‘สมประวิณ’ ห่วงเศรษฐกิจอ่อนแอ คนไทยแห่ก่อหนี้เพิ่มเพื่อคืนหนี้!
‘สมประวิณ’ EIC ชี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ ปัญหาหนี้ คือความเปราะบางที่ซ่อนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ชูผลสำรวจ EIC ชี้ คนก่อหนี้เพิ่มต่อเนื่อง เพื่อนำไปชำระหนี้เดิม สะท้อนเศรฐษกิจไทยกำลังอยู่ภายใต้ความเปราะบาง ผนวกความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น หวั่นเกิดช็อคเศรษฐกิจไทยฟุบเร็วและแรง
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวในงาน เสวนาพิเศษแบบ Economic Forum : Thailand Crisis? “เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญวิกฤติอยู่หรือไม่?” ที่จัดขึ้นโดย 'กรุงเทพธุรกิจ'ว่า ปัญหา “หนี้” คือ ความเปราะบาง ที่ซ่อนอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทย และปัญหาอาจส่งผลได้เร็ว โดยไม่ต้องรอให้เศรษฐกิจชะลอตัว จากกลไกของระบบสถาบันการเงินที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างมาก จากงบดุลที่มีปัญหา ทำให้แบงก์ชะลอการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ในระยะข้างหน้า
และจากการสำรวจข้อมูลของ EIC ในอดีตพบว่า การก่อหนี้ที่ผ่านมา เพื่อนำไปใช้สำหรับกิน ใช้จ่าย แต่ปีนี้คำถามแบบเดิม พบว่าต้องการก่อหนี้เพื่อ ใช้หนี้ เริ่มมีการก่อหนี้วนเพื่อนำไปชำระหนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล สะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ภายใต้ความเปราะบาง
นอกจากความเปราะบางแล้ว เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้นในทุกมิติ ที่ยังอยู่ระดับสูง ดังนั้นบนความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ระดับสูง ผนวกกับความเปราะบาง แปลว่า หากเราโดนช็อค เศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสติดเชื้อได้มากขึ้น
ดังนั้นหากถามว่า วันนี้เศรษฐกิจไทย วิกฤติหรือไม่ มองว่า ประเทศไทยไม่ป่วย แต่อ่อนแอ แม้ถ้อยแถลงของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)บอกว่า วันนี้เศรษฐกิจไทย กำลังโตไปที่ระดับศักยภาพ แต่วันนี้ ศักยภาพเศรษฐกิจไทยกำลังลดลง ทั้งจากความอ่อนแอภายในของเศรษฐกิจไทยเอง และอ่อนแอ จาก ภายนอกด้วย ที่มีเชื้อโรคมากขึ้น
“เศรษฐกิจไทย มีความท้าทายมากขึ้น หลายสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 10% และลดลงมาเหลือ 5% วันนี้โตได้ระดับ 3% เราก็ดีใจแล้ว แต่ภาพนี้ชี้ให้เห็นว่าศักยภาพเรากำลังจะลดลง ด้วยตัวเราเองแล้ว เชื้อโรคข้างนอกยังมากขึ้น ดังนั้นเศรษฐกิจไทยท้าทายมาก แม้คำนิยามเราจะยังไม่วิกฤติ แต่หากถามทุกคนว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ ทุกคนตอบเหมือนกันหมดว่าไม่ดี เรากำลังอ่อนแอ และเปราะบางมากขึ้น บวกกับความไม่แน่นอนจ ทำให้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงมากขึ้น แม้วันนี้กำลังโตไปที่ระดับศักยภาพ แต่หากมีช็อคเกิดขึ้นเรามีโอกาสฟุบเร็วและแรง”
ทั้งนี้ หากดูการขยายตัวของจีดีพีไทยในอดีตขยายตัวได้ 3.4% แต่ปัจจุบันเหลือเพยง 3% สิ่งที่ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนคือ ESG หรือการเพิ่มผลิตภาพ หากดูประเทศที่หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เช่นเกาหลีใต้ ก่อนพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ตัวเลขเหล่านี้โตเกิน 5% อย่างน้อย5ปี ของไทยพบว่าก่อนโควิดเราอยู่ที่ 1.7% และอนาคตจะลงมาที่ 1.4%
ดังนั้นโอกาสในการหลุดพ้นกำกับดรายได้ปานกลางของไทยวันนี้ยังไม่เห็น
สมประวิณ มองว่า สิ่งที่ภาครัฐต้องทำในระยะข้างหน้า คือ สร้างความสามารถในการแข่งขัน ต้องทำให้คนในประเทศ สามารถแข่งขันได้มากขึ้น เศรษฐกิจต้องเอื้อให้ทุกคนเก่งได้ และต้องเข้าถึงตลาดได้ง่าย กฎระเบียบต้องส่งเสริมให้ทุกคนแข่งขันได้มากขึ้น และต้องเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรเท่าเทียมกัน ถัดมา social protection การคุ้มครองขั้นพื้นฐาน ที่ต้องทำให้คนได้รับโอกาสการได้รับการช่วยเหลือมากขึ้น หลายนโยบายต้องทาเก็ตให้ตรงกลุ่มมากขึ้น