ทิศทางเงินฝากหลังสิ้นสุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น
จากรายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาสสองที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ โดยจีดีพีขยายตัวเพียง 1.8% และช่วงครึ่งปีแรกโตได้ 2.2% ทำให้ภาพการสิ้นสุดยุคดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้เข้ามามากขึ้น
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือนส.ค. 2565 การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ทั้งด้านเงินฝากและเงินกู้ และเชื่อมโยงไปยังปริมาณเงินฝากและการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะเงินฝากเพิ่มขึ้นกว่า 4% ในปี 2565 และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกนี้ สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง ทิศทางเงินฝากจะเป็นเช่นไร หลังจากสิ้นสุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ มาติดตามไปพร้อมๆ กัน
เส้นทางการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์
ย้อนหลังวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนส.ค. 2565 โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.5% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ นับเป็นเวลากว่า 2 ปีตั้งแต่เริ่มวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกรอบการประชุม จนมาแตะที่ 2.25% เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2566 สิ่งที่ตามมาหลังการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ สถาบันการเงินจะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยประเภทต่าง ๆ ในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินฝาก โดยในที่นี้ขอหยิบประเด็นดอกเบี้ยเงินฝากและปริมาณเงินฝากเพื่อนำมาวิเคราะห์
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในแต่ละครั้ง สิ่งที่ตามมาคือดอกเบี้ยเงินฝากจะปรับขึ้นตาม ซึ่งนำโดยธนาคารขนาดใหญ่ แต่จะปรับขึ้นเท่าใดนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ปริมาณเงินฝาก ความต้องการสินเชื่อ และต้นทุนการดำเนินธุรกิจของธนาคาร แต่ก็มีบางครั้งที่ธนาคารไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตาม อาทิ รอบล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับจาก 2% เป็น 2.25%
แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากส่วนใหญ่ไม่ได้ขยับขึ้นตาม ซึ่งอาจเป็นเพราะช่วงกว่า 2 ปีมีการขยับขึ้นมาโดยต่อเนื่อง และปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสมกับการขยายสินเชื่อและการบริหารต้นทุน อีกทั้งขึ้นกับพฤติกรรมการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแต่ละแห่ง เช่น ธนาคารขนาดใหญ่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงแรกโดยเฉพาะเงินฝากประจำ (ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากประจำ 1 และ 2 ปี) และการปรับขึ้นลดลงในช่วงหลัง หรือธนาคารขนาดเล็กที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงอยู่แล้ว จะทยอยปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป
หากนับจากวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.5% เป็น 0.75% รอบแรกในเดือนส.ค.2565 ซึ่งตามด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามมา ในที่นี้อ้างอิงจากเงินฝากประจำ 1 ปีของธนาคารขนาดใหญ่ 5 แห่ง ซึ่งได้เริ่มมีการปรับในเดือนกันยายน 2565 จนถึง เดือนสิงหาคม 2566 อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นมาแตะที่ 2.25% หรือเพิ่มขึ้น 1.75% ส่งต่อให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นจาก 0.45% เป็น 1.4% หรือเพิ่มขึ้นราว 1% จากนั้นส่งผลเชื่อมโยงไปยังปริมาณเงินฝากธนาคาร
โดยยอดคงค้างเงินฝากธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 15.9 ล้านล้านบาท ณ ธ.ค. 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนล้านบาท จากส.ค. 2565 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในยอดเงินฝากประจำ ขณะที่เงินฝากออมทรัพย์ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับในช่วงวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นตลาดเงินฝากมีการแข่งขันสูง โดยสถาบันการเงินต่าง ๆ มีการปรับอัตราผลตอบแทนให้แก่ผู้ฝากเงินตามอัตราดอกเบี้ยตลาดและมีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษช่วงระยะเวลาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อการรักษาและเพิ่มฐานลูกค้า อย่างไรก็ดี ปริมาณเงินฝากเริ่มมีสัญญาณลดลงในปลายไตรมาสสอง สอดคล้องกับการคาดการณ์ใกล้ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ภาพรวมเงินฝากมีแนวโน้มขยายตัวแผ่วลงในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อสิ้นสุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น
การดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากว่า 1 ปี เพื่อดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง และได้ส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงเป็นลำดับ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยที่ 2.2% เทียบกับ 6.1% ในปี 2565
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจที่ยังมีโมเมนตัมเติบโต แต่ช้าลงจากแรงฉุดในภาคการส่งออก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัว โดยในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะมีปัจจัยบวกเพิ่มจากมาตรการลดรายจ่ายประชาชนในด้านสาธารณูปโภค และการดูแลค่าครองชีพ ที่อาจเริ่มทยอยออกมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ภายใต้รัฐบาลใหม่
ขณะที่ยังมีความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากปัจจัยเอลนีโญที่จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและราคาอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งจากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้า แม้ในระยะยาวคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ได้ ส่งผลให้ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยหรือหากปรับขึ้นก็ยังพอมีพื้นที่ให้ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกเล็กน้อย ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25-2.50% ณ สิ้นปี 2566
ในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 แนวโน้มการเติบโตของยอดคงค้างสินเชื่อชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ต้นปี ส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาคธุรกิจระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ สำหรับปริมาณเงินฝากก็มีแนวโน้มเติบโตแผ่วลง หลังวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้เข้าสู่จุดสิ้นสุดในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ สอดคล้องกับสัญญาณการชะลอการออกแคมเปญเงินฝากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมเงินฝากทั้งปี 2566 มีแนวโน้มทรงตัวจากปีก่อนหน้า หรือหดตัวเล็กน้อยที่ 0.1% ซึ่งชะลอลงจากที่โต 4.6% ในปี 2565
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ จากความท้าทายในการเร่งผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ แนวโน้มเงินเฟ้อของไทยที่อาจเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะกดดันการบริโภคภาคเอกชน ท่ามกลางแรงกดดันภายนอกหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าคาด รวมทั้ง เศรษฐกิจจีนที่ยังมีปัจจัยภายในประเทศรุมเร้า ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทำให้ตลาดการเงินโลกยังมีความผันผวนค่อนข้างสูง เงินฝากจึงยังคงเป็นทางเลือกของการออมเงินที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ และให้อัตราผลตอบแทนที่สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน