KTC รุกขยายฐานลูกค้าบัตรฯ ดิจิทัล 1 แสนใบ ตอบโจทย์ความปลอดภัยช้อปออนไลน์
เคทีซี เดินหน้าขยายฐานลูกค้า บัตรเครดิต ดิจิทัล ตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า100,000 ใบ ในปีนี้ หวังตอบโจทย์ความปลอดภัยช้อปออนไลน์ ยันเกณฑ์ใหม่ธปท .ปล่อยสินเชื่อเป็นธรรม ไร้กระทบธุรกิจ
นางประณตยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานการตลาดบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ เคทีซี เปิดเผยว่า ในปีนี้เคทีซียังคงคาดการณ์ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซี 15% จากปีก่อนที่เติบโตได้สูงกว่าเป้าหมายที่10%เล็กน้อย และมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) 1.3% หรือต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่ประมาณ 3%
พร้อมกับประเมินว่า ช่วงภาครัฐเริ่มมาตรการ มาตรการ “Easy E-Receipt” เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี 2567 ทางเคทีซีมองว่า จะช่วยสนับสนุนยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีช่วงต้นปีนี้เติบโตได้ดี เช่นเดียวกับช่วงปีก่อนที่มีมาตรการช้อปดีมีคืน ทำให้ยอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตเคทีซีเดือน ม.ค.และเดือน ก.พ. เติบโตสูงถึง25%
ปัจจุบันเคทีซีมีส่วนแบ่งการตลาด 12% จากมูลค่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบ 2.2 ล้านล้านบาท ฃและตั้งเป้าหมายยอดบัตรเครดิตเคทีซีใหม่ในปีนี้ที่ 230,000 บัตร ซึ่งจะรวมถึงบัตรเครดิต ดิจิทัล ที่ตั้งเป้าไว้ 100,000 บัตรด้วย จากกลุ่มลูกค้าใหม่ และลูกค้าเดิมสัดส่วน 50:50 เจาะกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ที่คุ้นชินกับการทำธุรกรรมดิจิทัลและคนมีรายได้สูงระดับ 30,000-50,000 บาท ขึ้นไป และคาดว่าบัตรกลุ่มนี้จะมียอดใช้จ่ายเท่ากับบัตรอื่นๆ โดยเฉลี่ย 9,000บาทต่อเดือน
จากปัจจุบัน บัตรเครดิตเครทีซี มีทั้งสิ้น 2.62 ล้านบัตร เป็นแพลตทินัมคิดเป็นสัดส่วน 87% หรือจำนวน 2.28 ล้านบัตร แบ่งเป็นวีซ่า60% มาสเตอร์การ์ด 40%
ปัจจุบันตัวเลขการใช้งานของผู้ถือบัตรเครดิตเคทีซีเปลี่ยนแปลงไป โดยมีสัดส่วนผู้ใช้บัตรในการใช้จ่ายซื้อสินค้า-บริการ 46% และผู้ที่ไม่ยื่นการ์ดในการใช้จ่ายเท่ากับ 55% จากช่วงก่อนโควิดฯที่มีสัดส่วน 70% และ 30% เนื่องมาจากความนิยมในการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกัน ความกังวลในเรื่องการถูกมิจฉาชีพขโมยข้อมูลจากบัตรเครดิตก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้มีกลุ่มลูกค้าหลัก รายได้30,000-50,000 บาทสัดส่วน 17-18% และรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป สัดส่วน 17-18% ซึ่ง2กลุ่มนี้เป็นกลุ่มขับเคลื่อนยอดการใช้จ่ายบัตรฯ ที่เหลือสัดส่วน 65% เป็นกลุ่มลูกค้า รายได้ระดับ 15,000 -30,000 บาท
“สำหรับบัตรเครดิตเคทีซี ดิจิทัลในขณะนี้จะเริ่มต้นจากบัตรแพลทินั่ม และหากผลตอบรับดี ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทำต่อเนื่องไปสู่บัตรอื่นต่อไป และการออกบัตรเคทีซี ดิจิทัล ถือเป็นการยกระดับความปลอดภัยของบัตรเครดิต โดยจะช่วยลดความกังวลใก้กับลูกค้าที่ใช้บัตรเครดิต ซึ่งจะรองรับการใช้ทั้งช่องทางดิจิทัล และการใช้บัตรพลาสติกที่เป็น Number Less ซึ่งจะแก้ pain point ของผู้ถือที่กังวลเรื่องตัวเลขสำคัญที่หลังบัตร“
ส่วนกรณีธนาคารแห่งประเทศไทบ(ธปท.) ประกาศการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เริ่ม 1 ม.ค.2567 โดยหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างเป็น การกำหนดเพิ่มการชำระขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% นั้น นางประณตยา กล่าวว่า เราประเมินว่าไม่น่าจะกระทบมากนัก โดยผู้ถือบัตรเคทีซีมีสัดส่วนจ่ายเต็มจำนวน 70% ที่เหลือจ่ายชำระไม่เต็มและส่วนใหญ่จ่ายสูงกว่า 5%
ขณะเดียวกันเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรมนั้น เคทีซียึดหลักการให้ข้อมูล-เงื่อนไข-ข้อกำหนดอย่างชัดเจนอยู่แล้ว รวมถึงการไม่กระตุ้นให้มีการใช้จ่ายหรือก่อหนี้อย่างเกินตัวอยู่แล้ว และนอกจากนี้ กรณีห้ามคิดดอกเบี้ยและค่าปรับสำหรับการขอปิดหนี้ก่อนกำหนด คาดว่าไม่ได้มีผลต่อเรามากนัก และยังไม่ได้มีลูกค้ามายืนขอ คงต้องรอประเมินอีกระยะหนึ่ง