ค่าเงินบาทวันนี้ 3 พ.ย.66 ‘อ่อนค่า’ ตลาดกังวลภาวะสงครามร้อนแรงขึ้น
ค่าเงินบาทวันนี้ 3 พ.ย.66 เปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ 36.04 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้หลังดอลลาร์พลิกแข็งค่าขึ้น ในช่วงตลาดกังวลสถานการณ์สงครามที่ร้อนแรงขึ้น มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.80-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.97 บาทต่อดอลลาร์
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.90-36.10 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และประเมินกรอบเงินบาท 35.80-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า "ค่าเงินบาท"เคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.84-36.03 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ในช่วงตลาดกังวลสถานการณ์สงครามที่ร้อนแรงขึ้นอย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาดCOMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังสามารถรีบาวด์กลับมาแกว่งตัวในโซน 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาท รวมถึงสกุลเงินฝั่งเอเชียโดยรวม อาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (รอลุ้นว่านักลงทุนต่างชาติจะเดินหน้าซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยหรือไม่)
ทว่า เงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปมาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ ทำให้ หากเงินบาทมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน ก็อาจต้องเป็นช่วงหลังตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้ เรายังคงประเมินว่า ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เงินบาทอาจติดโซนแนวรับสำคัญแถว 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์(รวมถึงเงินเยนญี่ปุ่น) หรือ ทยอยขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่า) ส่วนโซนแนวต้านของเงินบาทก็อาจยังเป็นโซน 36.05-36.10 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ (ราว 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) จนไปถึง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ(ราว 21.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยความเสี่ยงสำคัญ คือ หากรายงานข้อมูลดังกล่าวออกมาดีกว่าคาด และสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ก็อาจหนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่ยาก กดดันให้ เงินบาทเสี่ยงที่จะอ่อนค่าทดสอบแนวต้านสำคัญแถว 36.30 บาทต่อดอลลาร์ (หากผ่านได้จะเจอโซน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์) ในทางกลับกัน หากข้อมูลดังกล่าวออกมาตามคาด หรือ แย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์ย่อตัวลงต่อได้บ้าง แต่อาจไม่ได้ย่อตัวลงแรงหนัก ทำให้ เงินบาทสามารถแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะมีโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับสำคัญถัดไป
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินและสถานการณ์สงคราม ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิOption เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดว่า เฟดอาจถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ขณะเดียวกัน รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ราว 80% ก็ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ การรีบาวด์ขึ้นราว +2% ของราคาน้ำมันดิบจากสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่ร้อนแรงขึ้น ก็มีส่วนช่วยหนุนหุ้นกลุ่มพลังงาน (Chevron +3.3%) ทำให้โดยรวมดัชนีS&P500 ปิดตลาด +1.89%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พุ่งขึ้นกว่า +1.58% นำโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML +4.1%, LVMH +3.8% ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า บรรดาธนาคารกลางหลักได้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว นอกจากนี้ การรีบาวด์ขึ้นของราคาน้ำมันดิบก็ยังช่วยให้ หุ้นกลุ่มพลังงานยุโรปปรับตัวขึ้นเช่นกัน นำโดย Shell +4.2%, TotalEnergies +1.5%
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ลดความกังวลต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟดและธนาคารกลางหลักอื่นๆ ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ระยะยาวในหลายประเทศต่างปรับตัวลดลง โดย บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.67% ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของบอนด์ยีลด์ระยะยาวในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เพราะหากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้บ้าง ซึ่งผู้เล่นในตลาดควรอาศัยจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหว sideway โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้สู่ระดับ 106.2 จุด (กรอบ 105.8-106.3 จุด) แม้ว่า เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงกดดันจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทว่า เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังสถานการณ์สงครามทวีความร้อนแรงมากขึ้น ในส่วนของราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ เป็นปัจจัยที่กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปได้ อย่างไรก็ดี ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาสและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าบรรดาธนาคารกลางหลักอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ก็ยังพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำยังสามารถแกว่งตัวเหนือระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ข้อมูลการจ้างงาน และรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ดังกล่าว ออกมาดีกว่าคาด และสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง ก็อาจยิ่งทำให้ ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและแนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงมากขึ้น ทั้งนี้ ควรระวังการตีความข้อมูลการจ้างงาน โดยรายงานยอดการจ้างงานอาจไม่สามารถสะท้อนภาวะการจ้างงานได้ดีนัก หลังการประท้วงหยุดงานของกลุ่มสหภาพยานยนต์(UAW) เริ่มคลี่คลายลง ทำให้อาจมียอดการจ้างงานจากกลุ่มยานยนต์เพิ่มขึ้นหลายหมื่นราย ซึ่งเรายังคงแนะนำให้จับตารายละเอียดของรายงานการจ้างงาน ในส่วนของ Household data และ Establishment data ว่ายังมีความไม่สอดคล้องกันพอสมควรหรือไม่ และยอดการจ้างงานในส่วนงาน Part-time ยังคงสูงขึ้น ในขณะที่ การจ้างงาน Full-time กลับลดลงต่อเนื่อง หรือไม่
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด หลังจากที่ผลการประชุมเฟดล่าสุด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย แต่ยังคงมุมมองเดิมว่า เฟดอาจคงดอกเบี้ยได้นานขึ้น จนถึงช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า