ส.ประกันวินาศภัยไทย ชี้ปี67 จ่อรับยอดขายรถอีวีพุ่ง ดันเบี้ยรวมทะลุ 3 แสนล.

ส.ประกันวินาศภัยไทย ชี้ปี67 จ่อรับยอดขายรถอีวีพุ่ง ดันเบี้ยรวมทะลุ 3 แสนล.

สมาคมประกันวินาศภัยไทย คาดเบี้ยทั้งระบบปี67 โต5 -6% ทะลุ 3 แสนล้านบาท รับอานิงสงส์ยอดขายรถอีวีเพิ่มมากกว่า 1 แสนคัน และการประกันสุขภาพและท่องเที่ยวยังเติบโตตามเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง

นายสมพร สืบถวิลกุล  สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ คาดการณ์แนวโน้มภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2567 เติบโต 5-6%หรือมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 301,050 -303,900 ล้านบาท จากคาดการณ์ปี 2566 จะเติบโตได้ตามเป้าหมายเติบโต 4-5% หรือมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม285,080-287,800 ล้านบาท 

ในปี2567 ธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโตขึ้น จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยแรง สนับสนุนของภาครัฐ อาจทำให้ยอดขายทะลุ 100,000 คัน บวกกับประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยสุขภาพ เนื่องมาจากแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น  และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่า ส่งผลให้ในปีหน้ามีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.)  เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 210,141  ล้านบาท  เติบโต 5.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน  โดยทุกการประกันภัยมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ยอดจำหน่ายรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นรวมถึงการท่องเที่ยวในประเทศและระหว่างประเทศที่กลับมาคึกคัก ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลดีต่อการประกันภัย 

และ 9 เดือนแรกของปีนี้  ธุรกิจประกันวินาศภัย พลิกกลับมามีกำไรรวม 17,7677 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนขาดทุน  39,425 ล้านบาท โดยยังเชื่อว่า ถึงสิ้นปีนี้ธุรกิจประกันภัยจะยังมีผลการดำเนินนงานมีกำไรพลิกฟื้นจากวิบากรรมโควิด และมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง กลับมาเติบโตตามสถานการณ์ปกติแล้วที่จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงเติบโต1.5-2เท่าของจีดีพี ซึ่งตั้งแต่ปีก่อนกลับมาเติบโตใกล้เคียงภาวะปกติแล้ว 

โดยมีอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ของการประกันวินาศภัยทุกประเภทอยู่ที่ 54.5% ดีขึ้นในทุกหมวด แบ่งเป็น อัตราความเสียหายของการประกันภัยรถยนต์อยู่ที่  59.4% , ประกันอัคคีภัยอยู่ที่ 23.6% ประกันภัยทางทะเลอยู่ที่ 32.9% และประกันภัยเบ็ดเตล็ดเท่ากับ 47.1%  ซึ่งในส่วนประกันภัยเบ็ดเตล็ดลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันได้คลี่คลายลง และกลับมาสู่สถานการณ์การประกันภัยปกติแล้ว 

นายสมพร กล่าวว่า ปัจจุบันการประกอบธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด พฤติกรรมและความคาดหวังของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจประกันภัยที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลง 

โดยในปี 2566 สมาคมฯ ได้มีการดำเนินงานเพื่อรับมือต่อปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้เอาประกันภัยและประชาชน อาทิ การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการป้องกัน ป้องปรามบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาหาประโยชน์จากการหลอกขายประกันภัยในประเทศไทยโดยไม่มีใบนุญาตอย่างถูกต้อง รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ และ คำแนะนำให้กับประชาชนในการซื้อประกันภัยไปพร้อมกัน รวมถึงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(PDPA) ซึ่งสมาคมฯ ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และได้มีมาตรการดูแลและส่งเสริมให้บริษัททำตามกฎหมาย

มีการจัดทำแนวทางปฏิบัติของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยให้ครอบคลุมทุกด้าน (PDPA Guideline for Non-lifeInsurance Industry) เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจให้บริษัทสมาชิกสามารถปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างสมบูรณ์

สมาคมๆ มุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ยึดนโยบายในการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับภาครัฐ และภาคเอกชน เน้น

ความเป็นมืออาชีพ สร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคมในมิติต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยไทยไปสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง