'ขายสินค้า' หรือ 'รับจ้างทำของ' เช็กให้ชัวร์! ต้องเสียภาษีมาตราไหน
ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มาเช็กให้ชัวร์ก่อนว่า ลักษณะการดำเนินธุรกิจค้าขายสินค้าของคุณ จัดอยู่เงินได้พึงประเมินที่เท่าไหร่ หรือมาตราไหนกันแน่ และทราบไหมว่า การขายสินค้า กับ รับจ้างทำของ ต่างกันอย่างไร
รายได้จากการค้าขายสินค้าในนามบุคคลธรรมดา ซึ่งมีทั้งที่รับมาขายไป หลายรายรับผลิตสินค้าและใช้วัสดุของตนเองด้วย และบางรายก็รับผลิตโดยใช้วัสดุของผู้ว่าจ้าง ซึ่งรู้หรือไม่ว่าลักษณะการดำเนินงานของกิจการแต่ละแบบ เวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องยื่นภาษีคนละมาตรากัน
ดังนั้น ตอนนี้ใครที่กำลังจะยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มาเช็กให้ชัวร์ก่อนว่าลักษณะการดำเนินธุรกิจค้าขายสินค้าของคุณ จัดอยู่เงินได้พึงประเมินที่เท่าไหร่ หรือเรียกว่ามาตราไหนกันแน่ ดังจะอธิบายความแตกต่างของลักษณะการขายสินค้ากับรับจ้างทำของได้ตามมาตราดังนี้
- เงินได้พึงประเมินที่เข้าลักษณะขายสินค้า
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 มาตรา 40(8) ได้แก่ รายได้ ค่าจ้างที่ได้จากการทำธุรกิจ และมีต้นทุนในการทำงานสูงคือมีค่าใช้จ่ายในการขายสินค้าหรือรับงานทั้งปี เมื่อนำมารวมกันแล้วมีจำนวนเงินที่สูงกว่า 40% ของรายได้จาการขายสินค้าทั้งปี
หรือหากเป็นการประกอบธุรกิจที่ต้นทุนไม่สูง แต่ยังถือเป็นการประกอบธุรกิจมาตรา 40(8) จะต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีสถานที่ตั้งสำนักงาอาคารชัดเจนเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง หรือมีสัญญาเช่า มีการจ้างลูกน้อง ลูกจ้างมีการลงทุนในการจัดหาอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายของร้านค้า สำนักงาน มีการจ่ายประกันสังคม มีค่าใช้จ่ายในการรับรองลูกค้า มีหนังสือจากบริษัทในการทำสัญญาติดต่อธุรกิจกัน มีการจ่ายค่านายหน้าในการดำเนินงานหาลูกค้า
ดังนั้น ลักษณะการค้าขายสินค้าแบบซื้อมาขายไป หรือรับผลิตสินค้าและใช้วัสดุของตนเอง โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกิน 40% หรือมีอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีลูกน้องค่าแรงที่ต้องจ่าย มีค่าเช่าสถานที่ เป็นต้น จึงจัดอยู่เงินได้พึงประเมินที่ 8 หรือมาตรา 40(8) ซึ่งในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาตรานี้ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือ แบบหักค่าใช้จ่ายตามจริง (ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย) และหักแบบเหมา 60%
- เงินได้พึงประเมินที่เข้าลักษณะรับจ้างทำของ
- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 มาตรา 40(2) ได้แก่ ค่าจ้างทั่วไป หมายถึงถ้าเป็นค่าจ้างทำของหรือให้บริการในนามบุคคลธรรมดา ที่ออกแค่แรงเพียงอย่างเดียว จะถือว่าอยู่ในมาตรา 40(2) ให้คำนวณภาษีตามอัตราภาษีก้าวหน้า สูงสุด 35% โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% แต่เมื่อรวมหักค่าใช้จ่ายจากเงินประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 แล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 มาตรา 40(7) ได้แก่ ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ หมายถึงต้องเป็นค่าจ้างทำของที่ผู้รับจ้างมีทีมงานเหมางานทั้งหมด ทั้งแรงงาน วัสดุอุปกรณ์ จัดการสัมภาระที่สำคัญนอกเหนือจากอุปกรณ์ เช่น อิฐ หิน ปูน ทราย สามารถนำมาคำนวณภาษีหักแบบเหมา 60% หรือหักตามจริงได้
ตัวอย่างเช่น
- ธุรกิจที่รับจ้างผลิตสินค้าให้โดยที่ผู้รับจ้างไม่ได้ผลิตขาย และวัสดุเป็นของผู้ว่าจ้าง ลักษณะนี้ถือเป็นการรับจ้างทำของ มาตรา 40(2) แต่ถ้าผู้รับจ้างเป็นคนหาวัสดุเอง ลักษณะนี้ถือเป็นการเหมารับจ้างทำของ มาตรา 40(7)
- ผู้รับจ้างผลิตสินค้าขายและวัสดุเป็นของผู้รับจ้าง ลักษณะนี้ถือเป็นการขายสินค้า มาตรา 40(8)
- ผู้รับจ้างผลิตสินค้าขายแต่วัสดุเป็นของผู้ว่าจ้าง ลักษณะนี้ถือเป็นการรับจ้างทำของ มาตรา 40(2)
สรุป... ยังมีภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
นอกจากเงินได้พึงประเมินแล้ว การขายสินค้าและรับจ้างทำของ ยังมีความแตกต่างกันในเรื่องของภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยการ “ขายสินค้า” และ “รับจ้างทำของ” แบบไหนต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ดังนี้
- ขายสินค้า คือการขายสินค้าทั้งที่ซื้อมาขายไป รวมถึงผลิตขายและใช้วัสดุของตนเอง ไม่จัดเป็นงานบริการ ดังนั้น นิติบุคคลผู้ซื้อไม่สามารถหัก ณ ที่จ่ายได้ ในกรณีที่ซื้อสินค้าจากผู้ขายสินค้า
- ค่าจ้างทำของ คือการจ้างให้ผู้อื่นทำให้ และต้องได้ของกลับมา โดยผู้รับจ้างมีแรงงาน อุปกรณ์ ทั้งแบบที่ผู้จ้างนำวัตถุดิบไปให้ หรือไม่มีวัตถุดิบให้จ่ายเงินอย่างเดียว เรียกว่าจ้างทำของเช่นกัน ซึ่งลักษณะนี้บริษัทนิติบุคคลผู้จ้างหากจ้างทำของหรือจ้างบริการ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3% และนำส่งส่วนที่หักไว้แก่กรมสรรพากรภายในวันที่ 7-15 ของเดือนถัดไป ยกเว้นค่าจ้างต่อสัญญาไม่เกิน 1,000 บาท ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
แต่ถ้าหากเป็นสัญญาระยะยาว ยอดเกิน 1,000 บาท จะต้องหักภาษี ณ ที่ จ่าย 3% และผู้ว่าจ้างออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้ผู้รับจ้างทุกครั้งด้วย
ดังนั้น อาจพอสรุปได้คือ กรณีที่เกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องแยกตามประเภทการรับจ้าง มาตรา 40(2) 40(7) และ 40(8) ส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย นิติบุคคลผู้จ้างจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3% สำหรับค่าจ้างทำของก่อนจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้าง แต่ขายสินค้าไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting