ลดขาดทุน SSF RMF ThaiESG ด้วยการ สับเปลี่ยน อย่างไรไม่ให้พลาด
กลยุทธ์อย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ลดการขาดทุนของ SSF RMF และ ThaiESG คือการปรับพอร์ตการลงทุนโดยการสลับสับเปลี่ยนกองทุน จากกองเดิมที่ขาดทุนไปยังกองทุนใหม่ ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า หรือมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนมากกว่า
ก่อนอื่นคงต้องกล่าวคำว่า สวัสดีปีใหม่ 2024 ผู้อ่านทุกท่านนะครับ ขอพระเจ้าอวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพจิตใจที่เบิกบานเสมอครับ ในปีที่ผ่านมาน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นปีที่กลับมาคึกคักมากหลังจากสถานการณ์ Covid-19 ได้ผ่านไป ถึงแม้โรคระบาดนี้จะยังไม่หมดไป แต่เราก็สามารถปรับตัวและก็อยู่กับมันได้กันเป็นอย่างดี สำหรับหลายๆท่าน คงจะเริ่มตั้ง New year resolution หรือเป้าหมายสำหรับปี 2024 กันบ้างแล้วใช่มั้ยครับ และผมเชื่อว่า สำหรับหลายๆ ท่านแล้วก็คงมีเรื่องการลงทุนอยู่ในการวางแผนชีวิตในปีนี้กันด้วย วันนี้ผมมี ผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าหนึ่งในวิธีการจัดการเป้าหมายการลงทุนใน SSF RMF ให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกัน เพื่อเป็นอีกหนึ่งการตัดสินใจวางแผนเป้าหมายการลงทุนในปีนี้กันนะครับ
กลยุทธ์อย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ลดการขาดทุนของ SSF RMF และรวมไปถึง ThaiESG ด้วย นั้นก็คือการปรับพอร์ตการลงทุนโดยการสลับสับเปลี่ยนกองทุน จากกองเดิมที่ขาดทุนไปยังกองทุนใหม่ ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า หรือ มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนมากกว่านั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม การสลับสับเปลี่ยนกองทุน (SWITCH) นั้นนอกจากจะต้องมีความเข้าใจในความเสี่ยงของกองทุนที่กำลังจะสลับเข้าไป (SWITCH IN) แล้วนั้น ยังมีในส่วนของ ค่าธรรมเนียม และเงื่อนไขอื่นที่ควรจะต้องทราบด้วยดังนี้ครับ
สำหรับเงื่อนไขในการสลับสับเปลี่ยนกองทุนนั้น หลักๆ จะเหมือนกันก็คือ สลับได้เฉพาะกองทุนลดหย่อนภาษีประเภทเดียวกัน เช่น สับเปลี่ยนจาก SSF ไปยัง SSF ด้วยกัน / สับเปลี่ยนจาก RMF ไปยัง RMF ด้วยกัน เป็นต้น และยังสามารถ สับเปลี่ยนข้าม บลจ. ได้อีกด้วย โดยสามารถที่จะสับเปลี่ยนบางส่วน หรือ จะสับเปลี่ยนทั้งหมดเลยก็ได้ นี่จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราจะสามารถ ลดผลการขาดทุนของ พอร์ต SSF / RMF / ThaiESG ลงได้ครับ โดยเช่นจากเดิม พอร์ตของเรามีการลงทุนในตลาดหุ้น 100% แต่เราคาดการณ์ว่าในอนาคต ตลาดหุ้นน่าจะเป็นช่วงขาลง ก็สามารถสลับสับเปลี่ยนกองทุนบางส่วนมา ลงทุนในกองทุน SSF / RMF / ThaiESG ที่ลงทุนในตราสารหนี้แทนได้ ทำให้ในพอร์ตของเรา มีสัดส่วนในการลงทุนในหุ้นน้อยลง ทำให้หากเป็นตลาดขาลง ก็จะลดผลการขาดทุนลงได้ครับ
อย่างไรก็ตาม การสลับสับเปลี่ยนกองทุน ผู้ลงทุน ควรจะศึกษาในเอกสารสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุน (Fact Sheet) เสียก่อน ว่ามีค่าธรรมเนียม หรือเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ โดยที่ผู้เขียนเคยพบเจอมานั้น บางกองจะไม่คิดค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนกองทุนภายใน บลจ. เดียวกัน แต่คิดค่าธรรมเนียมหากมีการสับเปลี่ยนไปยัง บลจ. อื่น โดยค่าธรรมเนียม แต่ละ บลจ.ก็มีวิธีการคิดที่แตกต่างกัน บาง บลจ. คิดเป็น % บาง บลจ. ก็คิดเป็นอัตราคงที่ต่อครั้งๆไป เช่น ครั้งละ 50 บาทเป็นต้น ซึ่งหากมีการคิดค่าธรรมเนียมเป็นครั้ง การโอนไปทีเดียวทั้งก้อน ก็จะช่วยประหยัดค่าธรรมเนียม ได้มากกว่า การทยอยโอนนั่นเอง
นอกจากเรื่องของค่าธรรมเนียมการโอนแล้ว บาง บลจ. ก็อาจจะมีข้อจำกัดให้ยังไม่สามารถทำการโอนข้าม บลจ.ได้อีกด้วย โดยข้อจำกัดนี้มาจากความพร้อมของ บลจ. นั้นๆเอง สำหรับเคสนี้นั้น หากพอร์ตขาดทุน และอยากจะสับเปลี่ยนกองทุนเพื่อลดความเสี่ยงจริงๆ ให้เลือก สับเปลี่ยนใน บลจ. นั้นที่พอจะทดแทนได้ไปก่อน อย่าทำการขายออกมา เพราะจะทำให้ผิดเงื่อนไข และ จะต้องคืนภาษีที่ได้รับลดหย่อนไป จะเป็นเรื่องที่วุ่นวายมากครับ
และทุกครั้งที่มีการสับเปลี่ยน เราจะได้รับเอกสารหลักฐานการสับเปลี่ยนมา ซึ่งเราต้องเก็บไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานในวันที่เราทำการขายกองทุนด้วยนั่นเอง ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนมีคำแนะนำมาฝากสำหรับกรณีที่เป็น RMF นั้น อาจจะมีประวัติการสับเปลี่ยนมากกว่ากองทุนอื่นๆ เนื่องด้วยมีระยะเวลาการลงทุนที่ค่อนข้างนาน ดังนั้น การจะมานั่งไล่เอกสารเพื่อปะติดปะต่อประวัติการสับเปลี่ยนกองทุน คงจะเป็นงานที่ซับซ้อนพอสมควร การเลือกสับเปลี่ยนใน บลจ. เดียวกัน ก็จะช่วยให้เรื่องนี้ง่ายขึ้น เพราะ เอกสารการสลับสับเปลี่ยน หลักฐานต่างๆจะรวมกันอยู่ที่ บลจ. เดียว ทำให้หากต้องมีการขอเอกสารย้อนหลัง ก็จะสามารถทำได้ง่ายกว่า การไปตามเอกสารกับอีกหลายๆ บลจ.ครับ
สุดท้ายผู้เขียนขอสรุปเป็นข้อแนะนำดังนี้ครับ โดยสำหรับ กองทุนที่มีอยู่ในพอร์ตแล้วนั้น ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาค่าธรรมเนียม และเงื่อนไขในการสับเปลี่ยนให้ดีก่อนทำการสับเปลี่ยนครับ โดยให้สับเปลี่ยนทีเดียวทั้งหมด สำหรับ กองทุนที่คิดค่าสับเปลี่ยนคงที่เป็นครั้งๆ และทยอยสับเปลี่ยนได้ สำหรับกรณีที่กองทุนนั้นคิดค่าธรรมเนียมเป็น% สำหรับกรณีที่ไม่สามารถสับเปลี่ยนข้าม บลจ. ได้นั้น อย่าใช้วิธีการขายแล้วซื้อใหม่ เพราะจะทำให้ผิดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีได้ และสำหรับกองทุน RMF นั้นแนะนำให้สลับใน บลจ. เดียวกัน เพื่อความง่ายในการยื่นหลักฐานตอนขายครับ
และสำหรับ กองทุนที่กำลังจะซื้อใหม่นั้น ให้นำเงื่อนไข ในการสลับสับเปลี่ยนกองทุนมาพิจารณาด้วย โดยหลีกเลี่ยง กองทุนที่ไม่สามารถ สับเปลี่ยนข้าม บลจ.ได้ , กองทุนที่มีค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนออกที่สูงเกินไป , และ เลือกซื้อกับ บลจ. ที่มีกองทุนให้เลือกซื้อที่หลากหลาย มีการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เพื่อสะดวกในการปรับเปลี่ยนพอร์ตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ครับ”