ThaiBMA เฝ้าระวัง 'หุ้นกู้ผิดนัดชำระ' เดินหน้า เร่งสร้างความเชื่อมั่น

ThaiBMA เฝ้าระวัง 'หุ้นกู้ผิดนัดชำระ' เดินหน้า เร่งสร้างความเชื่อมั่น

สมาคตลาดตราสารหนี้ไทย เผยช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 66 มีมูลค่าคงค้าง 16.7 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.8% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่มียอดการออกหุ้นกู้ 8.2 แสนล้านบาท มั่นใจทั้งปีได้ตามเป้า 1 ล้านล้านบาท เฝ้าระวังหุ้นกู้ดีฟอล -เร่งสร้างความเชื่อมั่น

แม้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในทิศทางขาขึ้นมาตลอดตั้งแต่ต้นปี ทำให้ต้นทุนทางการเงินปรับตัวสูงขึ้นมากจนบริษัทเอกชนที่เปราะบางบางรายเกิดปัญหาในการชำระหนี้คืน ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงขยายตัวได้ 5.8% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล และภาคเอกชนเป็นสำคัญ ผู้ออกภาคเอกชนที่มีอันดับเครดิตสูงสามารถออกและเสนอขายหุ้นกู้ได้ตามที่ต้องการ มียอดการออกหุ้นกู้ระยะยาว 824,557 ล้านบาท คิดเป็น 65% ของยอดการออกในปี 2565

ThaiBMA เฝ้าระวัง \'หุ้นกู้ผิดนัดชำระ\' เดินหน้า เร่งสร้างความเชื่อมั่น

 

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ในช่วง3 ไตรมาสแรกของปี 2566 ตลาดตราสารหนี้ไทยขยายตัวได้ 5.8% จากสิ้นปีที่แล้ว โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ภาคเอกชนเป็นสำคัญแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้นโดยตลอดตั้งแต่ต้นปี

โดยมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 มีมูลค่าเท่ากับ 16.7 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.8% จากสิ้นปีที่แล้ว ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้) ในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2566 มีมูลค่า 824,557 ล้านบาท คิดเป็น 65% ของมูลค่าการออกทั้งปี 2565  โดยผู้ออกภาคเอกชนที่มีอันดับเครดิตสูงยังสามารถออกและเสนอขายหุ้นกู้ได้ตามที่ต้องการ ขณะที่ผู้ออกบางส่วนได้ชะลอการออกหุ้นกู้ไปก่อนเพื่อรอจังหวะตลาดและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุดคือกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ ตามมาด้วยกลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธนาคาร

กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ของนักลงทุนต่างชาติ มียอดการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยติดต่อกันใน 3 ไตรมาสแรก ทำให้มียอดการขายสุทธิสะสม 1.5 แสนล้านบาท การถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นไตรมาส 3  มียอดรวมที่ 9.4 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.6% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ยที่ 8.3 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.0 ปี เมื่อ ณ สิ้นปี 2565 

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 ปรับตัวสูงขึ้นทุกช่วงอายุ โดยมีความชันลดลงจากการปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากของ Bond yield ระยะสั้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย 5 ครั้งในปี 2566 อีกทั้งการประกาศแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 ที่เพิ่มขึ้น 0.16 ล้านล้านบาท จากปีงบประมาณที่ผ่านมา

ประกอบกับเริ่มมีความชัดเจนในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายโครงการ ส่งผลให้ Bond yield ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาส 3 โดย Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 90 bps. จากสิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 2.54% ส่วน Bond yield 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 54 bps. มาอยู่ที่ 3.18% ณ สิ้นไตรมาส 3

อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) อายุ 5 ปีของหุ้นกู้ทุกอันดับเครดิตปรับตัวสูงขึ้น 64-87 bps. ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 ใกล้เคียงกับการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 อันดับเครดิต AAA ปรับตัวมาอยู่ที่ 3.48%  AA ที่ 3.73%  A ที่ 3.94%  BBB+ ที่ 4.95% และ BBB ที่ 5.90%

นอกจากนี้ นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ยังได้กล่าวถึงผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของผู้ร่วมตลาด ที่ส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่2.50% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในเดือนพฤศจิกายนนี้ ขณะที่ Bond yield รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 10-15 bps. จาก ณ สิ้นไตรมาส 3 ขึ้นไปที่ 2.94% สำหรับรุ่นอายุ 5 ปี และขึ้นไปที่ 3.29% สำหรับรุ่นอายุ 10 ปี ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และอุปสงค์-อุปทานของตลาดตราสารหนี้ไทย
พร้อมกันนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้มีการเปิดตัว MeBond Mobile App เวอร์ชันใหม่ไปเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งในระบบ IOS และ Android โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หลังจากการเปิดใช้งานครั้งแรกในปี 2020 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน โดย MeBond by ThaiBMA เวอร์ชันใหม่นี้ ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้โดดเด่นมากขึ้นในด้าน Stability, Speed, Security และ Smooth เพื่อเพิ่มความสะดวกให้นักลงทุนมากยิ่งขึ้น 

ThaiBMA เฝ้าระวัง \'หุ้นกู้ผิดนัดชำระ\' เดินหน้า เร่งสร้างความเชื่อมั่น

สำหรับการประมาณการยอดการออกหุ้นกู้ในปี 2566 นางสาวอริยา  ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) คาดว่ายอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวทั้งปี 2566 มีโอกาสแตะที่ระดับ 1 ล้านล้านบาท สูงกว่ายอดการออกเฉลี่ยในช่วง 7 ปี (ปี 2559-2565) ที่ 9.5 แสนล้านบาท

ขณะที่ในไตรมาส 4/66 มีหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดทั้งสิ้น 156,750 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของหุ้นกู้ High Yield ที่จะครบกำหนดในไตรมาส 4/66 จำนวน 35 บริษัท รวมมูลค่า 22,830 ล้านบาท ในจำนวนบริษัทดังกล่าวมีหลายบริษัทที่สมาคมจับตามอง ว่าจะมีแนวทางในการชำระอย่างไร เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันรวมทั้งผลกระทบจากความเชื่อมั่นกรณีผิดนัดชำระหุ้นกู้ของหลายบริษัทในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามมูลค่าคงค้างหุ้นกู้มีปัญหา ณ สิ้นเดือน ก.ย. 66 อยู่ที่ 39,765 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมหุ้นกู้ที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลเนื่องจากคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% จากหู้นกู้ทั้งหมดในระบบ

“เชื่อว่าในปีนี้จะไม่มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระอีก เนื่องจากทุกคนมีความระมัดระวังมากขึ้น หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์บริษัทผิดชำระหุ้นกู้ตั้งแต่ต้นปี ดังนั้นก่อนที่บริษัทเตรียมจะออกหุ้นกู้ ได้มีการวางแผนแหล่งเงินสำรองไว้แล้ว”

นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ได้มีการพูดคุยกับตลาดหลักทรัพย์ในการร่วมมือกันแบ่งปันข้อมูลทางการเงินต่าง ๆ ที่ได้เปิดเผยให้กับนักลงทุนในหุ้นกู้ ซึ่งในปีหน้าสมาคมเตรียมเสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถึงวิธีในการสร้างความมั่นใจว่าผู้ออกหุ้นกู้มีวินัยทางการเงินการคลังในระดับที่เหมาะสม อาจจะต้องมีมาตรฐานหรือเงื่อนไขทางการเงินของผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยปกป้องนักลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อหุ้นกู้ได้ด้วย โดยมาตรการดังกล่าวจะต้องระบุตั้งแต่ต้นก่อนออกหุ้นกู้