ค่าเงินบาทวันนี้ 31 ม.ค.67 ‘ทรงตัว‘ รอลุ้นประชุมเฟดในช่วงเช้าวันพฤหัส

ค่าเงินบาทวันนี้ 31 ม.ค.67 ‘ทรงตัว‘  รอลุ้นประชุมเฟดในช่วงเช้าวันพฤหัส

ค่าเงินบาทวันนี้ 31 ม.ค.67 เปิดตลาด “ทรงตัว”ที่ 35.37 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways จากตลาดส่วนใหญ่รอลุ้น ผลการประชุมเฟดในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ ในช่วงระหว่างวัน มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.10-35.80 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.37 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.55 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด และประเมินกรอบเงินบาทในช่วง 35.10- 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.30-35.45 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนแข็งค่าในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ของสหรัฐฯ ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงของราคาทองคำ หลังยอดตำแหน่งงานเปิดรับของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย (โอกาสในการลดดอกเบี้ยเดือนมีนาคม เหลือเพียง 41%) 

ค่าเงินบาทวันนี้ 31 ม.ค.67 ‘ทรงตัว‘  รอลุ้นประชุมเฟดในช่วงเช้าวันพฤหัส

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็พลิกกลับแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง หลังเงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง ตามการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ นี้ 

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้น ผลการประชุมเฟดในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวัน เราคาดว่า เงินบาทอาจผันผวนไปตาม บรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชีย ซึ่งจะขึ้นกับ รายงานดัชนี PMI ล่าสุดของจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินหยวน (CNY) และสกุลเงินเอเชียที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีน อย่าง ค่าเงินบาท ได้บ้าง นอกจากนี้ ควรจับตาการแถลง Monthly Briefing ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด เพราะหาก ธปท. มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ ทั้งอัตราการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อ ลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจสะท้อนว่า ในปีนี้ ก็มีโอกาสที่ทาง ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้บ้างในวันนี้ 

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงก่อนและหลังทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด โดยเราประเมินว่า หากเฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยและย้ำภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด ซึ่งเราประเมินว่า หากผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 5 ครั้งในปีนี้ (น้อยกว่า -125bps) ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก โดยอาจเห็นดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 104 จุด ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 4.20% ซึ่งในกรณีดังกล่าว ก็อาจเห็นเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน (อาจอ่อนค่าไปถึง 35.80 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่หากเฟดเริ่มมีการส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจกดดันให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงได้บ้าง (แต่อาจไม่มากนัก จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ) ทำให้เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 35.00-35.10 บาทต่อดอลลาร์ (เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุระดับ 35 บาทต่อดอลาร์ไปได้ง่ายในระยะสั้นนี้)

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติมและต่างระมัดระวังตัวมากขึ้น เพื่อรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Microsoft และ Alphabet รวมถึง รอลุ้นผลการประชุมเฟด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.06% ทั้งนี้ สัญญาฟิวเจอร์สดัชนี S&P500 ล่าสุดได้ปรับตัวลดลงเกือบ -0.4% หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับผลประกอบการของทั้ง Microsoft -0.4% และ Alphabet -5.5% ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นต่างปรับตัวลดลงในช่วงการซื้อ-ขายหลังตลาดปิดทำการ (After Hours)

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.16% ท่ามกลางรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส นอกจากนี้ รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า ที่ออกมา +0.1%y/y (+0.0%q/q) ซึ่งดีกว่าคาด ก็ช่วยให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปได้บ้าง 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น รวมถึงความกังวลต่อปริมาณการออกบอนด์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่คลี่คลายลง ก็มีส่วนกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ชัดเจน และยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 4.04% แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดความคาดหวังต่อแนวโน้มเฟดรีบลดดอกเบี้ยก็ตาม อย่างไรก็ดี เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้ โดยผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุน โดยเฉพาะในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง (จับตาโซนแนวต้านแรกแถว 4.20%)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง จากรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่ออกมาดีกว่าคาด ก่อนที่จะย่อตัวลงบ้าง ตามการปรับลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.3-103.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าในช่วงก่อนรับรู้รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับของสหรัฐฯ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) จะสามารถปรับตัวขึ้นแตะโซน 2,060-2,070 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่า ราคาทองคำก็ไม่สามารถทรงตัวที่ระดับดังกล่าวได้นาน หลังผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าขายทำกำไร ตามรายงานข้อมูลยอดตำแหน่งงานเปิดรับสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนแถวโซนแนวรับ 2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นผลการประชุมเฟด อีกทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก็ย่อตัวลงมาบ้างเช่นกัน 

สำหรับวันนี้ ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของจีน 

ทางฝั่งไทยนั้น เรามองว่า ควรจับตาการแถลงภาวะเศรษฐกิจรายเดือน (BOT Monthly Briefing) ของทางธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจะมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจอย่างไรบ้าง หลังล่าสุดทางกระทรวงการคลังได้มีการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2023 และ 2024 ลงพอสมควร

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ เรามองว่า ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ผลการประชุมเฟด ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงภาวะการจ้างงานของสหรัฐฯ และยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ได้ และไฮไลท์สำคัญ คือ ผลการประชุม FOMC ของเฟด ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ ราว 2.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด