ส่อง 3 ยูนิคอร์น สัญชาติไทย `ไลน์แมน วงใน- แฟลช เอ็กซ์เพรส-แอสเซนด์ มันนี่'
สิ้นปี 2566 มียูนิคอร์นมากกว่า 1,200 บริษัททั่วโลก ซึ่งมี 3 บริษัทไทยที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ที่เป็น”ยูนิคอร์น” ได้แก่ LINE MAN Wongnai, Flash Express, Ascend Money หลังจากที่ Bitkub มีมูลค่าบริษัทตกชั้น เนื่องจากดีลการเข้าซื้อหุ้นจากกลุ่ม SCBX ล่ม
Keypoint:
- 3 ยูนิคอร์นสัญชาติไทย ที่มีมูลค่าบริษัทเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ `ไลน์แมน วงใน- แฟลช เอ็กซ์เพรส-แอสเซนด์ มันนี่'
- ทุกบริษัทสามารถรอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจแต่ "ขาดทุน" ทั้ง 3 บริษัท
- Bitkub อดีตว่าที่ยูนิคอร์น หลังจากดีลร่วม SCBX ถูกยกเลิก
จำนวนบริษัท”ยูนิคอร์น”และมูลค่าโดยรวมในแต่ละประเทศ เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งด้านการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศ หลายหน่วยงานในภาครัฐของบ้านเราพยายามส่งเสริมให้มีจำนวนบริษัทยูนิคอร์นที่มากขึ้น และทุกๆ ครั้งที่มีบริษัทยูนิคอร์นรายใหม่ๆ ก็จะเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศที่ดี และเป็นแรงบันดาลใจทำให้บริษัทอื่นๆ อยากเป็นรายต่อๆ ไปที่ก้าวเข้าสู่ยูนิคอร์น
Unicorn (ยูนิคอร์น) หมายถึง ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือถูกควบรวมกิจการไป บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ในโลกนี้หลายรายก็เคยเป็นสตาร์ทอัพและไต่ระดับขึ้นไปสู่ยูนิคอร์นก่อนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
การจัดอันดับจำนวนบริษัทยูนิคอร์นในโลกเริ่มมีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ ปี 2558 จากรายงานของบริษัทวิจัย CB Insights ซึ่งในตอนนั้นมีเพียง 82 บริษัท โดยจำนวนมีเพิ่มขึ้นมาทุกปี และมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2564 ถึง 468 บริษัท สำหรับข้อมูลล่าสุดเมื่อก.ค. ปี 2565 พบว่ามีจำนวนถึง 1,191 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าโดยรวมสูงถึง 3.861 ล้านล้านดอลลาร์
ข้อมูลจาก CB Insights ณ เดือนธันวาคม 2566 มียูนิคอร์นมากกว่า 1,200 บริษัททั่วโลก ซึ่งมี 3 บริษัทไทยที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ที่เป็น”ยูนิคอร์น” ได้แก่ LINE MAN Wongnai, Flash Express, Ascend Money
1. Flash Express
ผู้ก่อตั้ง : นายคมสันต์ ลี
รูปแบบธุรกิจ ของบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส คือธุรกิจ โลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซครบวงจร (Flash Logistics, Flash Fulfillment, Flash Home, Flash Pay, Flash Money)
Flash Express (แฟลช เอ็กซ์เพรส) ก่อตั้งเมื่อปี 2560 ก่อนจะให้บริการในปี 2561 ซึ่งถือเป็นช่วงที่อีคอมเมิร์ซกำลังเติบโต จุดเด่นของแฟลชคือ ให้บริการตลอด 7 วันไม่มีหยุด มีบริการรับถึงบ้านฟรี เพื่อตัดปัญหาการหาหน้าร้าน รวมถึงราคาที่เริ่มต้นเพียง 15 บาท
แฟลช เอ็กซ์เพรส ยูนิคอร์นตัวแรกของไทย โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตกว่า 1,000% และได้มีการแตกบริการไปอย่างครบวงจร
และเมื่อต้นปี 2566 ปิดระดมทุนรอบซีรีส์ F สำเร็จแล้วมูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท ดันมูลค่าบริษัททะลุ 70,000 ล้านบาท รวมกับการระดมทุนซีรีย์ D+ และ E จาก SCB 10X, PTTOR, TCP และอีกหลายแห่ง
2. Ascend Money
ผู้ก่อตั้ง : ศุภชัย เจียรวนนท์
ธุรกิจ : บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ในเครือแอสเซนด์ ให้บริการ Fintech เช่น E-Wallet (True Money), สินเชื่อออนไลน์ (Ascend Nano), ประกันออนไลน์ (Ascend Assurance, Ascend Weath)
Ascend Money เป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม Ascend Group ในเครือซีพี หากพูดถึงชื่อบริษัทหลายคนคงไม่คุ้น แต่ถ้าพูดชื่อของ True Money คนต้องรู้จักแน่นอน โดย True Money เริ่มให้บริการปี 2556 และในปี 2559 สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยบริการ True Money Wallet นอกจากนี้ยังได้ Ant Financial Services Group บริษัทในเครือของ Alibaba Group เป็นพันธมิตร
ในเดือน ก.ย 2564 Ascend Money ก็มีมูลค่าเพิ่มเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์ หลังจากระดมทุนรอบล่าสุดจำนวน 150 ล้านดอลลาร์ จากบริษัท โบว์ เวฟ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ (Bow Wave Capital Management) จากสหรัฐมาลงทุนร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ทำให้บริษัทกลายเป็นฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไทย
ในปี 2566 ทรูมันนี่ ให้บริการโดย Ascend Money Group มีผู้ใช้บริการมากกว่า 50 ล้านราย ผ่านแอปพลิเคชัน ทรูมันนี่ วอลเล็ท และเครือข่ายตัวแทน (ศูนย์ TrueMoney) จำนวนกว่า 88,000 แห่งใน 7 ประเทศ
3.LINE MAN Wongnai
ผู้ก่อตั้ง : นายยอด ชินสุภัคกุล
รูปแบบธุรกิจ ของ “LINE MAN Wongnai” (ไลน์แมน วงใน) คือธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับบริการสั่งซื้อและจัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าที่เกี่ยวข้อง และเป็นแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ ครอบคลุมตั้งแต่บริการค้นหาข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม Wongnai เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง LINE MAN และ Wongnai
ในแวดวงสตาร์ทอัพของไทยได้มี ‘ยูนิคอร์น’ ตัวใหม่ในปี 2565 หลัง LINE MAN Wongnai ระดมทุน Series B กว่า 9.7 พันล้านบาท ทำให้บริษัทมีมูลค่าหลังระดมทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ (3.7 หมื่นล้านบาท) ขึ้นเป็นเทคสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดของไทยเมื่อวัดจากมูลค่าบริษัท
การระดมทุนรอบ Series B มูลค่า 265 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9.7 พันล้านบาท นำโดย GIC กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ และบริษัท LINE Corporation ในการระดมทุนรอบนี้ยังมี BRV Capital Management, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR), Bualuang Ventures และ Taiwan Mobile ร่วมลงทุนด้วย
BitKub หนึ่งในยูนิคอร์น
ย้อนไปในปี 2564 ประเทศไทยมียูนิคอร์นถือกำเนิดพร้อมกันถึง 3 ราย ภายในปีเดียวกัน ทำให้เป็นปีทองของสตาร์ทอัปไทยท่ามกลางวิกฤต นั่นคือ Flash Express Ascend Money และ Bitkub
โดยบิทคับ (Bitkub) คือ Exchange Platform สำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากกระเเสความร้อนแรงของคริปโทเคอร์เรนซีรวมถึงแพลตฟอร์มของ Bitkub ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน 2564 กลุ่ม SCBX ประกาศใช้เงินลงทุนถึง 17,850 ล้านบาท เข้าถือหุ้นสัดส่วน 51% ใน Bitkub ทำให้กลายเป็นยูนิคอร์นตัวที่ 3 ของเมืองไทยทันที
ในวันเดียวกัน ราคาเหรียญ KUB Coin ของกลุ่ม Bitkub พุ่งขึ้นเกือบ 200% จากที่เคยเทรดแค่ 30 บาทนิดๆ ต่อเหรียญ หลังประกาศข่าวดี ลากขึ้นไปเกือบ 100 บาทต่อเหรียญ เช่นเดียวกับหุ้น SCB ที่บวกจาก 123 บาทต่อหุ้นในช่วงที่มีข่าวมา มาทำจุดสูงสุดที่ 137 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 11% ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในระดับที่โหดมากสำหรับหุ้นขนาดใหญ่อย่าง SCB
ผ่านพ้นเวลากว่า 1 ไตรมาส ดีลซื้อหุ้น Bitkub ก็ยังไม่เสร็จตามประกาศ ทำให้มีข่าวลือ ‘ดีลล่ม’ ออกมาเรื่อยๆ ซึ่งก็มีปัจจัยสนับสนุนทั้งมูลค่าการลงทุนที่สูงเกินไป ตลาดคริปโทที่กำลังเข้าสู่ขาลง ไม่นานเกินรอ ด้านบมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การยกเลิกธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด
โดยให้เหตุผลว่า ถึงกระบวนการการสอบทานธุรกิจจะไม่มีอะไรผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญ แต่ Bitkub ยังมีประเด็นคงค้างที่ต้องดำเนินการหาข้อสรุปตามคำแนะนำและสั่งการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงตกลงร่วมกันยกเลิกดีลการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้