วีซ่าติดต่อธุรกิจระยะสั้นสำหรับนักธุรกิจญี่ปุ่น: ข้อพึงระวังเรื่องการทำงาน
ฟรีวีซ่า นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นเป็นกรณีพิเศษ อยู่ได้ไม่เกิน 30 วัน สำหรับการเดินทางตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569
กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศยกเว้นการตรวจลงตรา (ฟรีวีซ่า) นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นเป็นกรณีพิเศษ อยู่ได้ไม่เกิน 30 วัน สำหรับการเดินทางตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
· ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่น
· เข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราว ไม่เกิน 30 วัน
· เพื่อติดต่อธุรกิจหรือทำงานอันมีลักษณะจำเป็นหรือเร่งด่วนหรืองานเฉพาะกิจ โดยจะต้องยื่นเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับการติดต่อ
ธุรกิจหรือการทำงานอันจำเป็นเร่งด่วน เช่น เอกสารนัดหมาย จดหมายเชิญหรือหนังสือรับรองที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการอนุญาตของเจ้าหน้าที่
อนึ่ง การพิจารณาให้ฟรีวีซ่ายังคงเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าประเทศที่จะดำเนินการตรวจสอบเอกสารที่นักธุรกิจนำมาแสดง กรณีเห็นสมควรก็จะประทับตรา “ผ 30 (ม.17)” ในหนังสือเดินทางและอนุญาตให้พำนักในประเทศได้ครั้งละ 30 วัน
การประกาศให้ฟรีวีซ่านักธุรกิจชาวญี่ปุ่นเป็นกรณีพิเศษนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการช่วยลดขั้นตอนในการเดินทางเข้าประเทศของนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น เนื่องจากโดยปกติแล้ว นักธุรกิจที่จะเข้ามาติดต่อธุรกิจระยะสั้นจะต้องทำการขอวีซ่าคนอยู่ชั่วคราว ประเภท Non-Immigrant Type B Visa (Business) จากสถานทูตหรือกงสุลไทยก่อนจะเดินทางเข้าประเทศไทย ดังนั้นการประกาศให้ฟรีวีซ่าจะอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาติดต่อธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ทันทีโดยไม่ต้องทำการขอวีซ่า อันจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ ลักษณะงานหรือกิจกรรมทางธุรกิจที่จะเข้ามาทำในประเทศไทย ว่าจะเข้าข่ายเป็น “การทำงาน” ตามความหมายในพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (“พรก.”) และ พรก. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2561 หรือไม่ เพราะหากถือว่าเป็นการเข้ามาทำงาน ก็ต้องมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายนี้ ขณะเดียวกัน หากเป็นกรณีของการทำงานอันมีลักษณะจำเป็นหรือเร่งด่วนหรืองานเฉพาะกิจนั้น กรมการจัดหางานได้มีประกาศกำหนดลักษณะงานที่จะเข้าข่ายกรณีดังกล่าวนี้ไว้อย่างชัดเจน อาทิเช่น งานจัดประชุมอบรม บรรยายพิเศษด้านวิชาการ การตรวจสอบภายในเป็นครั้งคราว ตรวจสอบติดตามผลและแก้ไขปัญหาด้านเทคนิค ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ตรวจสอบหรือปรับปรุงกระบวนการผลิต ติดตั้งตรวจสอบทดสอบหรือซ่อมแซมเครื่องจักรกล งานที่ปรึกษาในการซ่อมเครื่องจักร เป็นต้น กรณีเหล่านี้ คนต่างด้าวต้องแจ้งต่อนายทะเบียนกรมการจัดหางาน โดยการยื่นแบบแจ้งการทำงานจำเป็นหรือเร่งด่วนหรืองานเฉพาะกิจ ตามมาตรา 61 ของพรก. (แบบ บต. 34) ก่อนที่จะเริ่มทำงานได้ โดยมีระยะเวลาการทำงานไม่เกิน 15 วัน และหากงานยังไม่แล้วเสร็จภายใน 15 วันก็สามารถแจ้งขยายได้อีกไม่เกิน 15 วัน รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน
นอกจากนี้ ประเด็นที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือ การติดต่อธุรกิจอะไรบ้างที่จะกระทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการทำงานและนักธุรกิจจะสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน เนื่องจากตามพรก. ได้ให้คำนิยามของการ “ทำงาน” หมายถึง “การประกอบอาชีพใดๆไม่ว่าจะมีนายจ้างหรือไม่” ดังนั้น การพิจารณาถึงลักษณะการติดต่อธุรกิจว่าจะกระทำได้แค่ไหนเพียงใดอันจะไม่ถือเป็นว่าการประกอบอาชีพ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบรัดกุมและเป็นรายกรณีไป เพราะทางกรมการจัดหางานยังไม่ได้มีการออกกฎระเบียบหรือประกาศใดๆมารองรับหรืออธิบายขยายความในส่วนของลักษณะงานการติดต่อธุรกิจของนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่องฟรีวีซ่าโดยเฉพาะ ดังนั้น หากกรมการจัดหางานพิจารณาเห็นว่ากิจกรรมทางธุรกิจดังกล่าวเป็นการทำงานและจะต้องขอใบอนุญาตทำงานแบบทั่วไป ก็อาจจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของการให้ฟรีวีซ่ากับนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่อำนวยความสะดวกในการที่จะเข้ามาติดต่อธุรกิจและปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องอย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้ หากบริษัทหรือองค์กรใด ประสงค์ที่จะเชิญนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศ นอกจากเรื่องฟรีวีซ่าแล้วจะต้องพิจารณาว่ารายละเอียดลักษณะงานหรือกิจกรรมทางธุรกิจที่นักธุรกิจจะเข้ามาทำในประเทศนั้นเป็นการทำงานหรือไม่ สามารถดำเนินการติดต่อธุรกิจโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงานได้หรือไม่ หรือเข้ามาเพื่อทำงานอันมีลักษณะจำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการแจ้งต่อนายทะเบียนของกรมการจัดหางานให้ถูกต้องต่อไป หรือ เป็นการทำงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตทำงานแบบทั่วไปแทน ซึ่งฟรีวีซ่าเพื่อการติดต่อธุรกิจระยะสั้นนี้จะไม่สามารถนำไปขอรับใบอนุญาตแบบทั่วไปได้ โดยในกรณีขอรับใบอนุญาตทำงานแบบทั่วไปนั้น จะต้องขอวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราวเพื่อการทำงาน ประเภท Non-Immigrant Type B (Working/Employment) จากสถานทูตไทยหรือกงสุลไทย ณ ต่างประเทศแทน