‘เอสเอ็มอี’อ่วม ‘หนี้เสีย’ ทะลัก 2.9 แสนล้าน
“คณะอนุกรรมาธิการฯ เอสเอ็มอี ชี้ข้อมูลหนี้จากเครดิตบูโรน่าห่วง เอสเอ็มอี 2.8 แสนรายหนี้เสียแล้ว 2.8 หมื่นราย คิดเป็น 2.9 แสนล้านบาท และมีหนี้กำลังจะเสียอีก 1.3 แสนล้านบาท กระจุก 5 อุตสาหกรรม “ก่อสร้าง ที่พักแรม อสังหาฯ การผลิต ค้าปลีกค้าส่ง”
ปัญหา “หนี้” ยังเป็นเสมือน “วิบากกรรม” ของเศรษฐกิจไทย ที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามผ่านไปได้ แม้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย แต่ความเปราะบางจากปัญหา “หนี้” ยังมีให้เห็นต่อเนื่อง ทั้งหนี้ภาคธุรกิจ หนี้ครัวเรือน ที่ล้วนเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย การบริโภคในประเทศในระยะข้างหน้า
แหล่งข่าวจาก คณะอนุกรรมาธิการการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ได้รับข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร เกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ในไทย โดยเฉพาะ “หนี้ของภาคธุรกิจเอสเอ็มอี” ที่ปัญหาเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่อง
หนี้เสียเอสเอ็มอีพุ่ง2.9แสนล้านบาท
ข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่ผ่านมา ขยายตัวติดลบต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม การอนุมัติสินเชื่อให้เอสเอ็มอีลดลง ทั้งจำนวนบัญชี ยอดเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ สะท้อนความเปราะบางจากสถานะทางการเงินที่ด้อยลงในภาวะเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังในปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้การอนุมัติสินเชื่อช่วงที่ผ่านมาลดลง
หากดูในมุมคุณภาพหนี้เอสเอ็มอี พบไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เอสเอ็มอีโดยรวมอยู่ที่ 283,034 บัญชี หรือรายธุรกิจ พบว่า เอสเอ็มอี ได้รับการอนุมัติสินเชื่อลดลงต่อเนื่องช่วง 1-2ไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้เอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อลดลง แต่หากดูคุณภาพหนี้ พบว่าหนี้ด้อยคุณภาพ หรือเอ็นพีแอลเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อทั้งหมด 283,034 เอสเอ็มอีในนี้ เป็นหนี้เสีย 10% หรือ 2.8 หมื่นราย ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบช่วงที่ผ่านมาที่หนี้เสียอยู่ระดับ 7-8% และหากดูจำนวนอนุมัติสินเชื่อที่ผ่านมาที่ให้เอสเอ็มอี พบว่า โดยรวมอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านบาท ในนี้เป็นหนี้เสียถึง 7.5% หรือ ราว 2.9 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ระดับสูงต่อเนื่องในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กลุ่มที่ปรับโครงสร้างหนี้มากที่สุด 5 อันดับแรกจาก ยอดปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมดที่ 2.57 แสนล้านบาท กระจุกตัวในอุตสาหกรรมเดิมที่ 2.13 แสนล้านบาท และกลุ่มที่เป็นหนี้ที่กำลังจะเสียทั้งหมดที่ 1.3 แสนล้านบาท กระจุกอยู่ใน 5 อุตสาหกรรมที่ 9.6 หมื่นล้านบาท ที่น่าห่วงสุด คือ กลุ่มค้าส่งค้าปลีก เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมแบบเดิมยอดขายลดลง กระทบต่อสภาพคล่องหรือการชำระหนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ หากดูเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสีย ทั้งหมด พบว่า แบ่งเป็นกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย จากวิกฤติโควิด-19 หรืออยู่ในกลุ่ม รหัส 21 ที่ราว 22,803 บัญชี จำนวนเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท และเป็นจำนวนเอสเอ็มอีที่ 12,731 รายธุรกิจ
“ในครัวเรือนไทยทั้งหมด มีสินเชื่อที่ราว 13.5 ล้านล้านบาท มีกู้ไปธุรกิจ 6.8 แสนล้านบาท ในนี้ เป็นหนี้เสีย 1.36แสนบัญชี ที่เป็นหนี้เสียแล้ว เพิ่มขึ้น 0.8% จากไตรมาสที่ผ่านมา และที่น่าห่วงคือกลุ่มรหัส 21 ที่เป็นหนี้เสียจากโควิด ที่พบว่า หนี้เสียไม่ลด และยังเพิ่มต่อเนื่อง ที่น่าห่วงสุดคือ ค้าปลีก ค้าส่งที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ”
ห่วงเอสเอ็มอีรายจิ๋ว
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด กล่าวว่า ขณะที่ภาพหนี้เสียจากการรวบรวมข้อมูลจาก 27 สถาบันการเงิน ไตรมาส 3หนี้เสียในภาพรวม ปรับเพิ่มขึ้นมา 2.66% แต่ยังเป็นระดับที่แบงก์บริหารจัดการได้ และคาดไตรมาส 4 หนี้เสียมีทิศทางปรับลดลง จากการตัดขายหนี้ และเร่งขายออก ของสถาบันการเงินช่วงสิ้นปี ทำให้คาดหนี้เสียไตรมาส 4 จะอยู่ที่ 2.6-2.68% ปีนี้ และคาดปีหน้า เอ็นพีแอลจะทรงตัวที่ 2.6-2.7%
อย่างไรก็ตาม หากดูข้อมูลของเครดิตบูโร สำหรับสินเชื่อขนาดเล็ก ทั้งยอดสินเชื่อคงค้างระหว่าง 21-100 ล้านบาท 4. กลุ่มธุรกิจ Micro ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้างระหว่าง 5-20 ล้านบาท และ 5. กลุ่มธุรกิจ Super Micro ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้างไม่เกิน 5 ล้านบาท ที่พบว่ายังน่าห่วง และกลุ่ม Micro และ Super Micro ยังมีปัญหาในการชำระคืนหนี้
โดยพบว่า สัดส่วนหนี้ที่เริ่มค้างชำระระหว่าง 61-90 วัน ในกลุ่มธุรกิจขนาดจิ๋ว มีทิศทางค้างชำระที่ยังคงมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในมิติของกลุ่มที่เป็นหนี้เสียและในมิติของกลุ่มที่ใกล้จะเป็นหนี้เสีย ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากสินเชื่อระยะยาว ทั้งที่เป็นสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจและสินเชื่อทั่วไป รวมถึงสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจขนาดจิ๋วไม่สามารถสร้างรายได้เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้
ดังนั้นสถาบันการเงินยังคงต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดจิ๋วที่ยังมีฐานะทางการเงินที่เปราะบางอย่างใกล้ชิด และอาจให้ความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายชำระเฉพาะหน้าอย่างต่อเนื่อง
ค้าส่งค้าปลีก-รถยนต์-ก่อสร้างเบี้ยวหนี้สูง
นอกจากนี้ เมื่อเจาะรายละเอียดลงไปในรายอุตสาหกรรม จะพบว่า บริษัทขนาดจิ๋วที่อยู่ในธุรกิจที่พึ่งพากำลังซื้อในประเทศ ยังคงเป็นกลุ่มเปราะบางไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยเฉพาะ 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า อุตสาหกรรมการผลิต และขายส่งและขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์
ทั้งนี้ ยอดหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วันโดยรวมของกลุ่มบริษัทขนาดจิ๋วใน 4 ธุรกิจนี้ ยังคงเพิ่มมากขึ้น มาอยู่ที่ 8.92 หมื่นล้านบาท จากไตรมาส 2 ที่ 8.27 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การค้างชำระของธุรกิจรายจิ๋ว ที่เป็นหนี้เสียรหัส 21 อยู่ที่ 39.7 % ของมูลหนี้คงค้างเกิน 90 วันทั้งหมดของธุรกิจขนาดจิ๋วซึ่งอยู่ที่ 1.14 แสนล้านบาท ณ ไตรมาส 2
ดังนั้น อุตสาหกรรมที่สถาบันการเงินเร่งจัดการดูแลคุณภาพหนี้เชิงรุกมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการขายส่งและขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิต อุตสาหกรรมการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และอุตสาหกรรมก่อสร้าง สอดคล้องกับสถานการณ์การชำระหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติตามที่กล่าวมาข้างต้น
สินเชื่อโตต่ำฉุดรั้งการเติบโตเศรษฐกิจ
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หากดูหนี้ภาคธุรกิจวันนี้ ในหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ไม่น่าห่วงแม้สินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา ภาพรวมจะขยายตัวชะลอลง เนื่องจากรายใหญ่มีการระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น แต่สินเชื่อเอสเอ็มอีติดลบต่อเนื่อง จากแบงก์ระมัดระวังปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดที่อาจมีความเสี่ยงมากขึ้น
สอดคล้องกับ การขยายตัวของสินเชื่อที่ผ่านมา พบว่า ขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 1.5% ของจีดีพีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าสถาบันระมัดระวังปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น การขยายตัวต่ำของสินเชื่อ อาจทำให้ปัญหา การชำระหนี้ หรือหนี้เสียตามมาได้ในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะจากเอสเอ็มอี และครัวเรือนมากขึ้น
“ภาพสินเชื่อที่หดตัวบวกกับปัญหาหนี้เสียสะท้อนปัญหาที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระดับรากหญ้า เอสเอ็มอีต่างจังหวัด ที่ยังอ่อนแอ ดังนั้นมองไปข้างหน้า ภาพยังคงเป็นแบบนี้ต่อเนื่อง ที่ห่วงคือหนี้ครัวเรือน ที่วันนี้มีปัญหาค่อนข้างมาก และจำกัดต่อการบริโภคของไทยในระยะข้างหน้า”