แบงก์ชาติ เตรียมแจง แนวทาง ‘การดำเนินนโยบายการเงิน’ 10.00 น.วันนี้!

แบงก์ชาติ เตรียมแจง แนวทาง ‘การดำเนินนโยบายการเงิน’ 10.00 น.วันนี้!

แบงก์ชาติ เปิดโต๊ะแถลง แนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน หลังถูกตั้งคำถาม ดอกเบี้ยไทยสูงเกินไปหรือไม่? สวนทางเศรษฐกิจชะลอตัว

ที่ผ่านมา ถูกตั้งคำถามอย่างหนัก สำหรับ “แบงก์ชาติ” หรือธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ว่า สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอในเวลานี้หรือไม่?  ที่เป็นตัวส่งผ่านทำให้ "ดอกเบี้ยเงินกู้" ของสถาบันการเงินไทย สูงเกินไป จนกระทบต่อลูกหนี้จำนวนมากในเวลานี้ ท่ามกลางกำไรแบงก์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องต่อปีกว่า 2 แสนล้านบาท

ล่าสุด ธปท.เตรียมเปิดใจ เกี่ยวกับ แนวคิด “การดำเนินนโยบายการเงิน” เวลา 10.00 น. วันนี้

โดย คุณปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน และเลขาฯ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ,คุณสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน และคุณสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธปท. ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับ "ความเข้าใจผิดที่คนคิดเกี่ยวกับ กนง." ใน พระสยาม BOT MAGAZINE  โดยจะมาไข 4 ข้อสงสัย เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน 

โดยระบุว่า …ในทุกครั้งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้าง มีทั้งผู้ได้ และเสียประโยชน์

หลายคนอาจสงสัยว่า กนง. ตัดสินนโยบายการเงินบนหลักการอะไร จำเป็นหรือไม่ที่ต้องดำเนินนโยบายตามปัจจัยด้านต่างประเทศ และต้องสอดคล้องกับทิศทางของประเทศเศรษฐกิจหลักเสมอ

 

 

เปิด 4 ข้อสงสัย

1.) กนง. ตัดสินนโยบายการเงินแล้วมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์

กนง. ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อประโยชน์ของเราทุกคน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การรักษาเสถียรภาพด้านราคา เพราะระดับราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยให้สาธารณชนคาดการณ์ภาระค่าครองชีพ และต้นทุนการผลิตได้อย่างง่ายดาย

ทำให้ประชาชนมั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอย ภาคธุรกิจวางแผนการผลิต และลงทุนได้อย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดรายได้ และการจ้างงานที่ยั่งยืน แต่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะยาวนั้น อาจทำให้มีผู้ได้ประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์ในระยะสั้น เช่น ช่วงที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ 

ในระยะสั้น ธนาคารพาณิชย์อาจได้รับกำไรจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนกู้ยืมของประชาชน และธุรกิจกลับแพงขึ้น แต่ในระยะยาว เมื่ออัตราเงินเฟ้อปรับลดลงแล้ว ประชาชน และภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์จากค่าครองชีพ และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง ส่งผลดีต่อการบริโภค และการผลิต ทำให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

2.) กนง. ตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายบนหอคอยงาช้าง โดยดูแค่ตัวเลข กนง. กำหนดนโยบายการเงินโดยรับฟังอย่างเปิดกว้าง และเข้าใจประชาชน โดย กนง. 7 ท่านประกอบด้วย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ธปท. ถึง 4 ท่าน ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ ตลาดการเงิน การธนาคาร ซึ่งมีจำนวนมากกว่ากรรมการที่เป็นผู้บริหาร ธปท. โดยตำแหน่ง 3 ท่าน (ผู้ว่าการ ธปท. และรองผู้ว่าการ ธปท. 2 คน)

ซึ่งในการตัดสินใจนโยบายนั้น นอกจากพิจารณาจากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ได้มาอย่างเป็นทางการแล้ว กนง. ยังได้รับฟังความเห็น และมุมมองของภาคธุรกิจ ผ่านการส่งคณะตัวแทนของ ธปท. เข้าไปพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจและนโยบายกับภาคธุรกิจ สมาคม องค์กร และหน่วยงานภาครัฐกว่า 800 แห่งต่อปี ตามโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจ (Business Liaison Program: BLP)  ซึ่งครอบคลุมทุกสาขาธุรกิจและทุกภูมิภาคของประเทศไทย

นอกจากนี้ ธปท. ยังรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ผ่านระบบ social listening อย่างสม่ำเสมออีกด้วย

3.) กนง. ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามข้อมูลเงินเฟ้อที่ออกมาเสมอ และทันที กนง.จำเป็นต้องพิจารณาทั้งข้อมูลเงินเฟ้อในปัจจุบันที่เกิดขึ้นแล้ว และแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าควบคู่กันในการตัดสินนโยบายการเงิน 

ภายใต้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น เปรียบเหมือนกัปตันเรือที่ต้องคิดถึงหลายปัจจัย เช่น คลื่นลม กระแสน้ำ สิ่งกีดขวางโดยรอบ ในการเร่งเครื่องหรือชะลอความเร็วเพื่อให้เรือถึงจุดหมายปลายทางอย่างนิ่มนวล และปลอดภัย 

เพราะในความเป็นจริงนั้น กว่าการเร่งเรือหรือชะลอความเร็วจะส่งผ่านไปยังเครื่องยนต์เศรษฐกิจเต็มที่ต้องใช้เวลากว่า 6-8 ไตรมาส 

ดังนั้น หากในระยะข้างหน้ายังมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อสูง กนง. จำเป็นต้องผ่อนคันเร่ง ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้ภาระค่าครองชีพ และต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงในระยะข้างหน้า

4.) กนง. ต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามปัจจัยด้านต่างประเทศ เช่น อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ หรือค่าเงินบาท

กนง. กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามบริบทของประเทศไทยเป็นหลัก ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐ แต่ กนง. จะพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินของไทยเป็นสำคัญ 

ตัวอย่างเช่น ปี 2565 ที่เงินเฟ้อสูงทั่วโลก แต่ กนง. เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี ตามบริบทเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทยที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากการเปิดเมือง และนักท่องเที่ยวที่กลับมา ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ เร่งเหยียบเบรกตั้งแต่ต้นปี 2565 ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละสูงๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวร้อนแรง และตลาดแรงงานที่ตึงตัว 

ซึ่งหาก กนง. เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วตามสหรัฐ ตั้งแต่ต้นปี โดยไม่พิจารณาความเหมาะสมของบริบทเศรษฐกิจไทย ก็จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของเอกชนเร่งสูงขึ้น การบริโภคและการลงทุนหดตัว ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสะดุดโดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลค่าเงินบาทอาจไม่เกิดประสิทธิผลมากนัก เพราะในระยะสั้น ค่าเงินบาทผันผวนจากหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยจากภายนอกประเทศ เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน และการคาดการณ์นโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก 

ขณะที่ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวภายใต้การจัดการ (managed float) ซึ่งสามารถใช้การทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (FX intervention) เพื่อลดความผันผวนที่สูงเกินไปในระยะสั้น ควบคู่กับการส่งเสริมให้ภาคเอกชนป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างยั่งยืน 

จึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลมากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งยังช่วยให้นโยบายการเงินมีความยืดหยุ่นเพื่อไปดูแลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในภาพรวม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของภาคเอกชน และเศรษฐกิจได้มากกว่า

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์