นักเศรษฐศาสตร์ห่วง ‘วิกฤติ‘ หนี้ท่วมประเทศ ‘เศรษฐกิจไทย’ ติดกับดักโตต่ำ

นักเศรษฐศาสตร์ห่วง ‘วิกฤติ‘ หนี้ท่วมประเทศ ‘เศรษฐกิจไทย’ ติดกับดักโตต่ำ

นักเศรษฐศาสตร์ ”มองเศรษฐกิจไทยโตช้า อาการน่าห่วง "ศุภวุฒิ" ย้ำไทยกำลังเผชิญวิกฤติโตต่ำ ห่วงเจอวิกฤติงบดุลซ้ำเติม หลังหนี้รัฐ - เอกชน - ครัวเรือนท่วมถาม ธปท. เก็บกระสุนไว้ทำไม ด้าน “บัณฑิต” ชี้ขีดความสามารถต่ำลงเรื่อยๆ ติงแบงก์ชาติพูดแต่เรื่องดี เตือนความเสี่ยงพุ่ง

นักเศรษฐศาสตร์ห่วง ‘วิกฤติ‘ หนี้ท่วมประเทศ ‘เศรษฐกิจไทย’ ติดกับดักโตต่ำ

ถ้าย้อนดูเส้นกราฟการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จะเห็นชัดเจนว่าอัตราการขยายตัวลดต่ำลงเรื่อยๆ ล่าสุดทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ และปีหน้าลง 

โดย สศช. ประเมินภาพการเติบโตในปีนี้ลดลงเหลือ 2.5% และปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวในระดับ 2.7-3.7% ขณะที่ ธปท. ปรับลดคาดการณ์เติบโตในปีนี้ลงเหลือ 2.4% จากเดิม 2.8% และปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 3.8% จากเดิม 4.4% ซึ่งตัวเลขนี้ได้รวมมาตรการแจกเงินดิจิทัลไว้เรียบร้อยแล้ว 

กรุงเทพธุรกิจ” จัดวงเสวนาพิเศษ “Economic Forum: Thailand Crisis?”  เพื่อร่วมหาคำตอบกับนักเศรษฐศาสตร์ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญวิกฤติอยู่หรือไม่? โดยเชิญกูรูนักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของประเทศไทยร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นเหล่านี้ 
 

บัณฑิต” ชี้ไทยติดกับดักโตต่ำ

นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังติดอยู่ในกับดักการเติบโตต่ำ แม้ว่าขณะนี้ เศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยศักยภาพของเศรษฐกิจไทยควรเติบโตได้ที่ 4.5-5% ต่อปี ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้การเติบโตทำได้ดีกว่านี้ 

เขากล่าวด้วยว่า การที่เศรษฐกิจไทยติดกับดักเติบโตต่ำ ทำให้ความได้เปรียบของประเทศไหลลงเรื่อยๆ  ดังนั้นรัฐบาลควรต้องหันกลับมาให้ความสำคัญในเรื่องของการลงทุน และการจ้างงานที่จะสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

“แพ็กเกจนโยบายของรัฐบาลมุ่งไปเรื่องการใช้จ่าย ถ้าดูในเรื่องการเติมเงินใช้จ่าย ทางแบงก์ชาติก็บอกว่า แม้เติมแล้วจีดีพีก็ได้แค่ 3% กว่าๆ แต่เติมได้ครั้งเดียว ในขณะที่เศรษฐกิจเป็นเรื่องการโตที่ต้องต่อเนื่อง"

ติง ธปท.เตือนความเสี่ยงน้อย

อย่างไรก็ตาม ถ้าอ่านจากแถลงการณ์ของ ธปท. จะพบว่า ธปท. มองภาพเศรษฐกิจไว้ค่อนข้างดี ทำให้เกิดความสบายใจว่าเศรษฐกิจกำลังขยายตัวไปสู่ระดับศักยภาพ โดยที่ไม่ค่อยได้เขียนถึงความเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้าไว้

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ภาคการผลิตที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ รวมไปถึงปัญหาการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ หรือแม้แต่ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงภาคธุรกิจจะแบกรับไว้ได้หรือไม่ โดยส่วนตัวคิดว่า ธปท. พูดเรื่องเหล่านี้น้อยไปหน่อย

นอกจากนี้ ในแง่การดำเนินนโยบายของรัฐบาลนั้น ตนมองว่า โมเมนตั้มการทำนโยบายยังย้อนหลังไปในภาวะเศรษฐกิจ 7-8 เดือนที่แล้ว แต่ขณะนี้ โลกได้เปลี่ยนไป ซึ่งมีความเสี่ยงที่มากขึ้น ฉะนั้น ชุดของนโยบายจึงไม่สอดคล้องรองรับกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

 

 

 

ศก.ไทย’ เจอวิกฤติฟื้นตัวช้า

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า จากภาพเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวช่วงที่ผ่านมา แม้ทางเศรษฐศาสตร์มองว่าไม่ถึงขั้นวิกฤติ เพราะจีดีพีไม่ได้ติดลบต่อเนื่อง แต่ถ้าดูวิกฤติที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมีหลายครั้งที่เราเจอกับวิกฤติแต่เศรษฐกิจไม่ได้หดตัว เช่น วิกฤติราชาเงินทุนในตลาดหุ้น ที่เกิดขึ้นในปี 2522 จีดีพีของไทยไม่ได้ติดลบ ดังนั้นในมุมส่วนตัวมองว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจคือ วิกฤติจากการฟื้นตัวช้าอย่างมากของเศรษฐกิจไทย​

นอกจากนี้หากย้อนดูช่วงวิกฤติโควิด-19 เศรษฐกิจโลกในปี 2563 ติดลบที่ 2.8% ขณะที่เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1% แต่ปี 2564 เศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวได้ 6.3% ส่วนเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.5% เช่นเดียวกันปี 2565 เศรษฐกิจไทยโลกโต 3.5% ขณะที่ไทยเติบโต 2.6% และปีนี้คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ 3% แต่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำที่เพียง 2.4% ดังนั้นการที่เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัวอย่างนี้เรียกว่าวิกฤติได้หรือไม่ 

ในด้าน Gross Fixed Capital Formation Growth หรือการสะสมทุนถาวร ที่สะท้อนรายจ่ายเพื่อการลงทุนติดลบต่อเนื่องหลังเหตุการณ์ยึดอำนาจทางการเมืองเป็นต้นมา เติบโตเฉลี่ยเพียง 2.13% ส่งออก 1.65% จีดีพีของไทยขยายตัวไม่ถึง 3% ส่งผลให้เมื่อเราเจอโควิด-19 เศรษฐกิจไทยถึงยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ ส่วนตัวมองว่าในมุมนี้คือ “วิกฤติ

เตือนรับมือ ‘วิกฤติงบดุล’ หนี้ท่วม

นอกจากนี้ หากดูจากการรายงานของสภาพัฒน์ สะท้อนให้เห็นว่า วันนี้หลายภาคส่วนเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับ Balance sheet หรืองบดุลที่วิกฤติ ทั้งหนี้สาธารณะของภาครัฐที่ปรับขึ้นมาจาก 41% มาสู่ 62% ในปัจจุบัน หนี้บริษัทขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาจาก 70% มาสู่ 79% หนี้ครัวเรือนจาก 70% มาอยู่ที่กว่า 90%

ดังนั้นวันนี้ทุกคนมีปัญหาหนี้เพิ่มเหมือนกันทั้งหมด โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่มีปัญหาหนี้มากที่สุด ซึ่งถ้าดูระยะสั้นสิ่งที่ห่วงคือ Balance sheet crisis หรือวิกฤติจากงบดุล  โจทย์ปีหน้าสิ่งที่ต้องเจอคือ ทุกคนพะวงกับการคืนหนี้ ไม่กล้าลงทุน ไม่กล้าบริโภค

“สิ่งที่เป็นคำถามคือ ภายใต้ เงินเฟ้อต่ำ ธปท.มีเครื่องมือในการทำนโยบายการเงิน(Policy space) ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาบวกได้ แม้จะมาจากการเร่งอุปสงค์ในประเทศ (Domestic demand) แต่ที่เป็นคำถามคือ แบงก์ชาติ เก็บ Policy Space ไว้ทำไม ควรทำทันทีเมื่อเศรษฐกิจแย่หรือไม่ เพราะหากไปลดในกลางปีหน้า เหมือนที่ตลาดคาดการณ์ตอนนี้พระเอกตายแล้ว เพราะมีข้อจำกัดด้านระยะเวลาหรือ Implementation lags ถึง 12-18 เดือนกว่าจะได้ผล เพราะอย่าลืมว่านโยบายการคลัง Implementation ยากมาก”

หนี้คือ ความเปราะบางที่ซ่อนอยู่

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ปัญหา “หนี้” คือ ความเปราะบาง ที่ซ่อนอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทย และปัญหาอาจส่งผลได้เร็ว โดยไม่ต้องรอให้เศรษฐกิจชะลอตัว

จากการสำรวจข้อมูลของ EIC ในอดีตพบว่า การก่อหนี้ที่ผ่านมา เพื่อนำไปใช้สำหรับกิน ใช้จ่าย แต่ปีนี้คำถามแบบเดิม พบว่าต้องการก่อหนี้เพื่อใช้หนี้ สะท้อนว่าเริ่มมีการก่อหนี้วนเพื่อนำไปชำระหนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล สะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ภายใต้ความเปราะบาง

นอกจากความเปราะบางแล้ว เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้นในทุกมิติ ที่ยังอยู่ระดับสูง ดังนั้นบนความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ระดับสูง ผนวกกับความเปราะบาง แปลว่า หากเราโดนช็อก เศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสติดเชื้อได้มากขึ้น และศักยภาพเศรษฐกิจไทยกำลังลดลง ทั้งจากความอ่อนแอภายในของเศรษฐกิจไทยเอง และอ่อนแอ จากภายนอกด้วย ที่มีเชื้อโรคมากขึ้น

"เศรษฐกิจไทยท้าทายมาก แม้คำนิยามเราจะยังไม่วิกฤติ แต่หากถามทุกคนว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ ทุกคนตอบเหมือนกันหมดว่าไม่ดี เรากำลังอ่อนแอ และเปราะบางมากขึ้น บวกกับความไม่แน่นอน ทำให้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงมากขึ้น แม้วันนี้กำลังโตไปที่ระดับศักยภาพ แต่หากมีช็อกเกิดขึ้นเรามีโอกาสฟุบเร็ว และแรง”

ทั้งนี้ หากดูการขยายตัวของจีดีพีไทยในอดีตขยายตัวได้ 3.4% แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3% สิ่งที่ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนคือ ESG หรือการเพิ่มผลิตภาพ หากดูประเทศที่หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เช่น เกาหลีใต้ ก่อนพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ตัวเลขเหล่านี้โตเกิน 5% อย่างน้อย 5 ปี ของไทยพบว่าก่อนโควิดการเติบโตของเราอยู่ที่ 1.7% และอนาคตจะลงมาที่ 1.4% ดังนั้นโอกาสในการหลุดพ้นกำกับดรายได้ปานกลางของไทยวันนี้ยังไม่เห็น

ไทยยังไม่วิกฤติผลงาน บจ.แกร่ง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA)และกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) มองว่า ในมุมส่วนตัวมองว่า ปัญหาของเศรษฐกิจวันนี้คือ การเติบโตไม่ทั่วถึง และมีหลายภาคส่วนอ่อนแอลงบ้างโดยเฉพาะเอสเอ็มอี แต่ในมุมตลาดหุ้น มองว่า วันนี้มีวิกฤติเกิดขึ้น จากคนไม่เชื่อมั่น ที่อาจนำไปสู่วิกฤติที่ใหญ่ขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูในด้านผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ วันนี้โดยภาพรวมยังไม่วิกฤติ หลายบริษัทมีการฟื้นตัวไปเทียบเท่ากับระดับก่อนโควิดแล้ว โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่กว่า 800 บริษัท ยังเติบโตได้ดี

นายไพบูลย์ กล่าวย้ำว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเดินหน้าคือ ต้องทำประเทศไทยให้เป็นตลาดที่น่าลงทุน ซึ่งวันนี้ประเทศไทยละเลยการสร้างกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่เรามีหนี้ครัวเรือนสูงซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นกับดักของประเทศ

นอกจากนี้ หากดูระบบบำนาญของไทยถือว่าแย่ที่สุดในโลก วันนี้มีการออมผ่านกองทุนเลี้ยงชีพเพียง 1.8 ล้านคน ขณะที่มีแรงงานในระบบอีกกว่า 30 ล้านคนที่ยังไม่มีการออมรูปแบบดังกล่าว ดังนั้นสิ่งที่มองว่ารัฐบาลต้องเร่งผลักดันคือ ทำให้กองทุนเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับ เพื่อให้ 30 กว่าล้านคนเข้าสู่ระบบได้ 

“จุดเปราะบางของตลาดหุ้นไทยคือ มีนักลงทุนระยะยาวน้อยมาก 80-90% เป็นนักลงทุนระยะสั้นทั้งหมด ทำให้เกิดความผันผวนได้สูง และตลาดหุ้นวันนี้ของไทย ถือเป็นตลาดหุ้นที่เกือบแย่ที่สุดในโลก หากไม่นับเคนย่า ดังนั้นต้องสนับสนุนให้เกิดนักลงทุนระยะยาวมากขึ้น ผ่านการสนับสนุนการลงทุนเช่น ใน ThaiESG ที่ต้องทำมากขึ้น  ต้องทำให้เกิดภาคบังคับในการลงทุน เพื่อเพิ่มนักลงทุนระยะยาว เหล่านี้จะทำให้ตลาดหุ้นไทยเข้มแข็งมากขึ้น และจะเป็นเส้นเลือดสำคัญของเศรษฐกิจไทย” 

‘ศก.ไทย’ ป่วยแต่ยังไม่ตาย

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการและChief Economic บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจตกอยู่ในอาการป่วย แต่ยังไม่ตาย แต่ถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไขจะเข้าขั้นวิกฤติ ทั้งนี้ เราเห็นถึงปัญหา และยังได้รับการเตือนเพื่อรับมือในด้านต่างๆ มานาน แต่ไม่ได้มีการแก้ไขอย่างจริงจัง จนกระทั่งในปัจจุบันเครื่องจักรในการดูแลเศรษฐกิจพังทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ไม่ฟื้นตัว ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราต่ำ

"นโยบายในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ค่อยได้เข้าไปแก้หรือแตะ เพราะไม่เห็นผลทันที เช่น นโยบายด้านการศึกษา ทำวันนี้ จะเห็นผลใน 15-20 ปีข้างหน้า ฉะนั้น ก็จะไม่มีใครทำ"

เขายกตัวอย่างว่า ทุกวันนี้ ประเทศไทยเกิดภาวะสมองไหล เพราะแรงงานที่มีทักษะดีไม่อยากมาทำงานในไทย ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่มีนโยบายดูแลแรงงานที่ดี ขณะเดียวกัน อัตราภาษีก็ไม่เอื้อให้อยากทำงาน และอยู่ในระบบภาษี โดยอัตราจัดเก็บภาษีเงินได้สูงถึง 37% ขณะที่ ประเทศอื่นอยู่ในระดับต่ำกว่า เช่น สิงคโปร์จัดเก็บเพียง 17% เป็นต้น

ศก.โตไม่ชัด“ตลาดผันผวน-ธุรกิจเดินยาก”

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด(ไทย)จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในมุมของแบงก์มองว่า การที่เศรษฐกิจโลก และไทยเติบโตในลักษณะครึ่งๆ กลางๆ ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่าเรื่องวิกฤติซึ่งการเติบโตแบบนี้ จะทำให้การดำเนินนโยบายในการดูแลเศรษฐกิจไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดต่างๆ ซึ่งทำให้การคาดการณ์ด้านการลงทุนของธุรกิจต่างๆ ยากขึ้นไปด้วย

”ปีนี้ ปีหน้า เราคาดว่า น่ากังวลกว่าวิกฤติคือ เราอยู่ในโลกครึ่งๆ กลางๆ เรามองปีนี้ ปีหน้าโต 2.7-2.9% หมายความว่า เศรษฐกิจโลกไม่ได้ ถดถอย แต่โลกไม่โต โดยสหรัฐค่อยๆ ชะลอ จีนเองโตไม่ถึง 5% ยุโรปไม่โตเลย โลก และไทยแบบนี้ นโยบายในการดูแลเศรษฐกิจก็จะไม่ชัดเจน โลกจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไหม หรือ ลดดอกเบี้ย ก็ไม่แน่ใจ ยกตัวอย่าง นโยบายการคลังของเรา บางคนก็ซัพพอร์ตแนวคิดการกระตุ้น บางคนก็บอกไม่จำเป็น ซึ่งผมคิดว่า เกิดจากโลกที่เศรษฐกิจ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์