‘จีน’ อัดเงินกระตุ้น ศก.เฉียด 2 ล้านล้านบาท นิวไฮรอบ 3 ปี หลังพบตัวเลข ศก. ต่ำคาด

‘จีน’ อัดเงินกระตุ้น ศก.เฉียด 2 ล้านล้านบาท นิวไฮรอบ 3 ปี หลังพบตัวเลข ศก. ต่ำคาด

"ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน" เพิ่มสภาพคล่องระยะกลางครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นจำนวนเงิน 2.89 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 39.6 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.4652 ล้านล้านบาท) ผ่านการปล่อยสินเชื่อระยะสั้น 1 ปี หลังพบดีมานด์ในประเทศหายจนยอดปล่อยสินเชื่อต่ำคาด

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานวันนี้ (16 ต.ค.) ว่า ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC) อยู่ในช่วงเพิ่มสภาพคล่องระยะกลางครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 หวังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศท่ามกลางยอดขายพันธบัตรใหม่จำนวนมาก

โดย PBOC เพิ่มเงินสุทธิ 2.89 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 39.6 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.4652 ล้านล้านบาท) เข้าสู่ระบบการเงินผ่านเงินกู้นโยบายระยะเวลา 1 ปี (One-year Policy Loan) ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 ขณะเดียวกันก็ระบายหนี้ระยะสั้นสุทธิ 1.34 แสนล้านหยวนของสภาพคล่องระยะยาวผ่านการดำเนินนโยบายทางการเงินในช่องทางตลาดการเงิน (Open-market Operations)

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก ระบุว่า ประเทศจีนอยู่ในช่วงดิ้นรนกับเศรษฐกิจที่ติดขัด โดยราคาผู้บริโภค (CPI) สะท้อนถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ ในขณะที่ข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วแสดงให้เห็นว่าจำนวนสินเชื่อไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ปักกิ่งและรัฐบาลท้องถิ่นกำลังเพิ่มการออกพันธบัตรใหม่เพื่อใช้ในการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ตอกย้ำความต้องการสภาพคล่องในระบบการเงินที่มากขึ้น

“การอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อรักษาสภาพสภาพคล่องระหว่างธนาคารให้มีเสถียรภาพ ท่ามกลางการออกพันธบัตรแลกเปลี่ยนหนี้ท้องถิ่น (LGD Swap Bonds) ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการสภาพคล่องที่ขยายตัวในช่วงเวลาชำระภาษี” เบ็คกี้ หลิว (Becky Liu) หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์มหภาคของจีนที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ กล่าว

นอกจากนี้ PBOC ยังคงอัตราดอกเบี้ย MLF คงเดิมที่ 2.5% สอดคล้องกับการคาดการณ์ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) อายุ 2 ปีถึง 10 ปีเพิ่มขึ้น 0.01-0.03% วันนี้

อ้างอิง

Bloomberg