‘ศุภวุฒิ’ ฟันธง ดบ.ระยะยาวไทย จ่อพุ่งแตะระดับเดียวกับสหรัฐ หากยังขาดดุลต่อเนื่อง
“ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ฟันธง "ดอกเบี้ยระยะยาว" ของไทยจ่อปรับขึ้นแตะระดับเดียวกันกับสหรัฐหากรัฐบาลยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ขณะที่ “โฮเวิร์ด มาร์คส” ชี้ทั้งโลกจะอยู่ในสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นอีกยาวนานซึ่งกดดันต้นทุนการกู้ยืมภาคเอกชนต่อเนื่อง
ท่ามกลางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ปั่นป่วนจากทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น “กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร” จัดงานเสวนาในหัวข้อ “Navigating Market Realities Through Sea Change”
โดยเป็นการพูดคุยและแชร์ประสบการณ์ของโฮเวิร์ด มาร์คส (Howard Marks) ผู้ก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนโอ๊กทรี (Oaktree) ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) 1.8 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.66 ล้านล้านบาท) และมีดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ อดีตที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยและที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรเป็นผู้ถามคำถาม
ในช่วงแรกดร.ศุภวุฒิขึ้นมากล่าวเปิดงานโดยเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจของสหรัฐว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยในภาพรวมไม่แข็งแรงและมีความเปราะบางสูงถึงแม้ว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจะเกินดุลทางการค้าทว่าภาพรวมยังคงน่าเป็นห่วง
โดยท่ามกลางสภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐที่ถึงแม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงินจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ที่ 5.5% ดร.ศุภวุฒิระบุว่ามีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐจะอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นอีกระยะหนึ่งเพราะตลาดแรงงานยังคงตรึงตัวอย่างร้อนแรง
ที่สำคัญ จากปัจจัยทั้งหมดทำให้ ดร.ศุภวุฒิเชื่อว่า หากเศรษฐกิจไทยยังขาดดุลทางการค้าแบบต่อเนื่องและไม่สามารถพลิกกลับมาเกินดุล อาจเป็นไปได้สูงว่า "ดอกเบี้ยระยะยาว" จะปรับตัวสูงขึ้นใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและคณะทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่มากก็น้อยทราบข้อเท็จจริงข้อนี้อย่างดี
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ของไทยมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ไปอยู่ที่ 2.5% ในการประชุมรอบที่ผ่านมา "เพราะข้างในลึกๆ แล้วคณะกรรมการฯ ก็ทราบว่าดอกเบี้ยของไทยต้องปรับขึ้นตามสหรัฐอเมริกา"
“การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดคือเราซื้อสินค้าและบริการมากกว่าขาย ดังนั้นส่วนที่ขาดไปต้องมาจากการกู้ยืมเท่านั้น แล้วเวลาเขาคิดดอกเบี้ยจะคิดเป็นเรตของไทยซึ่งต่ำหรือเรตของสหรัฐที่อยู่ตั้ง 5% ดังนั้นถ้าเราไม่เกินดุล ส่งออกไม่ฟื้น ดอกเบี้ยระยะยาวของไทยจะค่อยๆ สูงขึ้นไปหรือไม่ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง”
ในประเด็นต่อเนื่องเรื่องอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นโฮเวิร์ด กล่าวในเซสชันต่อมาว่า ตั้งแต่ช่วงปี 1980 เป็นต้นมาลากยาวมาจนก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งโลกอยู่ในสภาวะ “Easy Money” หรือช่วงที่การหาเงินเป็นเรื่องง่ายเพราะทั้งโลกอยู่ในสภาวะดอกเบี้ยต่ำ
ยกตัวอย่างเช่นหากในช่วงเวลาปกตินักลงทุนต้องการซื้อบริษัทหนึ่งในราคา 100 บาท ก็ออกเงินตัวเอง 50 บาทและขอสินเชื่อจากธนาคารอีก 50 บาทด้วยดอกเบี้ย 10% ต่อปีโดยตั้งไว้ว่าทุกปีจะได้กำไร 10 บาทดังนั้นจึงแบ่งเป็น จ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคาร 5 บาทและเข้ากระเป๋านักลงทุน 5 บาท
โดยในช่วง 40 ปีที่แล้วในสภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำก็จะยิ่งทำให้อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างมีนัยสำคัญ และความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ (Default) ก็น้อยลงเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ในช่วงนั้นนักลงทุนจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้มหาศาล
ทว่าในสภาวะปัจจุบันหลังจากปี 2565 เป็นต้นมาสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจนมาแตะระดับสูงสุดประมาณเดือน ก.ค. ปี 2566 ที่ 5.5% และล่าสุดก็ยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเช่นนี้อยู่พร้อมทั้งยังเปิดประตูสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยต่อในอนาคตหากมีสัญญาณเงินเฟ้อ ทั้งหมดก็ทำให้ต้นทุนการกู้ของทั้งในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลกขยายตัวขึ้นอย่างร้อนแรง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งโลกจะตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก ทว่าโฮเวิร์ดระบุว่าเขามอง “วิกฤติ” ครั้งนี้เป็นโอกาสในการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “มูลค่าหนี้ของบริษัทที่มีปัญหา” หรือ Distressed Debt มากกว่าการลงทุนในหุ้น แม้ว่านักลงทุนกระแสหลักจำนวนมากจะไม่กล้าลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวก็ตาม
โดยเมื่อพูดถึงการบริหารความเสี่ยงต่อมูลหนี้เหล่านั้นโฮเวิร์ดระบุว่า คณะทำงานจะเลือกบริษัทที่ “พื้นฐานดี” แต่ “งบดุล” แย่ จากนั้นจึงปล่อยสินเชื่อให้พวกเขา เพราะท้ายที่สุดอย่างน้อยถ้าเกิดการผิดนัดชำระหนี้ เขาก็ยังมีโอกาสได้ตัวบริษัทมาในกระบวนการยื่นฟ้องล้มละลาย
ทั้งนี้ โฮเวิร์ดกล่าวเสริมว่าปรัชญาการลงทุนของโอ๊กทรีไม่ใช่การตัดสินใจภายใต้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจในภาพใหญ่ แต่พิจารณาธุรกิจจากล่างขึ้นบนเพื่อหาบริษัทที่มีพื้นฐานดีและหลักทรัพย์ของบริษัทไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจ
ในขณะเดียวกันโฮเวิร์ดเปรียบเทียบข้อดีของการลงทุนในมูลหนี้ของบริษัทที่อยู่ในวิกฤติกับการลงทุนในตลาดหุ้น โดยอ้างอิงคำพูดของคุณครูของปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffet) นักลงทุนชื่อดังระดับตำนานว่า
“การลงทุนในหนี้ของบริษัทที่มีปัญหาดีกว่าการลงทุนในหุ้นที่เหมือนเราตื่นมาตอนเช้า ความเสี่ยงของคุณขึ้นอยู่กับอารมณ์ของสิ่งที่เรียกว่า Mr. Market เช้าวันไหนที่ Mr. Market อารมณ์ดี เราก็จะทำกำไรได้ แต่วันไหนที่ Mr. Market อารมณ์เสีย วันนั้นทั้งหมดก็อาจทำให้เขาขาดทุนได้”