เสียงเตือนที่หายไป กับ ‘ปัญหาหนี้’ ที่เสี่ยงระเบิด!
“หนี้” กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ปีหน้าจะมีหุ้นกู้ที่เตรียมครบกำหนดชำระหนี้ราว 1 ล้านล้านบาท ซึ่งประเมินกันว่า ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจยังย่ำแย่และดอกเบี้ยยังสูงกว่าอดีตอย่างมาก อาจทำให้เกิดการ “ผิดนัดชำระหนี้” จนลุกลามบานปลาย
ปัญหาหนี้นับเป็นเรื่องที่กองบรรณาธิการของ “กรุงเทพธุรกิจ” ให้ความสำคัญและเป็นห่วงมาพักใหญ่ๆ แล้ว เราเห็นข้อมูลบางส่วนที่บ่งชี้ว่า “หนี้” กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ภาครัฐที่สัดส่วนต่อจีดีพีขยับขึ้นแตะ 62% และที่น่าห่วงสุด คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับ 91% สูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก
แต่ที่น่ากังวลไปกว่านั้น คือ หนี้ของภาคธุรกิจซึ่งวิ่งขึ้นมาเร็วมาก ล่าสุดเฉียดระดับ 80% ต่อจีดีพี เทียบกับช่วงก่อนโควิดที่อยู่เพียงราวๆ 70% ต่อจีดีพี สิ่งที่ต้องจับตาดู คือ มีสัญญาณบางอย่างบ่งชี้ว่า หลายๆ ธุรกิจเริ่มจะแบกหนี้ต่อไปไม่ไหวแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี
ข้อมูลที่ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจได้รับมา พบว่า ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อราว 283,034 บัญชี ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสียราว 10% หรือกว่า 2.8 หมื่นบัญชี นับเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และด้วยความเสี่ยงเหล่านี้ทำให้ ธนาคารพาณิชย์ชะลอการปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มเอสเอ็มอีมาระยะหนึ่งแล้ว
ข้อมูลล่าสุดของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่รายงานโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ส่วนหนึ่งเพราะธนาคารพาณิชย์เริ่มระมัดระวังการให้สินเชื่อ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อความสามารถในการชำระคืนสินเชื่อของผู้ประกอบการรายย่อย และมีบางส่วนที่หันไปออก “หุ้นกู้” แทน
นอกจากนี้เรายังพบว่า ในปีหน้าจะมีหุ้นกู้ที่เตรียมครบกำหนดชำระหนี้ราว 1 ล้านล้านบาท แน่นอนว่าผู้ออกย่อมต้องออกหุ้นกู้ตัวใหม่เพื่อมาทดแทนหุ้นกู้เดิม (โรลโอเวอร์) แต่มีการประเมินกันว่าถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจยังย่ำแย่ ท่ามกลางดอกเบี้ยในปัจจุบันที่สูงกว่าอดีตอย่างมาก อาจทำให้มีหุ้นกู้ราว 50,000 ล้านบาท เกิดการ “ผิดนัดชำระหนี้” ขึ้นมาได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ที่เรตติ้งต่ำหรือไม่มีเรตติ้ง
ตัวเลข 5 หมื่นล้านบาทที่ว่านี้ นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าเป็นเพียงความเสี่ยง และถ้าจะเกิดขึ้นก็ไม่น่าจะสร้างปัญหาต่อระบบการเงินในภาพรวม แต่เราเชื่อว่าหากภาครัฐไม่มีมาตรการใดๆ มารองรับ ก็อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นลามไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ยากจะคาดเดาได้
และสิ่งที่น่าห่วงไปกว่านั้น คือ ต้องติดตามดูว่าปัญหาเหล่านี้จะลามไปสู่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่หรือไม่ เพราะเอาเข้าจริงตอนนี้หลายรายเริ่มออกอาการให้เห็นต้องวิ่งเต้นหาสภาพคล่องมาเติมให้กับธุรกิจของตัวเองกันบ้างแล้ว
คำถาม คือ หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องพวกนี้อยู่เห็น “ควันไฟ” ที่เริ่มก่อตัวขึ้นจากจุดเล็กๆ เหล่านี้หรือไม่ และได้เตรียมมาตรการอะไรมารองรับเพื่อ “ดับไฟ” ให้ทันก่อนที่จะลุกลามออกไปหรือยัง?
...สถานการณ์ที่ว่านี้มีสิ่งหนึ่งที่น่ากังวลอยู่มากๆ คือ เราไม่ได้รับเสียงเตือนใดๆ จากหน่วยงานที่ว่านี้เลย มีเพียงเสียงเตือนจากชาวบ้านและภาคธุรกิจที่เริ่มเห็นควันไฟในบางจุดแล้วพากันชี้ดู ที่เหลือก็คงได้แต่เฝ้าระมัดระวังกันเอง!