ทำไมต้องกู้หนี้นอกระบบ
จะดีหรือไม่หากสถาบันการเงินปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น และมีระบบติดตามหนี้ได้มีประสิทธิภาพ อัตราดอกเบี้ยเป็นธรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ “ผู้กู้” ไม่ต้องกลายเป็นหนี้สูญ
ปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนต้องไปพึ่ง “เงินกู้นอกระบบ” คือ การเข้าถึงสินเชื่อที่ต้องเป็นไปตามบรรทัดฐานของสถาบันการเงิน ที่เป็นอุปสรรคต่อการยื่นขอสินเชื่อของผู้คนจำนวนหนึ่ง จนต้องไปพึ่งพา “นายทุนนอกระบบ” เอามาลงทุน หรือซื้อวัสดุสิ่งของที่จำเป็นในการสร้างรายได้เพิ่มให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ส่งลูกเรียน ตลอดจนการนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำ
ที่สำคัญ การช่วยเหลือไม่ให้กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีกคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นได้จริง ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีมาตรการที่แก้หนี้นอกระบบไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำ
อย่างเช่น อินเดีย ตั้งโครงการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน ให้ผู้คนในพื้นที่ชนบทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินที่ถูกกฎหมาย บังกลาเทศ ใช้ Microfinance เป็นเครื่องมือบรรเทาความยากจน และเกาหลีใต้ ตั้งกองทุนแก้หนี้ ลดหนี้ของผู้มีรายได้น้อย
ส่วนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบบของไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการติดต่อให้เจ้าหนี้ยินยอมเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและทำให้มีข้อตกลงที่พึงพอใจระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ทั้งข้อตกลงในการชำระหนี้ และดอกเบี้ยที่เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากผู้กู้จะลงทะเบียนไม่ครบถ้วนแล้ว เจ้าหนี้ยังไม่ยอมเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย
แม้ว่ารัฐบาลจะให้กระทรวงมหาดไทย เร่งหาตัวเจ้าหนี้และดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ได้มากที่สุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแก่ลูกหนี้ควบคู่ไปพร้อมกัน นโยบายแก้หนี้นอกระบบให้หมดไปของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ก็ยังห่างไกลความจริง
และดูเหมือนไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ในเร็ววัน เพราะตั้งแต่วันที่เปิดรับลงทะเบียนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ 1 ธ.ค. 2566 มียอดผู้ลงทะเบียนเป็นลูกหนี้มากกว่า 140,000 ราย มูลค่าหนี้รวมกว่า 9,800 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีข้อมูลครบและสามารถเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้ 21,000 ราย และไกล่เกลี่ยสำเร็จไปแล้ว 12,000 กรณี หรือคิดเป็น 57% ของจำนวนที่เข้าสู่กระบวนการ
มูลค่าหนี้ลดลง 670 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนมูลค่าหนี้รวม นี่ยังไม่รวมกับผู้กู้ที่ไม่ได้มาลงทะเบียน ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวผู้ให้กู้ได้ ซึ่งคาดว่าจะยังมีจำนวนไม่น้อย
คำถามคือ แล้วทำไม “คนที่กู้หนี้นอกระบบ” ถึงเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ จะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้นอย่างไรหรือไม่ จะดีหรือไม่หากสถาบันการเงินปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น และมีระบบติดตามหนี้ได้มีประสิทธิภาพ อัตราดอกเบี้ยเป็นธรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ “ผู้กู้” ไม่ต้องกลายเป็นหนี้สูญ
หน่วยงานต่างๆ ต้องเข้ามาส่งเสริมสร้างอาชีพให้ผู้กู้มีรายได้เพิ่ม และมีความสามารถในการชำระหนี้ ตัวผู้กู้เองก็ต้องมีวินัยทางการเงินและความรับผิดชอบ ที่สำคัญต้องไม่กลับไปเป็นหนี้ซ้ำ การแก้หนี้นอกระบบให้หมดไปก็อาจจะเป็นจริง แต่อาจจะต้องใช้เวลา และสถาบันการเงินและผู้กู้ต้องอดทนแก้ปัญหา “หนี้นอกระบบ” ไปด้วยกัน