สื่อนอกตีข่าว สองสิ่งที่ ‘เศรษฐา’ ต้องการคือ กระตุ้นเศรษฐกิจ และปลดผู้ว่าฯ ธปท. ?
“สำนักข่าวบลูมเบิร์ก” ออกบทความ “New Thai Leader Wants Fast Growth. And a Central Banker’s Scalp?” ฉบับวันที่ 5 ต.ค.66 เผยความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย และนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ประเด็นเรื่องค่าเงินบาทไปจนถึงการขาดดุลทางการคลังมหาศาล
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) เผยแพร่บทความ “New Thai Leader Wants Fast Growth. And a Central Banker’s Scalp?” ฉบับวันที่ 5 ต.ค.66 ว่า ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งภายหลังกลายไปเป็นนายกรัฐมนตรียอมรับว่าเศรษฐกิจไทยตามหลังประเทศคู่แข่งอยู่อย่างมาก เขาจึงเปิดสวิตช์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีพยายามดำเนินนโยบายทางการคลังที่ขัดแย้งกับแนวคิดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ และเป็นอิสระ และเพิ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปอีกหนึ่งครั้ง รวมทั้ง ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท.คนปัจจุบันจำเป็นต้องต่อสู้กับเสียงลือที่ว่านายเศรษฐา ต้องการปลดเขาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นเสียงลือที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ประทับใจ
เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ในสหรัฐภายใต้การนําของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีผู้ทะเยอทะยาน ซึ่งกล่าวถ้อยแถลงโจมตี เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) บ่อยครั้ง และประกาศยุติความสัมพันธ์กว่าสองทศวรรษระหว่างธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และทําเนียบขาว แต่เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่เป็นประเทศซึ่งมักขับไล่ผู้นําพลเรือนบ่อยครั้งผ่านการทํารัฐประหารของกองทัพ และมีเพียงเหล่าเทคโนแครตที่มีประสบการณ์ และความรอบรู้เท่านั้นที่จะนำพาประเทศเดินไปข้างหน้า รวมทั้งยังเป็นประเทศที่กลุ่มข้าราชการเพียงไม่กี่คนมีอำนาจมากกว่าข้าราชการใน ธปท.
โดย 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายสำหรับตลาดในประเทศกำลังพัฒนา แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือตลาดของประเทศไทยกลับตกอยู่ในจุดที่แย่กว่าประเทศในกลุ่มการพัฒนาเดียวกัน รวมทั้งช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์จนกลายไปเป็นสกุลเงินที่เพอร์ฟอร์มได้แย่ที่สุดในภูมิภาค
ทั้งหมดเป็นสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามกับช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ (Goldman Sachs Group Inc) จัดอันดับว่าเป็นประเทศที่น่านำเงินมาลงทุนเพราะเป็นเสมือน “Safe Heaven” นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องน่าขันเพราะแทนที่ความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้เศรษฐกิจ ทว่ากลับทำให้เกิดความผันผวน และปั่นป่วนในตลาดแทน
เริ่มต้นจากประเด็นเรื่องสกุลเงินของประเทศไทย ซึ่งครองตําแหน่งที่โดดเด่น ในฐานะตํานานการเงินของเอเชียเนื่องจากบทบาทในการก่อวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 โดยท่ามกลางสถานการณ์เงินบาทปัจจุบันที่ใกล้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ธปท. ประกาศว่าพร้อมลดความผันผวนของค่าเงินที่มากเกินไป นั่นคือ “รหัสลับ” สําหรับการแทรกแซงหรือการใช้เงินทุนของทางการในการอุ้มค่าเงินบาท
นายเศรษฐา ซึ่งเป็นนักการเมืองมือใหม่ก็ไม่ใช่แฟนตัวยงของแนวทางนี้ เพราะได้ประโยชน์จากการที่ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนลง โดย นายเศรษฐา อาจมองว่าการอ่อนค่าลงของเงินบาทเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว ทั้งนี้ หากพิจารณาในทางทฤษฎีก็ไม่เป็นไร เพราะทั้งสองอุตสาหกรรมน่าจะใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทครั้งนี้ท่ามกลางการรีบาวด์ของเศรษฐกิจจีน แต่ในทางปฏิบัติ สถานการณ์ของค่าเงินบาทครั้งนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ ธปท.ต้องการ
นอกจากนี้ สถานการณ์ของสกุลเงินไม่ใช่ประเด็นเดียวที่คณะรัฐมนตรี และธปท.กําลังทํางานจาก “สคริปต์” ที่แตกต่างกัน โดย นายเศรษฐา ต้องการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างรวดเร็ว จนเปิดตัวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ร้อนแรง และเขาเพิ่งให้คํามั่นในสัปดาห์นี้ว่า จะเดินหน้าแจกเงิน 560,000 ล้านบาท ให้กับประชาชนไทยผ่านมาตรการ “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เงินอุดหนุนราคาพลังงาน และพักชําระหนี้เกษตรกรสามปี เพราะ “การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่” คือ แบรนด์เศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคภายใต้การครอบงำของอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตเจ้าสัว ด้านโทรคมนาคม ทักษิณ ชินวัตร
โดยพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ครองที่นั่งส่วนมากในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งนำโดย นายเศรษฐา "ถ้าคุณไม่ใช้จ่าย คุณจะไม่ได้รับการเติบโต" นายกรัฐมนตรีกล่าวกับ Haslinda Amin ของ Bloomberg Television ในการให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่ ธปท.ออกมาเตือนถึงความประมาทเลินเล่อทางการคลังอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาของประเทศไทยคล้ายกับธนาคารกลางในประเทศอื่น โดย ธปท. ใช้เวลากว่าสองปีในการออกมาตรการเพื่อสกัดเงินเฟ้อให้เข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดย ดร.เศรษฐพุฒิ ได้ผลักดันต้นทุนการกู้ยืมให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แม้สื่อในประเทศจะรายงานว่ารัฐบาลไม่ได้รับแรงกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว และ นายเศรษฐา กล่าวว่า มีความพยายามในการแก้ไขความตึงเครียดนั้น พร้อมเสริมว่า "ทั้งหมดเป็นเรื่องของผู้ใหญ่สองคนที่ต้องคุยกัน และก็ผ่านไปด้วยดี"
ความขัดแย้งกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและธปท. และผู้นำหน้าใหม่ที่ต้องการใช้ประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจเพื่อไปพัฒนาประเทศ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ทรัมป์กับพาวเวลล์ ทว่าการเปรียบเทียบนี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะท่าทีของทรัมป์ในปี 2560 นั้นค่อนข้างรุนแรงกว่าท่าทีของนายกฯ ประเทศไทยมาก
โดยขณะนั้นทรัมป์ ตราหน้าการกระทำของพาวเวลล์ ว่า “การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเหมือนโลโก้ของเฟดไปแล้ว และพาวเวลล์ก็เป็นเครื่องหมายของความไร้สาระ” ทว่าความรุนแรงแบบนั้นยังไม่ไหลออกมาจากริมฝีปากของนายเศรษฐา หรือแป้นพิมพ์ในสมาร์ตโฟนของเขา
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์