“กฤษฏา”ยันรัฐบาลไม่ออกพ.ร.ก.เงินกู้พิเศษ เพื่อใช้แจกเงินดิจิทัล
“กฤษฏา”ยันรัฐบาลไม่ออกพ.ร.ก.เงินกู้พิเศษ เพื่อใช้แจกเงินดิจิทัล โดยแหล่งเงินหลักจะมาจากการประหยัดงบประมาณในบางโครงการของปีงบประมาณ 2567 รวมถึง การยืมเงินจากสถาบันการเงินของรัฐ คาดวงเงินมาตรา 28 ในปีงบ 67 จะเหลือเกินแสนล้าน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะไม่ออกพ.ร.ก.เงินกู้พิเศษ เพื่อเป็นแหล่งเงินสำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาล แต่แหล่งเงินจะมาจากหลายแหล่งในงบประมาณและการยืมเงินจากสถาบันการเงินของรัฐ
เขากล่าวว่า งบประมาณที่จะใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล จะมาจากการประหยัดงบประมาณในบางโครงการของปีงบประมาณ 2567 รวมถึง การยืมเงินจากสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งใช้อำนาจตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ปี 2561
มาตราดังกล่าว ระบุว่า กระทรวงการคลัง อาจสามารถมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ (สถาบันการเงินของรัฐ) ดำเนินโครงการ มาตรการ หรือกิจกรรม เพื่อฟื้นฟู หรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของ ประชาชน หรือเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม โดยให้สถาบันการเงินของรัฐ ออกค่าใช้จ่ายไปก่อน โดยรัฐบาลจะรับภาระในการชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้จากการดำเนินการดังกล่าวในภายหลัง
ทั้งนี้ กรอบการใช้เงินตามมาตรา 28 ดังกล่าว คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังแห่งรัฐ ที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะเป็นผู้กำหนดว่า ไม่ควรเกินกี่เปอร์เซ็นต์ของ วงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่ง ณ มิ.ย.นี้ วงเงินตามกรอบดังกล่าวเกือบจะเต็มแล้ว เหลือวงเงินที่สามารถใช้จ่ายได้เพียง 1.8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นายกฤษฎา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 นั้น กระทรวงการคลัง คาดว่า จะมีวงเงินที่สามารถใช้จ่ายได้ตามกรอบของมาตรา 28 มากกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจาก ในปีงบประมาณหน้า จะมีการตั้งงบประมาณในการชดใช้มาตรา 28 ราวแสนล้านบาท อีกทั้ง บางโครงการที่จะใช้เงินจากมาตรา 28 อาจไม่มีการดำเนินการต่อไปอีกแล้ว ก็จะมีวงเงินเหลือเพิ่มขึ้นอีก และรวมทั้งในปีหน้าราคาผลผลิตการเกษตรน่าจะดีขึ้น ทำให้รัฐบาลใช้เงินอุดหนุนสินคต้าเกษตร ซึ่งก็มาจากมาตรา 28 นี้น้อยลง ทำให้มีวงเงินเพิ่มขึ้นอีก บวกกับวงเงินที่ยังเหลืออยู่ในปีนี้อีก1.8 หมื่นล้านบาท
สำหรับรูปแบบของเงินดิจิทัล หรือ Digital Wallet ของรัฐบาลนั้น กำลังอยู่ในระหว่างการหารือในรายละเอียด ซึ่งเดิมนั้นเคยคิดจะใช้รูปแบบของ CBDC ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ยืนยันว่าการดำเนินการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล จะไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา ที่กำกับดูแลโดย ธปท.อย่างแน่นอน
เขายังกล่าวถึงผลที่จะมีต่อภาพรวมเศรษฐกิจจากโครงการดังกล่าวนั้น จะเกิดขึ้นในปี 2567 ส่วนจะมีผลต่อจีดีพีเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเงินมันหมุนได้กี่รอบ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา สำหรับจีดีพีในปีนี้นั้น คาดว่าจะเป็นไปตามคาดการณ์ของสภาพัฒน์ล่าสุด ที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 2.8 %