‘แบงก์ชาติ’ ชี้ นโยบายแจกเงินดิจิทัล ปลุกเศรษฐกิจฟื้น

‘แบงก์ชาติ’ ชี้ นโยบายแจกเงินดิจิทัล ปลุกเศรษฐกิจฟื้น

แบงก์ชาติ” ประเมินนโยบายแจกเงินดิจิทัลช่วยปลุกเศรษฐกิจ ชี้ขนาดเม็ดเงินสูงถึง 3% ของจีดีพี เตรียมหั่น “จีดีพี”ปีนี้ หลังไตรมาส 2 โตต่ำคาด เตือนเศรษฐกิจจีนชะลอ ฉุด“ส่งออก-ท่องเที่ยว” พลาดเป้า ด้าน“เคเคพี” นำร่องปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 2.8% จากเดิม 3.3%

      ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ค.2566 ซึ่งภาพรวมยังคงอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว รวมทั้งยังได้แสดงความเห็นต่อนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาท ของพรรคเพื่อไทยด้วยว่า

       โครงการนี้ใช้เงินราว 5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีประมาณ 3% 
 

       นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะ “เงินดิจิทัล”   ที่มีเม็ดเงินรวมกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้มีสัดส่วนต่อจีดีพีราว 3% จึงน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ช่วยให้ขยายตัวได้มากขึ้น

      อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่ามาตรการดังกล่าว ส่งผลให้เงินหมุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกี่รอบด้วย

     นอกจากนี้ เขายังกล่าวด้วยว่า ธปท.ยังไม่ได้ นำนโยบายแจกเงินดิจิทัล ใส่เข้ามาในการคาดการณ์จีดีพีปี 2567 และเชื่อว่า ด้วยเงินจำนวนมากที่จะมาสู่ระบบเศรษฐกิจ จะมีผลต่อเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นด้วย

     “วันนี้รูปแบบ การแจกเงินผ่านเงินดิจิทัล ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นรูปแบบใด แต่เราเชื่อว่า มีผลเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจ และคาดว่าเม็ดเงินกว่า 5 แสนล้านบาท  มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากกว่าในอดีต”

เตรียมปรับจีดีพีปี 66 ลง ส่งออกฉุด

      อย่างไรก็ตามสำหรับ ภาพรวมเศรษฐกิจ ปี 2566 ยอมรับว่า ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยเตรียมปรับประมาณการใหม่ในเดือนก.ย.​ในรอบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ ปัจจัยหลักๆที่ทำให้จีดีพีปีนี้ปรับลดลงกว่าประมาณการ มาจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัว จากกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ยังไม่กลับมา รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญ

      ซึ่งกระทบภาคการส่งออกของไทยต่อเนื่อง และคาดว่า ในไตรมาส 3 ส่งออกยังไม่ฟื้นตัว แต่จะเริ่มเห็นการกลับมาฟื้นตัวได้ในปลายปีนี้

      นอกจากนี้ ยังมาจากภาคการท่องเที่ยว แม้จำนวนนักท่องเที่ยว จะปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แต่ผลบวกในแง่ Real Sector มีน้อยกว่าคาด เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมีการใช้จ่ายน้อยลงกว่าประมาณการ

      ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก การเดินทางมาท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวระยะสั้น ทำให้มีการใช้จ่ายน้อยลง

      ทั้งนี้ ประมาณการจีดีพีที่ต่ำลงยังมาจาก เศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ออกมา ล่าสุดต่ำกว่าประมาณการของธปท. โดยขยายตัวเพียง 1.8% เหล่านี้เป็นปัจจัยนี้มีผลทำให้จีดีพีปีนี้ลดลง จากประมาณการณ์เดิมที่ 3.6%

      “เศรษฐกิจปีนี้ซอฟต์ลงพอสมควรจากประมาณการเดิม ทำให้เราต้องปรับจีดีพีลงในเดือนก.ย. นี้ แต่ก็คงไม่ได้ปรับลงแรงมากๆ อย่างมีนัยสำคัญ เพราะโมเมนตัมข้างหน้า ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว"

        ทั้งนี้ เม็ดเงินที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายภาครัฐ ไม่ได้มีผลกับเศรษฐกิจในปีนี้มากนัก แต่หลักๆ จะมีผลในปี 2567 มากกว่า 

ศก.ปีหน้าดีขึ้นมาตรการรัฐหนุน

    ส่วนภาพเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่า จะขยายตัวมากกว่าปีนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะเติบโตต่อเนื่อง บวกกับส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น จากเศรษฐกิจโลกที่น่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวชัดเจน

     อีกทั้ง จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐออกมากระตุ้นเพิ่มเติม ดังนั้นปัจจัยบวกทุกตัวมีมุมมองเชิงบวกมากกว่า ทำให้ปีหน้ามีโอกาสสูงที่จีดีพีจะขยายตัวมากกว่าปีนี้

     สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจเดือนก.ค. 2566 ยังเป็นภาพของการฟื้นตัวต่อเนื่อง จาก การใช้จ่ายในประเทศที่ เพิ่มขึ้น หลักๆมาจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

     รวมถึง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 2.49 ล้านคน จาก 2.24 ล้านคน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 0.9% และนับจากต้นปี จนถึงปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวแล้ว 15.4 ล้านคน ซึ่งมาจากหลายสัญชาติ

      เช่น รัสเซีย มาเลเซีย เกาหลี และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี หากดูรายรับจากภาคการท่องเที่ยวไม่ได้เร่งตัวมาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวระยะสั้นมากว่าระยะยาว แต่ภาพรวมการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัว

      ขณะที่ ด้านภาคการส่งออก (ไม่รวมทองคำ) ปรับหดตัว -1.8% จากเดือนก่อนหน้า หรือคิดเป็นการหดตัว -4.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

.       ซึ่งหมวดที่ปรับลดลงจากอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิกส์ไดร์ฟ และสินค้าเกษตร โดยสินค้าหมวดยานยนต์ส่งออกได้ดีขึ้นในหลายตลาด

       ส่วนการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 1% ปรับดีขึ้นเกือบในทุกหมวดสินค้า นำโดยภาคการบริการท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคาร ขนส่งปรับดีขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ปรับดีขึ้นเช่นกันอยู่ที่ 1.4% จากเดือนก่อน มาจากหมวดการก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มีการสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และเครื่องจักรอุปกรณ์ดีขึ้น

       สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวอยู่ที่ 3.6% ตามรายจ่ายการลงทุนที่เติบโต 21.7% มาจากการเบิกจ่ายกรมทางหลวงชนบท และรัฐวิสาหกิจมีการลงทุนอยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการหดตัว -3.6% เทียบปีก่อน เป็นผลมาจากผลของฐานที่สูง แต่หากหักผลของฐานยังคงขยายตัวเป็นบวก ซึ่งมาจากเบิกจ่ายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

       ขณะที่ ตลาดแรงงานฟื้นตัวสอดคล้องกับการบริโภค โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น และกระจายตัวดีขึ้น และผู้ขอรับสิทธิว่างงานโดยรวมทยอยปรับลดลง แต่ผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จึงต้องติดตามในระยะต่อไป

        สำหรับเสถียรภาพการเงิน พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ค.2566 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนมิ.ย. 0.23% มาอยู่ที่ 0.38% มาจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการลดกำลังการผลิตและสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กลับมาอีกครั้ง

        ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ 1.32% มาอยู่ 0.86% แต่ภาพรวมเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ค่าเงินบาทส.ค. อ่อนค่า

     ส่วนการเคลื่อนไหวของเงินบาท ด้านเงินบาทเทียบดอลลาร์ในเดือนก.ค.2566 ปรับแข็งค่าขึ้นจาก 34.92 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย และในเดือนสิงหาคมเงินบาทกลับมาอ่อนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35.02 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งมาจาก 3 ปัจจัยหลัก 

1.เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับดีขึ้น 

2.ตัวเลขจีนออกมาแย่กว่าคาด 

3.เศรษฐกิจไทยตัวเลขออกมาต่ำกว่าคาด

      ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางฟื้นตัวจากอุปสงค์ในประเทศ และยังอาศัยท่องเที่ยวและบริการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป แต่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากภาคการส่งออก ที่ยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญในปีนี้

KKPชี้เงินดิจิทัลหนุนจีดีพีโต1-1.2%

       ขณะที่ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลดลงเหนือ 2.8% จาก 3.3% เนื่องจากภาพรวมไตรมาส 2 ออกมาค่อนข้างต่ำบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ โดยเติบโตเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนเท่านั้น

         ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือนโยบายภาครัฐหลังตั้งรัฐบาล แม้ว่าในที่สุดจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังมีความไม่แน่นอนด้านนโยบายจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมถึง 6 พรรค โดยการแบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระจายไปตามพรรคต่าง ๆ จะทำให้การผลักดันนโยบายสำคัญ ๆ มีความท้าทาย

       โดยคาด 3 นโยบายที่อาจจะได้รับการผลักดันทันทีในระยะเวลา 1 ปีแรกและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ได้แก่ (1) นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งมีต้นทุนประมาณ 5.5 แสนล้านบาท หากทำได้จริง มีส่วนกระตุ้นจีดีพี เพิ่มขึ้นประมาณ 1-1.2% จากประมาณการในปัจจุบัน

       (2) นโยบายพักหนี้เกษตรกร ซึ่งอาจมีต้นทุนถึง 2 หมื่นล้านบาท และ (3) นโยบายลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และลดค่าน้ำมันดีเซล