‘กฤษณ์’ เคลื่อน “ไทยพาณิชย์” สู่เบอร์ 1 ‘ดิจิทัลแบงก์-เวลท์’
“กฤษณ์ จันทโนทก” ไทยพาณิชย์ กางแผนธุรกิจขับเคลื่อนแบงก์มุ่งสู่ เบอร์หนึ่ง ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ควบคู่ กับการทำเรื่อง Digital Bank with Human Touch ปักธงปี68 มีรายได้ดิจิทัลเป็น 1 ใน4 ของธุรกิจธนาคาร
เมื่อต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา “กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสร่วมทริปกับ “ธนาคารไทยพาณิชย์” เดินทางไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้เห็นถึง “พันธกิจ” ของธนาคาร ในการมุ่งสู่ “ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง” ที่เสมือนเป็นเครื่องยนต์หลักของธนาคารไทยพาณิชย์หลังจากนี้
รวมไปกับการปรับตัวของแบงก์ไปสู่ธนาคารอันดับหนึ่งที่ทำเรื่อง Digital Bank with Human Touch โดยการนำเทคโนโลยีมาประสานกันระหว่างโลกเก่า และโลกใหม่อย่างไร้รอยต่อ ในทุกการให้บริการของธนาคาร
“กฤษณ์ จันทโนทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 1 ปีครึ่ง นับตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อเดือนส.ค.ปี 2565 ขณะนั้นทุกคนกำลังตื่นเต้นกับ “เอสซีบี เอกซ์” บริษัทแม่ที่เพิ่งประกาศตัวแยกออกไปตั้งเป็นคอมพานี หรือตื่นเต้นกับกระแสของ ดิจิทัลเคอร์เรนซี ดิจิทัลแอสเซท บนโจทย์วันนั้น ถือเป็นโจทย์ยากที่ต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้ธนาคารไทยพาณิชย์ไปต่อได้ จำเป็นต้องหากลยุทธ์เหล่านั้นให้เจอ
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เทรนด์ของดิจิทัล ที่โลกอนาคตแห่งอนาคตต้องมุ่งไปสู่ทิศทางนี้ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น และสร้างความเข้มแข็งให้กับไทยพาณิชย์คือ การใช้ช่วง 3 เดือนแรกในการเดินสายพบพนักงานกว่า 2 หมื่นคน เพื่อทำให้เกิดการประสานระหว่างคน และเทคโนโลยีไปด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ
ธนาคารตระหนักดีว่า ธนาคารไม่ใช่ธุรกิจสตาร์ตอัป ดังนั้นทำอย่างไรให้คงความร่วมสมัย และไม่ล้างสิ่งที่ธนาคารสร้างมาตลอด 115 ปี
ยึดเก้าอี้สามขา
การเดินไปข้างหน้าของธนาคาร จึงต้องยึด “เก้าอี้สามขา” คือ 1.การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยหวังว่าพนักงานต้องมีความสุข ผู้ถือหุ้นต้องแฮปปี้ ดังนั้นบนข้อมูลที่ไทยพาณิชย์มีอยู่จะต้องจัดระบบข้อมูลเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อใช้ให้ถูกที่ถูกเวลาจึงจะรู้ถึงความต้องการของลูกค้าได้
2. ต้องทำให้เพื่อนพนักงาน สนุก สามัคคี สำเร็จ เป็นเรื่องที่ พูดง่ายทำยาก ตอนเข้ามาทุกคนกังวลว่าไทยพาณิชย์จะไปอย่างไรต่อ เพราะมีการจัดตั้ง เอสซีบี เอกซ์ ซึ่งผมมั่นใจว่า ธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์จะอยู่คู่กับคนไทยไปอีก 100 ปีข้างหน้า
ถ้าปรับตัวให้สอดคล้องร่วมสมัย ถ้าพนักงานสนุก สามัคคี สำเร็จ ย่อมทำให้ ลูกค้าจะได้รับบริการที่ดี โยงมาสู่ 3.ผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นเก้าอี้ขาที่ 3 ให้มีความสุขเพราะได้รับการปันผลที่ดี มีความสุขกับผลประกอบการที่ดีของไทยพาณิชย์
บอร์ด-ผู้ถือหุ้นพอใจผลงาน 9 เดือน
หากดูผลประกอบการ 9 เดือนของธนาคารที่ผ่านมา ตัวเลขออกน่าพอใจ ผู้ถือหุ้นพอใจ ธนาคารมีรายได้ 1.07 แสนล้านบาท มีกำไรสุทธิที่ 36,600 ล้านบาท เติบโต 21% สาเหตุที่ทำให้ผลประกอบการดี เป็นเพราะสามารถควบคุมต้นทุน เพื่อสร้างโอกาสในการทำกำไรในอนาคตด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถกดต้นทุนได้จาก 41%เหลือ 37.4% นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า เราจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทำ 20% แต่ได้ 80% จากนี้ไปสู่อนาคต
อีกส่วนที่สามารถผลักดันผลประกอบการที่ดีคือ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น ทำให้เกิดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย แต่เชื่อว่าในปี 2567 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้เห็นภาพความเป็นจริงมากขึ้นในด้านผลประกอบการ และสิ่งที่ทำให้แบงก์เติบโตได้ดีคือ ธุรกิจ ประกัน Trade Finance และ Capital Market
มอง 4 ความท้าทาย
ขณะเดียวกัน มองไปข้างหน้า ปี 2567 ไทยพาณิชย์เชื่อว่ามี 4 ความท้าทายที่แบงก์ต้องเผชิญ 1. อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะไม่ขึ้นไปกว่านี้ ต่างกับปีที่ผ่านมา ที่ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยลดลง ดังนั้นธนาคารต้องต้องหา Growth Engine เพื่อสร้าง Growth Story
2. ความเสี่ยงจากหนี้เสีย จากกลุ่มลูกค้าเปราะบาง ทั้งรายย่อย รายใหญ่ที่จะเพิ่มขึ้น 3.เทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปมาก จากวันที่รับตำแหน่งจนถึงวันนี้ เชื่อว่า AI ในอีก 12 เดือนจะเห็นก้าวกระโดดมากขึ้นแต่โจทย์ของลูกค้าไม่แคร์เรื่องพวกนี้ สิ่งที่ลูกค้าอยากได้คือ Personalization คือ การตอบโจทย์บริการลูกค้าที่เป็นปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจธนาคาร
สุดท้ายคือ การที่ทุกธนาคารต้องหันมามองเรื่อง “ต้นทุน” จะต้องสร้างระบบอัตโนมัติ ที่ไม่ใช้คน มาทำงานแทนคนให้มากขึ้น และหารายได้จากดิจิทัลมากขึ้น
เพื่อลดความผันผวน ลดความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ธนาคารต้องปรับตัว และปักหมุดไปสู่การสร้างรายได้ใหม่จากดิจิทัล และสร้าง Growth Engine ใหม่ๆ ให้ธนาคาร สอดคล้องกับเป้าหมายธนาคารปี 2568 ที่ธนาคารต้องการเห็น
คือ 1. ต้องผลักดันธนาคารให้มีรายได้จากดิจิทัล เพิ่มเป็นสัดส่วน 25% หรือการมีรายได้จากดิจิทัลจะต้องเพิ่มเป็น 1 ใน 4 ของรายได้รวมทั้งหมดของธนาคาร หากทำได้ในระดับนี้ จะทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ก้าวหน้ากว่าดิจิทัลแบงก์รายใหม่ๆ ในตลาด ที่เชื่อว่ากว่าจะตามธนาคารทันต้องใช้เวลา 5 ปีหรือ 10 ปี
โจทย์ใหม่ต้องดิจิทัลสุดโต่ง
นอกจากนี้ อยากเห็น พนักงานไทยพาณิชย์ และผู้บริหาร มองโจทย์ธุรกิจใหม่ว่า จะไปแบบเดิมไม่ได้ ต้องไปดิจิทัลอย่างสุดโต่ง ซึ่งหากเทียบกับตอนที่รับตำแหน่งรายได้ดิจิทัลอยู่ที่ 3-4% การที่จะทำเป้าหมายที่ 25% ถือว่าท้าทายมาก แต่เชื่อว่าเราจะทำได้สำเร็จ!!
“ธงของเราคือ การมีสัดส่วนรายได้จากดิจิทัล 25% ของรายได้ทั้งหมด หากเราถึงตัวเลขนี้ เราไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงที่จะมาจากดิจิทัลไลเซนส์อื่นๆ เพราะด้วยขนาดองค์กร บาลานซิฟขนาดนี้ หากรายได้ดิจิทัลเป็น 1ใน 4 เป็นดิจิทัล ธนาคารหลายแห่งอาจต้องใช้เวลา 5-10ปีกว่าจะตามเราทัน เหล่านี้คือ โจทย์ใหม่ที่เราจะไป เพราะเราจะไปท่าเดิมไม่ได้อีกแล้ว และเป้าหมายที่ 25%เรามั่นใจว่าเราทำสำเร็จได้”
Growth Engine ถัดมาของธนาคารคือ ปักหมุดธนาคารไปสู่ การเป็นธนาคารอันดับหนึ่ง ในเรื่อง ที่มีฐานลูกค้ามั่งคั่งอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่เป็นโจทย์สำคัญเสมือน “ดาวเหนือ” ของธนาคาร ที่ธนาคารต้องสร้างจุดเด่นให้เกิดขึ้นในธุรกิจ Wealth
โดยมีโจทย์ว่า หากนึกถึงธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องนึกถึงไทยพาณิชย์เป็นอันดับแรก ดังนั้นต้องพาตัวเองไปเป็น “ที่หนึ่ง” ในเรื่องของ Wealth ด้วยจุดแข็งของธนาคารที่มีมากมาย ทั้งฐานลูกค้าที่มั่งคั่งที่มีปริมาณมากที่สุดในไทย ในทุกเซกเมนต์ รวมถึงพันธมิตรธุรกิจที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้อย่างรอบด้าน
ทำเรื่อง Wealth ให้แตกต่าง
“จะไปถึงจุดนั้น เป็นเรื่องที่ “พูดง่ายแต่ทำยาก” เพราะจะทำอย่างไรที่ Wealth ของธนาคารไทยพาณิชย์จะต่างจากที่อื่น พวกเราทุกคนก็กำลังคุย วางแผนคาดว่า ต้นปีหน้า จะแถลงให้รับทราบในการบริหารจัดการ Wealth โดยตั้งใจจะปรับตรงนี้ให้ชัดเจน และทำอย่างไรในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ Wealth ไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้”
ถัดมาคือ การทำให้ ROE หรือ Return on Equity ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต้องมากกว่า 10% ภายในปี 2568 และกด Cost to income หรืออัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ให้อยู่ในระดับ 35% และควรลดลงให้เหลือ 30% เมื่อแบงก์ก้าวไปสู่ Digital ที่ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับองค์กรที่มีสาขาเกือบ 800 สาขา
หมุดหมายในเรื่อง ความยั่งยืน ธนาคาร ปักหมุดในการปล่อยสินเชื่อ Green Finance ให้ได้ 100,000 ล้านบาทในปี 2568 มิติแรกในการเดินหน้าเรื่องนี้คือ การไม่เป็นตัวถ่วงโลก สังคม โดยการตั้งเป้าไปสู่ Net Zero ปี 2030 มิติที่สอง เราต้องช่วยลูกค้า ให้สินค้าสินเชื่อสีเขียว ลูกค้า
และภายในปี 2050 จะต้องเป็น Net Zero โจทย์นี้ยากมาก แต่เราเป็นผู้นำ และมาก่อนคนอื่น โดยที่ผ่านมา ธนาคารปล่อยสินเชื่อสีเขียว ไปแล้ว 52,000 ล้านบาท สูงกว่าธนาคารอื่น 2-3 เท่า ดังนั้นเป้าหมายที่ 100,000 ล้านบาทในปี 2025 จึงไม่ไกลเกินเอื้อม
มิติสุดท้าย นอกจากตัวเองผู้ค้า ทำอย่างไรให้ประชาชน และสังคมภาพรวมตระหนักถึงความจำเป็นของ ESG เราพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งให้ความรู้เรื่องนี้กับภาครัฐ เอกชน
ยกเครื่องระบบไอที
“อรพงศ์ เทียนเงิน” ผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานเทคโนโลยี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2567 เป็นต้นไป ธนาคารเตรียมลงทุนด้านไอที หรือ Core banking ที่ราว 8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ตั้งไว้ที่ราว 5,000 ล้านบาท
และคาดว่าภายใน 4 ปี นับจากนี้ ธนาคารจะใช้เงินรวมในการลงทุนด้านไอทีกว่า 30,000 ล้านบาท ที่เป็นหัวใจสำคัญในการให้บริการของธนาคารบนโลกของดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หากดูการลงทุนของแบงก์ในช่วงที่ 3 ปีที่ผ่านมา ใช้งบไปราว 3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ ทุกวันนี้มีลูกค้าประมาณ 17 ล้านราย โดย 14 ล้านราย เรียกว่าเป็น Digital Active บน SCB EASY สำหรับลูกค้ารายย่อย และธุรกิจ มีแพลตฟอร์มที่เรียกว่า S1 กับ CDX หรือ Biz anywhere ที่จะมาแทน S1 ภายในสิ้นปีหน้า
“แต่จุดเปลี่ยนของเราปีนี้คือ เราเริ่มเปลี่ยน Core Banking เพราะ Core Banking เราอยู่ใน mainframe มาหลายสิบปี ดังนั้นถึงจุดที่ต้องทำอะไรแล้ว เพราะถ้าปล่อยแบบนี้ไปมันไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลกของ mainframe และความสามารถเราที่จะ support ระบบเราได้ในอนาคต ยิ่งผ่านไปยิ่งเสี่ยงสูงมากว่าจะ support ไม่ได้ เราจึงตัดสินใจที่จะเปลี่ยนระบบ Core Bank ที่ไม่ใช่ระบบใดระบบหนึ่งของธนาคาร แต่เป็นทุกอย่างของธนาคาร”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์