สรุป! ยื่นภาษีปี 66 ใครได้ลดหย่อนภาษีเท่าไหร่กันบ้าง
ยื่นภาษีปี 66 สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2567 และยื่นภาษีแบบกระดาษได้ถึง 31 มีนาคม 2567 และทราบหรือไม่ ใครสามารถนำรายการไหนมาลดหย่อนภาษีได้บ้าง แล้วผู้มีรายได้ได้ลดหย่อนภาษีเท่าไหร่
วนกลับมาอีกครั้งกับการยื่นภาษีประจำปี ของผู้มีรายได้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีใครได้เตรียมตัวยื่นภาษีประจำปี 66 ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 กันบ้างแล้วหรือยัง!
โดยในปี พ.ศ.2567 ผู้มีรายได้สามารถยื่นภาษีด้วยตนเองแบบกระดาษได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 และ/หรือยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2567
ภาษีปี 66 ใครสามารถนำรายการไหนมาลดหย่อนภาษีได้บ้าง ผู้มีรายได้ได้ลดหย่อนภาษีเท่าไหร่ แตกต่างหรือเหมือนปีก่อนหรือไม่ พร้อมแล้วไปสำรวจกันเลย
- ส่วนตัวและครอบครัว
ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว ผู้มีรายได้จะได้ลดหย่อนโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว คือ 60,000 บาท นอกจากนี้ หากเข้าเงื่อนไขค่าลดหย่อนอื่นๆ ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีก ซึ่งสามารถแยกย่อยได้คือ
1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
2. คู่สมรส 60,000 บาท สำหรับสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส และเป็นคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ หรือยื่นแบบฯ รวมกัน
3. ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร หักสูงสุดไม่เกินปีละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ
3.1 ต้องมีใบรับรองแพทย์และใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 66
3.2 สามีใช้สิทธินี้ได้ หากภรรยาไม่มีรายได้ หรือมีรายได้แต่ยื่นแบบฯ รวมกัน
4. ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท/คน โดยมีเงื่อนไขคือ
4.1 ต้องเป็นบุตรตามกฎหมาย
4.2 บุตรบุญธรรมใช้ได้ไม่เกิน 3 คน
4.3 บุตรอายุไม่เกิน 20 ปี
4.4 ในกรณีที่บุตรอายุ 21-25 ปี ต้องกำลังศึกษาในระดับชั้น ปวส.ขึ้นไป
4.5 บุตรมีเงินเดือนในปีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
5. บุตรคนที่ 2 ขึ้นไป ลดหย่อนได้ 60,000 บาท/คน โดยมีเงื่อนไขคือ
5.1 เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2561
5.2 บุตรอายุไม่เกิน 20 ปี
5.3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา อายุ 60 ปีขึ้นไป (คนละ) 30,000 บาท ไม่เกิน 4 คน รวม 120,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
6.1 บิดา-มารดา อายุ 60 ปีขึ้นไป
6.2 มีเงินได้ในปีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
6.3 บัตรสามารถใช้สิทธิ์ได้เพียงคนเดียว
7. อุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ 60,000 บาท/คน โดยมีเงื่อนไขคือ
7.1 ผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ
7.2 ผู้พิการมีเงินได้ในปี 2566 ไม่เกิน 30,000 บาท
- การลงทุนและประกันต่างๆ
ค่าลดหย่อนสำหรับการลงทุนและประกันต่างๆ ยังคงเหมือนกับปีก่อนๆ ซึ่งผู้มีรายได้สามารถนำค่าใช้จ่ายที่ได้ทำประกันไว้ และรายจ่ายที่นำไปลงทุนกับหน่วยงานต่างๆ รวบรวมนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดคือ
1. เงินสมทบประกันสังคม แบ่งตามประเภทเงินสมทบคือ
1.1 ผู้ประกันตนมาตรา 33 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท
1.2 ผู้ประกันตนมาตรา 39 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 5,184 บาท
1.3 ผู้ประกันตนมาตรา 40 ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3,600 บาท
2. ประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากที่มีประกันชีวิต ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ
2.1 มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
2.2 มีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของดอกเบี้ย
2.3 เมื่อรวมกับประกันสุขภาพตนเอง ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
3.ประกันสุขภาพตนเอง ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
4.ประกันสุขภาพบิดา-มารดา ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
4.1 บิดา-มารดามีเงินได้ในปี 2565 ไม่เกิน 30,000 บาท
4.2 บุตรบุญธรรมใช้สิทธิ์ไม่ได้
4.3 บุตรหลายคนหารเฉลี่ยกันได้
5.ประกันชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
5.1 สามี-ภรรยาต้องจดทะเบียนสมรส
5.2 ต้องมีสถานะเป็นสามี-ภรรยาตลอดทั้งปี
6.ประกันชีวิตบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
7.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
8.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข. / สงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
9.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 30,000 บาท
10.กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
ทั้งนี้ เมื่อรวมเงินที่ซื้อทั้งหมดในข้อ 6-10 ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
11.กองทุน TESG (ลงทุนในสินทรัพย์หุ้นไทยกลุ่ม ESG) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (โดยไม่นับรวมกับกองทุนเพื่อการออมอื่นๆ)
- การบริจาคให้หน่วยงานต่างๆ
การบริจาคเงินให้กับบางหน่วยงาน สามารถนำมาลดหย่อนได้ถึง 2 เท่า และสำหรับบางหน่วยงานที่รับบริจาคก็นำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 10% ซึ่งประกอบด้วย
1. บริจาคสนับสนุนการศึกษา การกีฬาเพื่อประโยชน์สาธารณะ และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนอื่นแล้ว โดยมีเงื่อนไขคือ
1.1 ต้องเป็นสถานศึกษาที่ ศธ. กำหนด
1.2 ต้องเป็นสถานพยาบาลของราชการ
1.3 ต้องเป็นหน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย
1.4 บริจาคผ่าน e-Donation เท่านั้น
2. บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนอื่นแล้ว
3. เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง 10,000 บาท
4. เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่บริจาคจริง และรวมกับเงินบริจาคอื่น ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นแล้ว
- กลุ่มพิเศษ (กระตุ้นเศรษฐกิจ)
1. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสูงสุด 100,000 บาท
2.เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม 100,000 บาท
3. โครงการช้อปดีมีคืน ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยจะต้องซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่จด VAT และออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้ และซื้อสินค้าภายในระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนดคือ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566
สรุป… วางแผนลดหย่อนให้ดีก่อนยื่นภาษีปีหน้า เมื่อมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนกำลังสำรวจตัวเองว่าได้มีการบริจาค ทำประกันชีวิต มีหลักฐานช้อปดีมีคืนกันบ้างหรือเปล่า หรือมีอื่นๆ ที่ลดหย่อนได้อีกหรือไม่ ซึ่งถือเป็นการวางแผนภาษีที่ดีก่อนยื่นภาษีจริงในปีหน้า จะช่วยให้ผู้มีรายได้ทุกคนเสียภาษีน้อยลง เพิ่มเงินในกระเป๋าได้มากขึ้นด้วย
แล้วอย่าลืมไปยื่นภาษีกันโดยพร้อมเพรียง ทั้งกลุ่มที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 และแบบ ภ.ง.ด.90 ภายในวันที่ 8 เมษายน 2567 นี้
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting