รายงานประชุม ‘BOJ’ ชี้ชัด รอความชัดเจนค่าแรงเดือนมี.ค. ก่อนพิจารณายุติดอกเบี้ยติดลบ
รายงานการประชุม “ธนาคารกลางญี่ปุ่น” ชี้ชัด ยังไม่สายเกินไปหากคณะกรรมการฯ จะพิจารณาการเจรจาเรื่องค่าแรงในประเทศก่อนในเดือนมี.ค.2567 ก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยพิจารณายุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในประเทศ
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานวันนี้ (27 ธ.ค.66) ว่า สมาชิกคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้หารือถึงช่วงเวลาที่เป็นไปได้ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของประเทศนับตั้งแต่ปี 2550 ในระหว่างการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยสมาชิกหลายท่านระบุว่าพวกเขาไม่เห็นความเร่งรีบในการเคลื่อนไหว
"คงไม่สายเกินไปหากธนาคารจะตัดสินใจเรื่องเปลี่ยนนโยบายทางการเงินหลังจากเห็นการพัฒนาเรื่องค่าแรงในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า"
หนึ่งในเก้าสมาชิกคณะกรรมการนโยบายทางการเงินกล่าวในการชุมนุมวันที่ 18-19 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา พร้อมเสริมว่า มีเพียงความเสี่ยงเล็กน้อยเท่านั้นคือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะพุ่งเกินเป้าหมาย 2% อย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่อีกหนึ่งท่านให้ความเห็นว่าขณะนี้มี "ช่องว่างมากพอ" ที่จะพิจารณาว่า "วัฏจักรค่าจ้าง-เงินเฟ้อ" ปัจจุบันนั้นเป็นไปตามความคาดหวังของคณะกรรมการหรือไม่ หลังจากบีโอเจเพิ่มความยืดหยุ่นของกลไกการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Bond Yield) ในเดือนต.ค.มากขึ้น
ด้านบทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า ความคิดเห็นเหล่านั้นอาจช่วยคลายการเก็งกําไรในตลาดว่าผู้กําหนดนโยบายจะยุติ “ระบบอัตราดอกเบี้ยติดลบ” ครั้งสุดท้ายของโลกในการประชุมเดือนม.ค.หรือไม่
เพราะครึ่งหนึ่งของนักเศรษฐศาสตร์ที่สํารวจโดยบลูมเบิร์กเมื่อต้นเดือนธ.ค.คาดการณ์ว่าบีโอเจจะดึง “ม่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ” ครั้งสุดท้ายของธนาคารกลางโลกลงด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนเม.ย.หลังจากที่คณะกรรมการประเมินผลการเจรจาค่าจ้างประจําปีครั้งแรกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนมี.ค.ก่อน
ทั้งนี้ เงินเยนอ่อนค่าลง และบอนด์ยีลด์หดตัวอย่างเห็นได้ชัดหลังจากการเปิดเผยรายงานฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่านักลงทุนรับทราบว่าต้องชะลอความคาดหวังว่าธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว
โดยค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ 142.85 เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ในขณะที่บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีลดลง 0.02% ไปอยู่ที่ 0.610% ต่อมาเงินเยนอ่อนค่าลงเกือบทั้งเที่ยง เนื่องจากนักลงทุนได้ย่อยมุมมองที่หลากหลายที่แสดงในสรุปการประชุมฉบับนี้
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์