นักเศรษฐศาสตร์หวั่น ปัญหา ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ปะทุ กระทบไทยเผชิญ 'Stagflation'

นักเศรษฐศาสตร์หวั่น ปัญหา ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ปะทุ  กระทบไทยเผชิญ 'Stagflation'

นักเศรษฐศาสตร์มอง ปัจจัยเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ปีนี้เพิ่มขึ้น หวั่นกระทบเศรษฐกิจไทยเผชิญ Stagflation สะเทือนทิศทางดอกเบี้ยโลก-ไทยเปลี่ยนทิศ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์น้อยลง ย้ำไทยยังได้เปรียบจากสงครามการค้า จากการย้ายฐานการผลิตเข้าไทยเพิ่ม

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจทั่วโลก กระทบและมีผลต่อการประเมินภาพของเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการทำผลทดสอบวิกฤติภาคธนาคารช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเลือกให้ภูมิภาครัฐศาสตร์เป็นโจทย์หลักที่เสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก

ปัจจัยความกังวลที่ทั้งสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน,อิสราเอล ลามสู่ตะวันออกกลาง รวมถึงสถานการณ์จีน และไต้หวันหลังพรรค DPP ชนะเลือกตั้งอาจทำให้ความต้องการสินค้าจีนลดลง แม้ไม่เกิดสงครามระหว่างจีน-ไต้หวัน

ยิ่งความขัดแย้งเข้าใกล้ไทยมากขึ้น และมีผลเกี่ยวกับการค้าการลงทุนของไทยที่อาจกระทบ การคาดการณ์ตัวเลขส่งออกปีนี้ของไทยอาจขยายตัวระดับ 2.5%

แต่หากเสี่ยงมากขึ้น อาจไม่ได้ตามเป้าและหาก โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง อาจทำให้สถานการณ์กีดกันการค้าระหว่างจีนสหรัฐกลับมาร้อนแรง โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์,เทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ ที่อาจขัดแย้งรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปัจจุบันจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก อาจเริ่มเสี่ยงต่อจีนมากขึ้น

นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังอยู่ในโหมดการชะลอตัว อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหลายมุม โดยเฉพาะการเข้ามาดัมพ์ตลาดของจีน การส่งออกสินค้าที่มีราคาถูกเข้ามาขายในภูมิภาค รวมถึงไทย เพื่อรักษาการจ้างงาน การผลิต ล้วนเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรับมือ แม้ผู้บริโภคจะได้ราคาสินค้าถูกลง แต่ผู้ประกอบการอาจได้รับผลกระทบ จากกำลังการผลิตต่างๆ ที่ลดลงตามความต้องการสินค้า หลังถูกจีนแย่งตลาด

ปมภูมิรัฐศาสตร์ไทยเผชิญ Stagflation

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ความรุนแรง จากสงครามการค้า สงครามระหว่างประเทศมีความรุนแรงมากขึ้น สิ่งที่อาจเห็นผลกระทบตามมา คือ การส่งผ่านมาสู่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้น นำไปสู่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้ จากที่เคยคาดว่า ดอกเบี้ยจะเข้าสู่ช่วงขาลง ก็อาจเปลี่ยนทิศได้

เพราะอาจกระทบนโยบายการเงินสหรัฐ ที่อาจทำให้สหรัฐไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ตามแผน จากเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง ปัจจัยดังกล่าวอาจกระทบมาสู่ไทย ไม่สามารถปรับลดดอกเบี้ยลงได้เช่นกัน จากที่คาดว่าจะลดดอกเบี้ยได้ครึ่งหลังของปีนี้

ดังนั้น ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยที่อาจจะเกิด Stagflation เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจโตต่ำได้ มีโอกาสเห็นเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า 3% จากเดิมที่มองไว้ 3.1%

“หากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น อาจทำให้เราต้องเผชิญกับภาวะ Stagflation ที่อาจกลับมาสร้างความกังวลให้กับเศรษฐกิจไทยอีกระลอก สะท้อนการเติบโตช้าลงของเศรษฐกิจไทย แต่ไม่ได้หมายความจะถดถอย เพียงแต่โตช้ากว่าที่คาดไว้ แต่ประมาณการเราไม่ได้มองว่าจะแย่ขนาดนั้น เพราะคิดว่าแรงขับเคลื่อนต่อเศรษฐกิจไทยยังมีอยู่จากท่องเที่ยว ส่งออก และงบภาครัฐที่จะออกมาหลัง พ.ค.ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้โตได้"

‘ไทย’ได้เปรียบจากสงครามการค้า

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ปีนี้จะมีทิศทางน้อยลง เนื่องจากที่ผ่านมาผลกระทบจากปัญหาสงครามการกีดกันทางการค้าต่างๆ ทำให้หลายประเทศสูญเสียทรัพยากร ที่เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาจากสงคราม ที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในหลายประเทศ

ดังนั้น มองว่าแรงซัพพอร์ตการทำสงครามระหว่างประเทศต่างๆ ปีนี้ อาจจะน้อยลงแล้วจากปัญหาเศรษฐกิจแต่ละประเทศที่ต้องเผชิญมากขึ้น โดยเฉพาะหาก โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเชื่อว่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อาจน้อยลง ขณะที่ สงครามการค้าที่ยังคงอยู่ ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยที่ทำให้ต่างชาติย้ายฐานการผลิตใหม่เข้ามาไทยเพิ่มขึ้น