Up Skill ทักษะการเงินสู่ Smart Finance รู้ใช้-รู้เก็บ-รู้จักลงทุน
โลกอยู่ยากขึ้นทุกวัน' วลีติดปากคนรุ่นใหม่ ที่อาจพูดเล่นเป็นมุกขำๆ ออกแนวประชดประชันสังคมเบาๆ ไม่ได้ซีเรียสจริงจังอะไร แต่สำหรับบางคนอาจรู้สึกแบบนี้จริงๆ เพราะสภาพสังคมทุกวันนี้มีความกดดันมากขึ้น ในโลกการทำงานเราอาจถูกกระตุ้นให้ 'Re-skill Up-skill' อยู่ตลอดเวลา
เพื่อปรับตัวให้ทันกับการหมุนของโลกที่เร่งสปีดเร็วขึ้น ในโลกการเงินก็เช่นเดียวกัน.. เราจำเป็นต้องเพิ่มทักษะอยู่เสมอ เพราะวิวัฒนาการทางการเงินก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หากใครปรับตัวไม่ได้ก็คงขำไม่ออก และโลกของคุณก็จะอยู่ยากขึ้นจริงๆ
ทักษะการเงินของคนไทย
เป็นที่น่ายินดี... เมื่อผลสำรวจพัฒนาการด้านทักษะทางการเงินของคนไทย ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ออกมาเมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา พบว่า คนไทยในทุกช่วงวัยมีพัฒนาการด้านทักษะทางการเงินดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2016–2020 โดยในปี 2020 ทักษะทางการเงินของคนไทยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 71% สูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งอยู่ที่ 60.5%
คำว่า 'ทักษะทางการเงินที่ดี' เราต้อง 'ดี' ในองค์ประกอบหลัก 3 ข้อนี้
1. ความรู้ทางการเงิน 2. พฤติกรรมทางการเงิน และ 3. ทัศนคติทางการเงิน ซึ่งผลสำรวจออกมาว่า คนไทยมีทัศนคติทางการเงินที่ดีและได้คะแนนในข้อนี้สูงที่สุดแต่ยังดีใจได้ไม่เต็มที่ เมื่อผลสำรวจพบว่า คนไทยยังขาดความรู้ทางการเงินที่ดีและได้คะแนนในข้อนี้ต่ำสุดขณะที่เรายังด้อยเรื่องพฤติกรรมทางการเงิน เพราะคะแนนในข้อนี้ก็ไม่ดีนัก
ในเรื่องความรู้ทางการเงิน คนไทยเรายังขาดความรู้หลักๆ ใน 3 เรื่องคือ วิธีคำนวณดอกเบี้ยและเงินฝากทบต้น วิธีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และความเข้าใจและการตระหนักในมูลค่าของเงินตามกาลเวลา เมื่อประเมินจากตัวเองแล้ว หลายคนคงยอมรับว่า 'จริง!' ซึ่งบางคนอาจขาดข้อใดข้อหนึ่ง หรือถ้าใครขาดทั้ง 3 ข้อ
ก็น่าจะมีเพื่อนเยอะอยู่ พิสูจน์ได้จากผลสำรวจที่ออกมา ทั้งที่ 3 ข้อนี้ถือเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญ และจำเป็นต่อการวางแผนและการตัดสินใจทางการเงินส่วนบุคคลและครัวเรือน
ในส่วนพฤติกรรมทางการเงินของคนไทย
ตราวุทธิ์ เหลือสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth พบว่า เรายังด้อยในเรื่องการเปรียบเทียบข้อมูลก่อนการเลือกซื้อหรือใช้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเพิ่มทั้งความรู้และทักษะทางการเงินให้มากขึ้น
เพื่อให้สามารถเลือกผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก สินเชื่อ ประกันหรือการลงทุน เพราะโปรดักส์เหล่านี้จะวนเวียนอยู่ในชีวิตเราอยู่เสมอ ตาม life cycle ในแต่ละช่วงวัย
ถ้าถามว่าในทางปฏิบัติจริง เราควรมีทักษะทางการเงินอะไรบ้างที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของเราจริงๆ
ขอแนะนำ 4 ทักษะการเงินเบื้องต้น ดังนี้
1. ออมให้ได้ เพราะการออมถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดทางการเงิน แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับนะครับว่า 'การออม' ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน และกลายเป็นปัญหาระดับชาติไปแล้ว เพราะสัดส่วนเงินออมของไทยยังค่อนข้างต่ำ ขณะที่เราเดินเข้าสู่สังคมสูงวัยมาเรียบร้อยแล้ว
2. วางแผนภาษีให้เป็น เมื่อการเสียภาษีเป็นหน้าที่ของผู้มีเงินได้ทุกคนและต้องยื่นภาษีทุกปี แต่ก็ต้องยอมรับกันอีกข้อว่า First jobber หลายๆ คนอาจยังคำนวณภาษีไม่เป็น ยังไม่รู้วิธีลดประหยัดภาษี ยังไม่ได้ศึกษาและยังไม่เคยลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยลดหย่อนภาษี
3. สร้าง Passive income ข้อนี้อาจไม่น่าห่วงนักสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะหลายคนมีแหล่งรายได้มากกว่า 1 แหล่งนอกจากงานประจำ ไม่ว่าจะเป็นการหาอาชีพเสริมหรือการลงทุน แต่อาจต้องศึกษาและลงทุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยลดหย่อนภาษี ไม่ว่าคุณจะเป็นมนุษย์เงินเดือน เจ้าของกิจการ ฟรีแลนซ์ หรือนักลงทุน
4. ศึกษาข้อมูลกองทุนรวมและการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางสร้างผลตอบแทนในระยะยาว สร้างความมั่งคั่งและมั่นคงทางการเงิน แต่หากยังไม่มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญมากพอ การให้มืออาชีพดูแลการลงทุนให้ก็เป็นทางเลือกที่ดี อย่างไรก็ตาม การศึกษาหาข้อมูลก็ยังเป็นหน้าที่ของผู้ลงทุนเสมอ
เมื่ออยาก 'ใช้ก่อนออม' ต้องเก็บอย่างไร
ตราวุทธิ์ กล่าวว่า ออมให้ได้.. อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน และจากผลสำรวจเรื่องทักษะทางการเงินของคนไทยที่ออกมา ก็อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะความรู้และทักษะทางการเงินประกอบไปด้วยองค์ความรู้พื้นฐานในหลายๆ แขนง ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ เศรษฐศาตร์ บัญชี การเงิน สถิติ รวมถึงด้านจิตวิทยา คนส่วนใหญ่จึงมองว่าการเงินเป็นเรื่องยาก
มองว่า 'Mindset' เป็นความสำคัญอันดับต้นๆ ในการสร้างวินัยการออม-การลงทุน รวมไปถึงการวางแผนทางการเงิน เพราะเหล่านี้ขึ้นอยู่กับ 'Passion' ของแต่ละคนด้วย หากเริ่มต้นด้วยความคิดที่ว่า.. เราสามารถวางแผนและบริหารจัดการเรื่องการเงินได้ ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว เพราะจะเป็นหลักยึดให้คุณฮึดสู้ในทางปฏิบัติจริง แม้ระหว่างทางอาจไม่ได้ราบเรียบนัก
สำหรับคนนรุ่นใหม่ 'การใช้จ่าย' ถือเป็นอีกหนึ่ง Mindset ที่อาจแตกต่างกับคนรุ่นก่อน เพราะคนรุ่นนี้อยากมีความสุขวันนี้เลย ด้วยการใช้จ่ายเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้รางวัลกับตัวเอง หรือเพื่อเป็นการต่อยอดการสร้างรายได้ในอนาคต สูตรที่เคยสอนกันมาว่า 'ออมก่อนค่อยใช้' จึงอาจ 'ไม่ใช่' สำหรับคนยุคนี้ แล้วควรวางแผนการใช้เงินและออมเงินอย่างไร ให้ตอบโจทย์คนวัยว้าวุ่น
ขอเสนอวิธีเก็บเงิน 2 สูตรง่ายๆ อยู่ในวิสัยที่คนรุ่นใหม่จะทำได้
#สูตร 1 เริ่มต้นออมเดือนละ 10% ของรายได้ เช่น ถ้าคุณมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท เก็บ 10% ก็เท่ากับ 2,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าคุณเป็นสายช้อป-สายเปย์ แต่ละเดือนมีหลายสิ่งให้ต้องใช้ต้องจ่าย ขอเสนอ
#สูตร 2 เก็บเงินเพิ่มให้ได้ 10% ทุกครั้งของการใช้จ่าย เช่น โดนโปร 11.11 จากแอพส้มไป 2,000 บาท ก็ต้องออมเพิ่ม200 บาท ถ้าถูกแอพฟ้าป้ายยาไปอีก 1,000 บาท ก็ต้องออมเพิ่มอีก 100 บาท
ทั้ง 2 สูตรนี้จะช่วยให้คุณเก็บเงินเพิ่มได้ทีละเล็กละน้อย โดยไม่รู้สึกอึดอัดกับการออมมากเกินไป
4 บัญชีตัวช่วย 'ใช้-เก็บ-ลงทุน'
ถ้าคุณอยู่ในข่าย 'หมิ่นเหม่' ต่อวินัยการออม อดใจไม่ไหวเผลอเป็นต้องช้อป หรือไม่เผลอก็ช้อป
ขอแนะนำให้สร้างกำแพงแห่งสายเปย์ ด้วยคอมโบเซ็ต 4 บัญชีเงินออม
#บัญชีที่ 1 S.O.S หรือบัญชีฉุกเฉิน เพื่อสำรองไว้สำหรับเรื่องไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต เช่น เจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุตกงาน หรืออื่นๆ ตามทฤษฎีเราควรมีสำรองเผื่อไว้ให้อุ่นใจ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ถ้าเพลย์เซฟสุดๆหากคุณสามารถกันเงินก้อนนี้ไว้ได้สูงถึง 6 เท่า วันที่เข้าตาจน คุณจะรู้สึกยิ่งกว่าถูกล็อตเตอรี่ด้วยเงินก้อนนี้จริงๆ
#บัญชีที่ 2 เงินออมระยะสั้นถึงกลาง สำหรับใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิต หรือเพื่อวางแผนชีวิต เช่นดาวน์รถ ดาวน์บ้าน เที่ยวต่างประเทศ หรือแต่งงาน
#บัญชีที่ 3 เงินออมระยะยาว ซึ่งเป็นแผนทางการเงินระยะยาวจริงๆ เช่น เงินออมเพื่อการศึกษาของลูก ที่ต้องใช้เวลายาวนาน 10-20 ปี หรือเป็นเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณของตัวคุณเอง บัญชีนี้ต้องอาศัยวินัยทางการออมที่ค่อยข้างสูงเลยทีเดียว แต่ถ้าคุณทำได้นั่นหมายถึงความมั่งคั่ง มั่นคง และอิสรภาพทางการเงินในระยะยาวนั่นเอง
#บัญชีที่ 4 เงินลงทุน คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการลงทุนมากขึ้น ด้วยความรู้และการรับรู้ถึงประโยชน์ของการลงทุน เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างผลตอบแทนและสร้างความมั่งคั่งทางการเงินในระยะยาว ขณะที่ปัจจุบันมีเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นตัวช่วยในการลงทุน นอกจากจะเปิดโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนแล้ว ยังช่วยบริหารความเสี่ยงให้อีกด้วย
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มเริ่มต้นทำงาน อาจยังมีรายได้หรือเงินเก็บไม่มาก ก็สามารถเริ่มต้นทยอยลงทุนด้วยโดยไม่ต้องใช้เงินเยอะ ด้วยวิธี DAC หรือ Dollar-cost averaging ซึ่งเป็นเทคนิคลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน โดยการทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอไปเป็นงวด อาจทุก 2 สัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกไตรมาส ซึ่งวิธีนี้จะช่วยสร้างวินัยการออมในไปตัว และมีโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาว
เพิ่มทักษะการเงิน สร้าง Smart Finance
นอกจากการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว เราต้องแสวงหาความรู้และทักษะทางการเงินให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะทักษะความรู้จะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีกว่าเครื่องมือใดๆ เพราะไม่มีใครรู้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้เท่ากับตัวเราเอง
หากถามว่า เราสามารถเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะทางการเงินได้อย่างไร ถ้าตอบแบบเชิงวิชาการโดยอ้างอิงจากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า คนส่วนใหญ่มักเรียนรู้และสั่งสมทักษะจากประสบการณ์ งานศึกษาของ Hilgert ในปี 2003 ระบุไว้ว่า คนส่วนใหญ่เรียนรู้จากประสบการณ์และข้อผิดพลาดทางการเงินของตนเอง ส่วนวิจัยของ Agarwal ในปี2007 บอกว่า ความผิดพลาดในการตัดสินใจทางการเงิน (Financial mistakes) ของคนจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น และจะเริ่มกลับมาตัดสินใจผิดพลาดมากขึ้นเมื่อเลยวัย 50 ปีไปแล้ว เป็นลักษณะ U shape pattern
ขณะที่งานวิจัยของ Campbell ในปี 2010 กล่าวว่า ถึงแม้การเรียนรู้จากประสบการณ์ (Learning by doing) จะสามารถช่วยให้คนมีโอกาสตัดสินทางการเงินได้ดีขึ้น แต่การพึ่งกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์เพียงอย่างเดียวอาจใช้ไม่ได้กับทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีความรู้ทางการเงินน้อย รวมถึงกลุ่มที่มีโอกาสจำกัดในการลองผิดลองถูก
แต่ถ้าตอบคำถามนี้แบบง่ายๆ นอกจากการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การศึกษาข้อมูล และหมั่นหาความรู้อยู่เสมอถือเป็นแนวทางเพิ่มทักษะทางการเงินได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันทุกภาคส่วนก็ให้ความสำคัญกับความรู้ทางการเงินมากขึ้น ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล, สถาบันการเงิน, สื่อ, Money coach, Influencer ต่างๆ รวมทั้ง Jitta Wealth เอง มีคอนเทนท์เพื่อสนับสนุนส่งเสริม Financial literacy ออกมาในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ทำให้ผู้ออม ผู้ลงทุน เข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่ายขึ้น เราสามารถอ่าน ฟัง ดู ข้อมูลเหล่านี้ได้แบบ 7/24 ไม่ต่างจากร้านสะดวกซื้อเลยครับ
Platform ออม-ลงทุน ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ก็เป็นอีกเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาทักษะทางการเงินของเราให้ดีขึ้นได้ ที่สำคัญเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างแท้จริง เมื่อเรามองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเจนเลยครับว่า เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการเงินและการลงทุนมีการพัฒนามาไกลมาก
มีแพลตฟอร์มและแอพพลิเคชันในการออมและลงทุนเกิดขึ้นมามากมาย มีระบบบริหารจัดการต่างๆ ให้เราเลือกใช้ได้ตรงกับความต้องการของตัวเอง
ที่สำคัญ เราไม่จำเป็นต้องมีรายได้จำนวนมาก หรือต้องเก็บเงินให้ได้มากพอเหมือนในอดีต จึงจะลงทุนได้ เพราะด้วยความอัจฉริยะของเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะช่วยให้คุณจัดสรรเงินออมและเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ไม่ได้มีเงินก้อนโต ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็น First jobber มนุษย์เงินเดือน หรือฟรีแลนซ์ ก็สามารถเริ่มออมและลงทุนได้เลย
"จริงอยู่ แม้เม็ดเงินลงทุนเป็นหนึ่งในตัวแปรที่มีผลต่อผลตอบแทนจากการลงทุน แต่จำนวนเงินไม่ใช่เงื่อนไขของการไม่ลงทุนนะครับ เพราะถ้าดูตามหลักการออมและลงทุนตามที่กล่าวมาแล้ว ทุกคนสามารถแบ่งรายได้เพื่อการใช้จ่าย เก็บออม และลงทุน ได้ตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละคน ออมมากออมน้อยไม่สำคัญเท่าทำทันที เพราะออมก่อนรวยก่อน.. และรวยกว่า"
ตัวอย่าง แพลตฟอร์มการบริหารเงินสมัยใหม่ ที่พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยี AI มาช่วยดูแลการใช้เงิน ออมเงิน และการลงทุนของเราได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น เพียงเรา Setting ฟังก์ชั่นการใช้งานที่เหมาะกับตัวเองเอาไว้ เช่น จากรายได้ที่เข้ามาเดือนนี้ต้องการใช้มากน้อยแค่ไหน โอนไปเป็นเงินออม/ลงทุนกี่เปอร์เซ็นต์ ทำ DCA ในสัดส่วนเท่าไหร่ ไปถึงขึ้นถ้าใช้จ่ายทุก 100 บาท จะหักไว้หยอดกระปุกดิจิทัล 10 บาทนะ เมื่อกระปุกมีเงินสะสมมากพอตามที่เซ็ตติ้งไว้ในระบบส่วนนี้ก็จะถูกโอนไปเป็นเงินลงทุนอัตโนมัติ กระบวนการเหล่านี้ถ้าใช้ระบบ Manual แบบเดิมๆ คงยุ่งยากน่าดู แต่ยุคนี้แค่ Clik! เงินและเทคโนโลยีก็พร้อมทำงานให้คุณ
ตราวุทธิ์ ย้ำกันอีกครั้งว่า 'ทักษะการเงิน' และ 'การวางแผนทางการเงิน' เป็นเรื่องของทุกคน เพราะถ้าคุณ 'มี' และ'ทำ' สิ่งเหล่านี้ รับรองได้เลยว่า โลกการเงินของคุณจะไม่ยากอย่างที่คิด โลกในการใช้ชีวิตของคุณก็จะง่ายขึ้นนอกจากทำให้คุณบริหารเงินได้อย่างชาญฉลาดแล้ว จะปลดปล่อยคุณให้เป็นอิสระทางการเงินได้เร็วขึ้นอีกด้วย