แห่โยก 'เงินฝากออมทรัพย์' ลงทุน'กองทุน - บอนด์ - ทองคำ' เหตุรีเทิร์นสูงกว่า

แห่โยก 'เงินฝากออมทรัพย์' ลงทุน'กองทุน - บอนด์ - ทองคำ' เหตุรีเทิร์นสูงกว่า

"เงินฝากออมทรัพย์" ของแบงก์พาณิชย์ ลดลง กว่า 1.1% สวนทางดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้แม้ดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ "ผลตอบแทน" การลงทุนในส่วนอื่นๆ สูงกว่า  ส่งผล "เม็ดเงินโยก" เข้าสู่เงินฝากประจำ และบอนด์ระยะสั้น ด้าน “ทีทีบี” เผยโยกเข้ากองทุน - ทองคำ

แม้ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 0.5% จนมาอยู่ที่ระดับ 2.5% ในปัจจุบัน ส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นตามด้วย ซึ่งตามทฤษฎีแล้วก็น่าจะทำให้ “เงินฝาก” ในธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่จากข้อมูลล่าสุด กลับพบว่า เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ "ลดลง" อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี!!  

สำหรับพอร์ตเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จำนวน 10 แห่ง จากงบไตรมาส 3 ปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่าเงินฝากโดยรวมช่วง 9 เดือน มีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่องราว 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมาอยู่ที่ระดับ 15.18 ล้านล้านบาท

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมเงินฝากโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 17 แบงก์ ล่าสุด 9 เดือนที่ผ่านมา มีการขยายตัว "ติดลบราว 1%" หากเทียบกับสิ้นปีก่อน เหตุผลหลักมาจาก การปรับดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์เงินฝาก โดยเฉพาะเงินฝากประจำพิเศษเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการโยกเงินฝากจากบัญชีออมทรัพย์ ไปสู่บัญชีฝากประจำมากขึ้น

นอกจากนี้ จากผลตอบแทนจากตราสารหนี้ ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในและต่างประเทศนั้น เป็นสิ่งที่จูงใจให้ผู้ฝากโยกเงินฝากไปลงทุนมากขึ้น ! สอดคล้องกับจำนวนตราสารหนี้ที่ออกมาในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา รวมอยู่ที่ 298 กองทุน คิดเป็นมูลค่าเสนอขายราว 8.65 แสนล้านบาท

ซึ่งแบ่งออกเป็น "กองทุนสำหรับรายย่อย" จำนวน 236 กองทุน มูลค่าเสนอขายที่ 5.7 แสนล้านบาท ที่ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก โดยเฉพาะหากเทียบการถือตราสารหนี้ระยะเวลา 6 เดือน ให้ผลตอบแทนเกิน 2.2% ต่อปี แต่หากเทียบกับการฝากเงิน หากเทียบกับเงินฝากของแบงก์ใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเพียงแค่ระดับ 1.15-1.25% เท่านั้น หรืออายุ 1 ปี ที่ให้ผลตอบแทนเพียงแค่ระดับ 1.55-1.70%

“หากดูนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ตัวเลขเงินฝากลดลงต่อเนื่อง พบว่าเป็นการทยอยออกไป แม้ดอกเบี้ยเงินฝากดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่หากเทียบกับโปรดักต์อื่นๆ เช่น กองทุน ผลตอบแทนต่ำกว่ามาก ทำให้เห็นการไหลออกของเงินฝาก โดยเฉพาะในช่วงที่ยีลด์ในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้กองทุนกลับมาน่าสนใจสูงขึ้น”

ทั้งนี้ การโยกเงินฝากไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นนั้น ส่งผลให้สัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ พอร์ตเงินฝากเปลี่ยนไป โดยพบว่า เงินฝากออมทรัพย์ มีสัดส่วนเงินฝากลดลงเหลือเพียง 70.6-71% หากเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา ที่อยู่ระดับ 73.7% ส่วนบัญชีเงินฝากประจำ สัดส่วนขยับขึ้นมาอยู่ที่ 29-29.4% หากเทียบกับสิ้นปีก่อนที่อยู่เพียง 26.3% เท่านั้น

สำหรับ ในภาพรวมของเงินฝากทั้งปี 2566 คาดว่ายังคงมีอัตราของการขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประมาณ 0.4-0.6% หรือ 15.92 ล้านล้านบาท 

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB กล่าวว่า พอร์ตเงินฝากของระบบแบงก์พาณิชย์ที่ปรับตัวลดลง มองว่าบางส่วนลูกค้าโยกไปซื้อ "กองทุน" โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้พอร์ตกองทุนมีทิศทางการเติบโตมากขึ้นอย่างชัดเจน 

เช่นเดียวกันกับการ หันไปซื้อหุ้นกู้ของบริษัทใหญ่ๆ ที่ออกมาค่อนข้างมาก ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมารวมไปถึง การนำเงินฝากบางส่วน ไปลงทุนเพิ่มเติมในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ อย่าง ทองคำ ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า สำหรับการเคลื่อนย้ายเงินฝากไปสู่สินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ถือเป็นภาวะปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการบริหารสินทรัพย์ และบริหารผลตอบแทนของผู้ฝากเงิน ซึ่งส่งผลให้เงินฝากโดยรวมสามารถปรับขึ้นหรือปรับลดลงได้เสมอ 

“ดังนั้น เงินฝากก็สามารถปรับขึ้นหรือปรับลงได้เป็นสถานการณ์ปกติ และปัจจุบันก็ยังไม่พบว่า มีปัญหาอะไร ถือเป็นการปรับพอร์ตปกติของพอร์ตเงินฝาก”

นายติยะชัย ชอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์การออม ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT กล่าวว่า สำหรับทิศทางการไหลออกของเงินฝาก ส่วนหนึ่งมาจาก "กลุ่มลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ก" ที่มีสินทรัพย์ระดับสูง ดำเนินการโยกเงินในบางส่วนไปแสวงหาผลตอบแทนที่สูงมากขึ้นไปอีก สะท้อนผ่านการใช้โอกาสในการเข้าไปลงทุนในช่วงที่บอนด์ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่มี "ความเสี่ยงระดับต่ำ" เพื่อเข้าไปลงทุน ดังนั้น จะส่งผลให้เห็นภาพของการกระจายตัวของเงินฝากไปสู่สินทรัพย์ประเภทอื่นๆ มากขึ้นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ยังคงเชื่อว่า แนวโน้มเงินฝากของธนาคารยังสามารถเติบโตได้ในปีนี้ที่ระดับ 10-20% โดยเฉพาะ "เงินฝากดิจิทัล" ที่ปัจจุบันเห็นการเติบโตแล้วกว่า 20% หลังจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เงินฝากในช่วงที่ผ่านมา เช่น บัญชี Chill D ที่ให้ดอกเบี้ยสูงสุดถึงระดับ 2.88% หรือ บัญชี Speed D+ ที่ให้ผลตอบแทนระดับสูงที่ 1.88% หรือแม้แต่เงินฝากประจำในระยะเวลา 18 เดือน โดยมีดอกเบี้ยสูงสุดที่ระดับ 2.40%

“เราอยู่ระหว่างการปรับโปรดักต์เงินฝาก เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ และเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดยอยู่ระหว่างการทบทวนในการขยับวงเงินฝาก ในกลุ่มผู้ฝากเงินในแต่ละโปรดักต์ผลิตภัณฑ์ให้สามารถฝากได้มากขึ้น เช่น Speed D+ ที่อาจจะขยายฝากสูงสุดไปถึง จำนวน 30 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไม่เกินจำนวน 5 ล้านบาท โดยสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสรับดอกเบี้ยเงินฝากได้เพิ่มขึ้น" 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์