ก่อนลงทุน 'หุ้นกู้' ควรรู้ ความต่าง 'Investment' กับ 'Non-Investment' Grade
แม้ว่า ในปีนี้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาฯ ทำให้เกิดความกังวลต่อความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระคืนหุ้นกู้ หรือไม่สามารถโรลโอเวอร์ได้นั้น ยังเป็นความเสี่ยงที่ถูกจับตามอง และสร้างบรรยากาศการลงทุนในเชิงลบต่อการลงทุนหุ้นกู้
Key Points :
- ซื้อหุ้นกู้ต้องดู credit rating เครื่องช่วย เช็กลิสต์ บอกถึงความสามารถชำระหนี้ของผู้ออก
- หุ้นกู้ ระดับ Investment Grade หรือ "กลุ่มระดับลงทุน" เรตติ้ง ตั้งแต่ AAA จนถึง BBB ผลตอบแทนไม่สูงมาก
- หุ้นกู้ ระดับ Non-Investment Grade หรือ "กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน" เรตติ้ง ตั้งแต่ BB+ ลงมา จนถึง D คุณภาพปานกลางถึงคุณภาพต่ำผลตอบแทนสูงกว่า
- ผู้ลงทุนรายบุคคล ลงทุนใน "หุ้นกู้ที่มีเรตติ้ง" เท่านั้น ไม่เปิดให้ลงในหุ้นกู้ที่ไม่มีเรตติ้ง (Unrated)
แต่อีกมุมหนึ่งแล้ว หากพิจารณาความเสี่ยงในตลาดหุ้นกู้ที่ผ่านมาแล้วนั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเฉพาะที่เกิดกับหุ้นกู้รายตัวมากกว่า ดังนั้น "หุ้นกู้" ยังเป็น เครื่องมือการระดมทุน และการลงทุนที่สำคัญของตลาดการลงทุนอยู่
เพียงแต่ว่า เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสรับผลตอบแทนการลงทุนหุ้นกู้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไปพร้อมๆ กับลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว "ผู้ลงทุน" จำเป็นต้องมีตัวช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติม ไว้เช็กลิสต์ ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นกู้ นั้นคือ "Credit rating"
Credit rating หรือ "ระดับความน่าลงทุน" จะเข้ามาช่วยบอกให้ผู้ลงทุนรู้ว่า "ความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้แต่ละตัวว่ามีแนวโน้มธุรกิจเป็นอย่างไร มีความเป็นไปได้ที่จะชำระหนี้ได้ครบตรงตามเวลามากน้อยแค่ไหน"
สำหรับ Credit rating หุ้นกู้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ "Investment Grade" กับ "Non-Investment Grade"
โดยผู้ลงทุน ควรรู้ถึง ความแตกต่างกัน ระหว่าง ระดับความน่าลงทุนของหุ้นระดับ 'Investment' กับ 'Non-Investment' Grade ดังนี้
สำหรับ "หุ้นกู้ ระดับ Investment Grade" (อินเวสต์เมนต์ เกรด) หมายถึง "กลุ่มระดับลงทุน" เรตติ้งตั้งแต่ AAA จนถึง BBB- เป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่มั่นคง ผลประกอบการดี อยู่ในกลุ่มที่น่าลงทุน ผลตอบแทนไม่สูงมาก
ทางด้าน "หุ้นกู้ ระดับ Non-Investment Grade" (นัน-อินเวสต์เมนต์ เกรด) หมายถึง "กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน" เรตติ้ง ตั้งแต่ BB+ ลงมา จนถึง D เป็นหุ้นกู้คุณภาพปานกลางถึงคุณภาพต่ำ จึงให้ผลตอบแทนสูงกว่า
นอกจากนี้ ยังมีข้อสำคัญที่ ผู้ลงทุน ควรรู้เพิ่มเติม นั้นคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังได้กำหนดว่า "สำหรับผู้ลงทุนรายบุคคลจะมีสิทธิลงทุนในหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งเท่านั้น" ไม่เปิดให้ลงในหุ้นกู้ที่ไม่มีเรตติ้ง หรืออันเรท (Unrated) เพราะความเสี่ยงสูงปรี๊ดปรอทแตก มีโอกาสสูญเงินต้นมาก
และเครดิตเรตติ้ง ไม่ใช่ว่า ได้ระดับใดแล้วจะคงระดับนั้นไปตลอดนะครับ บริษัทที่เคยได้เรตติ้ง AA เมื่อเวลาผ่านไป อาจจะตกชั้นไปอยู่ BBB ได้ เช่นเดียวกับบริษัทที่เคยได้เรตติ้ง BB+ หากธุรกิจเติบโตมั่นคง ก็มีโอกาสเลื่อนชั้นขึ้นไปอยู่ Investment Grade ที่ BBB- ได้เหมือนกัน
เมื่อผู้ลงทุนรู้จักกับ Credit Rating ของหุ้นกู้แล้ว อย่าลืมนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุนหุ้นกู้ ที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้ และความต้องการผลตอบแทนด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว “high risk, high return” ยิ่งสินทรัพย์มีความเสี่ยงมาก ก็ยิ่งให้ผลตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดใจนั่นเอง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์