‘ธีระชัย’ อดีต รมว.คลัง ชี้ ปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติไม่ง่าย!
‘ธีระชัย’ อดีต รมว.คลัง ชี้กระแสข่าว ‘ปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ไม่ง่าย ภายใต้ พ.ร.บ.ธปท. ย้ำการเอาผิด ต้องไม่มาจากการให้ความเห็นขัดแย้งเรื่องนโยบาย เตือนระวังกระแสสังคมประณาม
กำลังเป็นที่พูดถึง ในแวดวงการเงิน ถึงกระแสมีข่าวการ “ปลด” นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจาก ผู้ว่าฯ ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่ ในยุค ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีไทยคนล่าสุด
จนนำมาสู่ ‘ข่าวลือ’ ว่าอาจมีผลไปถึง การสั่ง ‘ปลด’ ผู้ว่าการฯ ธปท. ในระยะข้างหน้า
ล่าสุด ‘ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ของไทย ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ‘ปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติไม่ง่าย’
โดยระบุว่า … มีคนส่งรูปข้างล่างไปตามโซเชียลมีเดีย อ้างว่ารัฐมนตรีคลังจะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เพราะขัดนโยบาย ทำงานร่วมกันไม่ได้อย่างแรง
ผมไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดทำรูปนี้ แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็นความจริงได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ข้อมูลความรู้ไว้ดังนี้
เมื่อวันที่ 14 ก.ย.66 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ "แบงก์ชาติ" กล่าวถึงหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในเรื่องนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ว่า
"ต้องรอดูความชัดเจนของรูปแบบในการทำนโยบายดังกล่าวก่อน
ซึ่งถ้าออกมาเป็น Digital Asset ทางแบงก์ชาติ ยืนยันมาตลอดว่าไม่สนับสนุน เพราะจะกลายเป็นตัวกลางชำระเงิน ไม่เอื้อต่อเสถียรภาพ
แต่หากเป็น e-money ก็เป็นรูปแบบที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ต้องดูว่าไปเกิดอุปสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจ และผลกระทบการคลังอย่างไร
รวมทั้งการดำเนินนโยบายต่างๆ ควรเป็นรูปแบบเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่า เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องการเงิน 1 หมื่นบาท"
ผมขอแนะนำท่านนายกฯ เศรษฐา ว่า ควรรับฟังความเห็นของผู้ว่าฯ "แบงก์ชาติ" ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลเชิงวิชาการไม่มีอคติทางการเมืองแอบแฝง
ส่วนแนวคิด ถ้าหากสมมติจะมีรัฐมนตรีคลังรายใดต้องการจะปลดผู้ว่าฯ "แบงก์ชาติ" นั้น ควรทราบว่ามีกฎหมายตีกรอบป้องกันเอาไว้
พรบ.ธปท. มาตรา ๒๘/๑๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๘/๑๘ แล้ว ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๒๘/๑๗
(๔) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่
(๕) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถโดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง
ดังนั้น ตาม (๔) รัฐมนตรีคลังจะต้องพิสูจน์ให้คณะรัฐมนตรีเห็นว่า ผู้ว่าฯ "แบงก์ชาติ" มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่
ซึ่งไม่สามารถรวมถึงความเห็นขัดแย้งเรื่องนโยบาย
ส่วนตาม (๕) ก็ต้องผ่านด่านคณะกรรมการ ธปท. เสียก่อน เฉพาะกรณีบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง
ซึ่งยิ่งเป็นไปไม่ได้
แต่ยิ่งหนักกว่านั้นก็คือ กระแสสังคมที่จะประณามรัฐมนตรีคลังผู้นั้น จะเข้าข่ายเป็นการลุแก่อำนาจ abuse of power
และจะกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นของสังคมโลกอย่างรุนแรง
จึงขอให้ผู้ว่าฯ "แบงก์ชาติ" สบายใจได้ และขอให้ปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมาอย่างเต็มที่
วันที่ 19 กันยายน 2566
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์