้องต้นขอแนะนำบัญชีเงินฝากปลอดภาษี 24 เดือน ซึ่งเราต้องเลือกและพิจารณาว่าสถาบันการเงินไหนที่ใดให้ดอกเบี้ยดี และสะดวกต่อการติดต่อ
นอกจากนี้ควรศึกษาเรื่องการลงทุนอื่นๆ เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวม หุ้น หุ้นกู พันธบัตร ตราสารหนี้ ทองคำ และที่ขาดไม่ได้นั่นคือเรื่องการวางแผนอนาคตลดความเสี่ยง โดยใช้ประกันชีวิตเป็นเครื่องมือในการสร้างหลักประกันในยามที่ขาดรายได้ หรือในภาวะจำเป็นและจำยอมบางอย่าง ไม่ว่าจะเจ็บป่วย หรือการจากไปของเสาหลักของครอบครัว
ทั้งนี้ ในปัจจุบันรูปแบบของการประกันชีวิตยังตอบโจทย์ในเรื่องของการลงทุนเพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์หลักของการคุ้มครองชีวิต คุ้มครองรายได้ และคุ้มครองสุขภาพ ด้วยผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่หลากหลายตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
ยกตัวอย่าง เช่น แบบประกันสะสมทรัพย์ จะให้ผลประโยชน์มากกว่าความคุ้มครองชีวิตคือมีเงินคืนรายปี แบบประกันควบการลงทุนยูนิตลิงค์ ซึ่งให้ผลตอบแทนมากกว่าการประกันชีวิตในรูปแบบผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวม เป็นต้น
ซึ่งการซื้อประกันชีวิตจะช่วยสร้างวินัยการออม เพราะต้องออมอย่างสม่ำเสมอ หากเลือกออมรายเดือนก็ต้องเก็บออมทุกเดือน หรือหากต้องการออมรายปีก็ต้องออมทุกปี เมื่อมีข้อดีแน่นอนว่าก็ต้องมีข้อเสีย คือสภาพคล่องน้อยกว่าฝากธนาคาร เพราะถ้าจะถอนเงินที่ทำประกันชีวิตไว้ก่อนครบกำหนดสัญญาอาจทำให้ได้รับเงินต้นไม่เต็มจำนวน เพราะบริษัทประกันชีวิตจะมีค่าดำเนินการในเรื่องของความคุ้มครองชีวิต
สุดท้ายการเลือกประกันชีวิตประเภทที่เหมาะสมจะช่วยให้คุณและครอบครัวได้รับประโยชน์สูงสุด รวมทั้งไม่สร้างภาระทางการเงินให้คุณมากจนเกินไปด้วย อย่าลืมนะคะว่า ประหยัดค่าฟุ่มเฟือยแล้วนำมาเก็บออม แต่ถ้าเก็บออมแล้วไม่ป้องกันความเสี่ยง เงินที่ออมมาทั้งชีวิตอาจหายไปในพริบตา