เกาะติดพิษสงครามอิสราเอล สะเทือนเศรษฐกิจและการค้าไทย
เศรษฐกิจโลกเผชิญผลกระทบสงครามรัสเซียและยูเครนยังคงไม่จางหาย ก็ต้องมาเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสชาวปาเลสไตน์อีก ซึ่งหากสถานการณ์ยกระดับความตึงเครียดสู่ระดับภูมิภาค ก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
ล่าสุด ข้อมูลเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเป็นไปในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง หากสถานการณ์ความขัดแย้งไม่ยกระดับความรุนแรงขยายวงกว้างขึ้น คาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะมีโมเมนตัมฟื้นตัวต่อเนื่อง ด้วยแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ แต่ก็ไม่อาจตัดประเด็นความเสี่ยงที่สงครามจะยืดเยื้อหรือขยายวงกว้างมากขึ้น ด้วยปัจจัยดังกล่าวลองมาติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ไปพร้อมๆ กัน
ผลกระทบต่อภาคการค้าไทย ในเบื้องต้นหากสถานการณ์ความตึงเครียดอยู่ในวงจำกัด คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าไทยมากนัก เนื่องจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่คู่ค้าสำคัญอันดับต้น ๆ ของไทย โดยข้อมูลปี 2565 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันค่อนข้างน้อยอยู่ที่ 1,406 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 4.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.2% ของการค้ารวมของไทย
ในมุมการส่งออกมีมูลค่าคิดเป็น 60% ของมูลค่าการค้า พบว่า สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอิสราเอล ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (สัดส่วน 29%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (10%) อัญมณีและเครื่องประดับ (10%) ตู้เย็น (4%) ข้าว (3.8%) และเครื่องจักรกล (3%) ในทำนองเดียวกันสินค้าส่งออกของไทยไปปาเลสไตน์ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (63%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (34%)
ขณะที่สินค้านำเข้าของไทยจากอิสราเอลที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องประดับ (26%) ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช (16%) เครื่องจักรไฟฟ้า (10.3%) เคมีภัณฑ์ (6.2%) เครื่องจักรกล (5.6%) และยุทธปัจจัย (5.3%) เครื่องมือทางการแพทย์ (5.3%) เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยมีการนำเข้าสินค้าจากปาเลสไตน์น้อยมาก อาทิ สินค้าในหมวดอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้า นาฬิกาและส่วนประกอบ (21.0%)
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น คือ สถานการณ์การสู้รบลุกลามนำไปสู่ความไม่สงบภายในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย และเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตดีซึ่งส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกหลังวิกฤตโควิด-19 อยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้เศรษฐกิจตะวันออกกลางฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ได้ดี โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทย-ตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วนราว 8% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย
โดยเป็นตลาดส่งออกสัดส่วน 4% ของการส่งออกรวม และการนำเข้าจากตลาดตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วน 11% ของการนำเข้ารวม ซึ่งหลายประเทศในกลุ่มนี้เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและเป็นเป้าหมายการส่งออกของไทย โดยเริ่มมีสัญญาณที่ดีมีมูลค่าส่งออกเติบโตสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปทานอาหารโลกที่ลดลงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ
ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากแหล่งนำเข้าอื่นเพิ่มมากขึ้นรวมถึงการนำเข้าจากไทย อีกทั้งตลาดตะวันออกกลางได้รับอานิสงส์จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ดังนั้น หากสงครามในครั้งนี้ลุกลามสู่ความขัดแย้งในระดับภูมิภาคจะส่งผลให้การส่งออกไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางมีแนวโน้มทำให้การเติบโตชะลอตัวลง นอกจากนี้ตลาดตะวันออกกลางเป็นแหล่งนำเข้าพลังงานสำคัญที่สุดของไทย อาจทำให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านการขนส่ง และอุปทานน้ำมันที่ลดลงในภูมิภาค ซึ่งส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
พิษสงครามดันราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนไปในทิศทางสูงขึ้น โดยหลังจากการเกิดเหตุการณ์สู้รบกันส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปรับตัวพุ่งสูงกว่า 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 87-88 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความกังวลว่าสถานการณ์ความไม่สงบอาจกระตุ้นให้เกิดความไม่มั่นคงในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งน้ำมันในตะวันออกกลาง หากย้อนดูอดีต
ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นในหลายวิกฤตความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามอิหร่าน-อิรัก สงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามซีเรีย และสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น ทั้งนี้ หากความขัดแย้งไม่ขยายวงกว้างมากขึ้น น่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยราคา ณ ปัจจุบันยังต่ำกว่าจุดสูงสุดที่ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในตลาดโลก แต่หากความขัดแย้งบานปลายมากขึ้นลุกลามไปยังภูมิภาค จะส่งผลกระทบมากขึ้นเนื่องจากประเทศตะวันออกกลางถือเป็นกลุ่มประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันสำคัญของโลก รวมถึงเป็นผู้คุมเส้นทางการส่งออกน้ำมัน
ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า โดยภาพรวมผลกระทบจากสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ค่อนข้างชัดเจนในขณะนี้ นอกจากราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นราว 4-5% แล้ว พบว่า ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นราว 8% ตามความต้องการถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทมากนัก โดยในช่วงแรกค่าเงินบาทมีการอ่อนค่าเล็กน้อย
หลังจากนั้น เคลื่อนไหวไปในทางแข็งค่า เนื่องจากเงินบาทได้รับปัจจัยบวกจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลกลับเข้ามาในตลาดพันธบัตรไทย ทำให้นับตั้งแต่เกิดสงครามดังกล่าว สถานการณ์เงินบาทกลับแข็งค่าขึ้น 2% มาอยู่ที่ระดับราว 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ในระยะต่อไป คาดว่าเงินบาทมีโอกาสที่จะทยอยแข็งค่าขึ้นต่อไปได้อีก จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหนุนด้วยดุลการค้าที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากภาคการส่งออก ซึ่งล่าสุดตัวเลขส่งออกพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกติดต่อกัน 2 เดือน รวมทั้งดุลบริการที่ได้ผลบวกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ แรงกดดันจากเงินดอลลาร์แข็งค่าจะทยอยลดลง จากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐที่จะตึงตัวน้อยลง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย น่าจะทรงตัวที่ระดับ 2.50% ต่อเนื่องไปจนถึงอย่างน้อยกลางปี 2567 ทั้งนี้ คาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2566
มองไปข้างหน้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ เป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยง และเมื่อเกิดขึ้นก็จะทิ้งร่องรอยทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวไปอีกระยะหนึ่ง ถึงแม้ว่า ณ ขณะนี้สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ยังคงอยู่ในระดับเฝ้าระวังว่าจะยืดเยื้อหรือขยายวงกว้างไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่ ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ เป็นปัจจัยเสี่ยงซ้ำเติมฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวอยู่แล้วในปี 2567