ค่าเงินบาทวันนี้ 5 ต.ค.66 ‘แข็งค่า’ เหตุจ้างงานสหรัฐแย่ -ราคาทองคำรีบาวด์
ค่าเงินบาทวันนี้ 5 ต.ค.66 เปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ 36.95 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้เงินบาทชะลอการอ่อนค่า เหตุตัวเลขจ้างงานสหรัฐชะลอตัว บอนด์ยีลด์ย่อตัว หนุนทองคำรีบาวด์ จับตาฟันด์โฟลว์ต่างชาติทั้งหุ้นและบอนด์ไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.80-37.10 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.95 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.07 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.80-37.10 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.88-37.09 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ซึ่งออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ที่แม้จะออกมาตามคาด แต่ก็ส่งสัญญาณว่าภาคการบริการของสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมากขึ้น โดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ออกมาดีมากนัก ได้ส่งผลให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง และหนุนให้ ราคาทองคำมีจังหวะสามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้บ้าง
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเริ่มกลับมาชะลอลงชัดเจน (ตามที่เราประเมินวันก่อนหน้า) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาด ได้ส่งผลให้เงินดอลลาร์เริ่มย่อตัวลงบ้าง
ขณะเดียวกัน ราคาทองคำก็เริ่มส่งสัญญาณพร้อมรีบาวด์สูงขึ้น ทว่าปัจจัยสำคัญที่ยังคงขัดขวางการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาท คือ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงมีทิศทางไหลออกอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การย่อตัวลงชัดเจนของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทยย่อตัวลงได้บ้าง ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อบอนด์ได้บ้าง หรือ อย่างน้อย ลดแรงขายบอนด์ในช่วงนี้ ตราบใดที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวทั้งในฝั่งสหรัฐฯ และฝั่งไทย ไม่ได้เร่งตัวขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้บรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ก็อาจหนุนการรีบาวด์ของตลาดหุ้นไทยและมีโอกาสที่จะเห็นนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมักจะเป็นสาย Buy on Dip เริ่มกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยได้บ้าง
ทั้งนี้ แม้ว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทจะชะลอลง แต่เรายังมองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่า อย่าง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หรือ เห็นการอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งอาจต้องเห็นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ที่ชะลอลงชัดเจน ดังนั้น ก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานตลาดแรงงานสหรัฐฯ เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่ปรับสถานะการถือครองที่ชัดเจน ทำให้ เงินบาทก็อาจยังแกว่งตัว sideway โดยประเมินแนวรับแถว 36.80 บาทต่อดอลลาร์ (หากแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ ก็มีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซน 36.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก) ขณะที่โซนแนวต้านของเงินบาทอาจยังอยู่ในช่วงโซน 37.10-37.15 บาทต่อดอลลาร์
เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดไม่ได้ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานของเฟด ซึ่งการปรับมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.72% (จากที่เกือบทะลุระดับ 4.90% ในวันก่อนหน้า) และหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์Growth ต่างปรับตัวขึ้นแรง (Tesla +5.9%, Alphabet +2.1%) ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq เพิ่มขึ้น+1.35% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.81%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ยังคงย่อตัวลงราว -0.14% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP -3.2%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักชะลอตัวอาจกระทบความต้องการใช้พลังงาน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ (ASML +1.9%) หลังบอนด์ยีลด์ระยะยาวเริ่มชะลอตัวลงบ้าง
ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ที่ออกมาให้ความเห็นในช่วงนี้ยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป ทว่า รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ที่ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาด และสะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ทำให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดสถานะ Short บอนด์ระยะยาว และผู้เล่นบางส่วนก็เริ่มทยอยกลับเข้ามาซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวมากขึ้น ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ปรับตัวลงใกล้ระดับ 4.72% สอดคล้องกับมุมมองของเราว่า หากผู้เล่นในตลาดทยอยลดสถานะ Short อาจช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวลงได้ไม่ยาก โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมาแล้ว -16bps จากจุดสูงสุดในวันก่อนหน้าแถว 4.88%
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ106.8 จุด (กรอบ 106.5-107 จุด) โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเงินดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้นบ้าง ก่อนรับรู้ข้อมูลเศรษฐกิจ และทยอยอ่อนค่าลง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาด ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะมีการย่อตัวลงมาบ้าง ทว่าเงินดอลลาร์ก็ยังคงแกว่งตัว sideway อีกทั้งบรรยากาศในตลาดการเงินก็เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้ง่ายและยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,838 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่าในช่วงที่ราคาทองคำมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจมีผู้เล่นบางส่วนที่ทยอยซื้อทองคำในช่วงปรับฐาน ทยอยขายทำกำไรได้ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของไทย ซึ่งเราประเมินว่า แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้วยการลดค่าไฟฟ้าลง แต่ทว่า ผลกระทบจากภาวะ El Nino อาจยังหนุนให้ราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นราว +0.3%m/m (ส่วนใหญ่มาจากการปรับตัวขึ้นของราคาข้าวแป้ง ผักและผลไม้) นอกจากนี้ ราคาพลังงานยังปรับตัวขึ้นไม่น้อยกว่า +2%m/m ทำให้โดยรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเพิ่มขึ้น +0.2%m/m หรือ +0.86%y/y ทั้งนี้ หากโมเมนตัมอัตราเงินเฟ้อรายเดือนเพิ่มขึ้นไม่เกิน +0.2%m/m ก็อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อมากนักและการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจถึงจุดยุติแล้วที่ระดับ 2.50%
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งอาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป