‘มาเลเซีย-ไทย’ ครองแชมป์ สกุลเงินที่อ่อนค่าหนักที่สุดในอาเซียน หลังฟันด์โฟลว์ไหลเข้าสหรัฐอื้อ

‘มาเลเซีย-ไทย’ ครองแชมป์ สกุลเงินที่อ่อนค่าหนักที่สุดในอาเซียน หลังฟันด์โฟลว์ไหลเข้าสหรัฐอื้อ

สกุลเงินริงกิตของมาเลเซียและบาทไทย อ่อนค่าลงมากที่สุดในอาเซียน โดยร่วงลง 6.9% และ 4.4% ตามลำดับ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 13 ต.ค. ท่ามกลางค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวแข็งขึ้นในฐานะ “Safe Haven” จากสงครามอิสราเอล-กลุ่มติดอาวุธฮามาสและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

สำนักข่าวนิเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานวันนี้ (16 ต.ค.) ว่า สกุลเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซื้อขายใกล้ระดับต่ำสุดในปี 2566 เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยริงกิตมาเลเซียและเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงมากที่สุด เนื่องจากรัฐบาลและธุรกิจในภูมิภาคกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากค่าเงินที่ผันผวน

โดยค่าเงินที่ปรับตัวอ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น ในทางกลับกัน ผู้ส่งออกในภูมิภาคก็อาจไม่ได้รับประโยชน์จากความผันผวนครั้งนี้มากนักเนื่องจากประเทศคู่ค้ารายใหญ่อย่างจีนก็ยังประสบปัญหาเรื่องการเติบโตภายในประเทศ

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วค่าเงินที่อ่อนค่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกและการท่องเที่ยว ทว่าการร่วงลงอย่างต่อเนื่องก็เสี่ยงที่จะกระตุ้นให้เกิดการไหลออกของเงินทุน ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเร็วๆ จากความไม่แน่นอนจากการสู้รบอิสราเอล-กลุ่มติดอาวุธฮามาส ก็มีส่วนทำให้เกิดความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง

ด้าน Charu Chanana นักกลยุทธ์ตลาดเงินที่ Saxo Markets ในสิงคโปร์ กล่าวว่า

“จากทั้งปัจจัยเรื่องค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น เศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอลง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเฉียด 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งหมดเป็นเหมือนค็อกเทลพิษสำหรับเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของอาเซียน”

โดยตลอดปี 2566 สกุลเงินริงกิตและเงินบาทเพอร์ฟอร์มได้แย่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยร่วงลง 6.9% และ 4.4% ตามลำดับ จนถึงวันที่ 13 ต.ค. ขณะที่เงินด่องเวียดนามร่วงลง 3.4% รูเปียห์ของอินโดนีเซียและดอลลาร์สิงคโปร์ทรงตัวขึ้นค่อนข้างมาก เทียบกับดอลลาร์โดยร่วงลง 2.1% และ 0.7% ตามลำดับ

สกุลเงินในเอเชียอ่อนค่าลงหนัก โดยบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวนิเคอิเอเชีย ระบุว่า การอ่อนค่าลงในวงกว้างครั้งนี้เกิดขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ และการเติบโตภาคการจ้างงาน ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) และเงินดอลลาร์ขยับสูงขึ้น

นอกจกนี้เศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวได้ทำให้นักลงทุนบางรายสรุปว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นต่อไปอีกนานเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐดึงดูดนักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่า จึงกระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ริงกิตมาเลเซียแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนที่ 4.729 เทียบกับดอลลาร์ในวันที่ 4 ต.ค.

อ้างอิง

Nikkei Asia