พักบิตคอยน์ มาคุยกับ ‘ท๊อป บิทคับ’ ในวันที่ (ยัง) ไม่เชื่อเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์

พักบิตคอยน์ มาคุยกับ ‘ท๊อป บิทคับ’  ในวันที่ (ยัง) ไม่เชื่อเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์

คุยกับ "ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งบิทคับแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทฯ เจ้าตลาดรายแรกๆ ของประเทศไทยตั้งแต่เรื่องแนวคิดการทำงาน ชีวิตประจำวัน รวมทั้งการสร้างผู้นำรุ่นใหม่สไตล์ท๊อป ผ่านคอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิดของกรุงเทพธุรกิจ

“ตื่นเช้ามาผมจะเช็กประสิทธิภาพการนอนก่อนจากสองอย่างคือแหวนออร่า ริง (Oura Ring) และนาฬิกาอัจฉริยะวูป แทร๊ก (Whoop Track) จากนั้นก็จะเข้าสแลค (Slack) ดูว่ามีข้อความหรืองานไหนที่ผมต้องรีบตอบเพื่อที่จะปลดล็อกให้คนอื่นทำงานต่อได้ เสร็จแล้วก็ลุกไปดื่มน้ำผัก ไปอาบน้ำ แต่งตัวแล้วก็ไปทำงาน”

คือคำตอบของ “ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งบิทคับแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทฯ เจ้าตลาดรายแรกๆ ของประเทศไทยเมื่อถามถึงกิจวัตรประจำวันของเขา ในฐานะซีอีโอที่ต้องดูแลพนักงานในบริษัทหลายพันชีวิต

พักบิตคอยน์ มาคุยกับ ‘ท๊อป บิทคับ’  ในวันที่ (ยัง) ไม่เชื่อเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์

เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

เขาเล่าต่อว่า เมื่อก่อนถ้าตื่นเช้ามาแล้วไม่ได้ดื่มกาแฟจะไม่มีอารมณ์อยากคุยกับใครเลย จนติดว่าตื่นเช้ามาต้องรีบไปหากาแฟดื่ม แต่พอปีนี้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้นจึงพยายามหาเครื่องดื่มที่ให้ผลลัพธ์คล้ายกาแฟคือสดชื่นแต่ไม่ทำให้ติดงอมแงม เลยลองหันมาดื่มน้ำผักปั่นทุกเช้า รวมทั้งยังเริ่มทดลองเป็น Pescatarian หรือผู้ที่ไม่รับทานเนื้อสัตว์ใหญ่

“จริงๆ ผมมีพี่โก้ ชานนท์ [เรืองกฤตยา] ซีอีโอของอนันดา เป็นต้นแบบ พี่เขาอายุ 50 ปีแล้วแต่ยังดูเหมือน 30 ปลายๆ อยู่เลย ผมก็เลยถามพี่โก้ว่าทำไมสุขภาพแข็งแรงขนาดนี้ เขาบอกว่าเป็น Pescatarian ตั้งแต่อายุ 25 ปี ไม่ทานเนื้อสัตว์ใหญ่มา 25 ปีแล้ว เราก็เลยมองว่า เอ้ยเราก็อายุ 34 ปีแล้ว น่าจะต้องจริงจังกับเรื่องสุขภาพไม่งั้นมันอาจถดถอยไปมากกว่านี้แน่”

ตัดสินใจแค่เรื่องสำคัญ

นอกจากนั้น ในฐานะผู้บริหารที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญต่อชีวิตของพนักงานหลายพันคน ท๊อปเล่าให้ฟังว่า เขาจะเลือกใส่สูทลักษณะเดิมทุกวันเพื่อลดการตัดสินใจที่ไม่จำเป็นออกไปให้ได้มากที่สุด “ทุกวันเราจะมี Conscious Mind หรือจิตสำนึกที่เป็นโควต้าการตัดสินใจแบบมีสติครบอยู่ 5% ต่อวันเท่านั้นส่วนอีก 95% จะเป็น Subconscious Mind หรือจิตใต้สำนึกในการตัดสินใจโดยใช้ความเคยชิน ดังนั้นเราต้องเก็บไอ้ 5% นั้นไว้กับเรื่องสำคัญจริงๆ เท่านั้น”

พักบิตคอยน์ มาคุยกับ ‘ท๊อป บิทคับ’  ในวันที่ (ยัง) ไม่เชื่อเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์

“พอบริษัทใหญ่ขึ้นแล้ว มันสำคัญมากที่เราต้องตัดสินใจให้น้อยลงแต่คุณภาพของการตัดสินใจต้องมากขึ้น แปลว่าเมื่อเรามีพนักงานในบริษัทเป็นพันคนแล้ว เราไม่ต้องตัดสินใจเป็นร้อยครั้งต่อวันหรือห้าสิบครั้งต่อวันมันเยอะเกินไป”

“เราต้องตัดสินใจแค่สองสามอย่างแต่สองสามอย่างนี้มีผลกระทบต่อบริษัทมหาศาล ผมว่าตัดสินใจแบบถูกต้องแม่นยำดีกว่าไปตัดสินใจเยอะๆ จนเราเหนื่อยกับการตัดสินใจ แล้วดันผิดพลาด”

เขาเล่าต่อว่า “ผมเรียนรู้มาจากบทเรียนในอดีต ปีที่ผ่านมาเราเน้นจำนวนการทำงานเยอะๆ เน้นปริมาณ (Quantity) ไม่เน้นคุณภาพ (Quality) อดหลับอดนอน นอนไม่พอ

ปรากฏว่าทำทุกอย่างเต็มไปหมดแต่ไม่ได้ดีต่อบริษัทสักอย่าง บริษัทเสียหายมหาศาลจากการตัดสินใจผิดพลาด บางทีมันจะดีกว่าถ้าเราอยู่นิ่งๆ มีสติ ตัดสินใจให้น้อยแต่แม่นยำจะส่งผลลัพธ์ที่ดีกับบริษัทในระยะยาวมากกว่า”

พักบิตคอยน์ มาคุยกับ ‘ท๊อป บิทคับ’  ในวันที่ (ยัง) ไม่เชื่อเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์

ความผิดพลาด สร้าง ‘ผู้นำในอนาคต’

เมื่อจำนวนการตัดสินใจต่อวันลดน้อยลงหมายความว่าต้องผลักภาระการตัดสินใจให้คนอื่น ดังนั้นเราจึงถามต่อว่าจะมั่นใจกับการตัดสินใจของทีมได้อย่างไร เขาตอบว่า

“ในยุคปัจจุบันถ้าตัดสินใจแล้วเสียหาย 100 ล้านผลกระทบมันน้อยกว่าช่วงแรกที่ตัดสินใจแล้วเสียหาย 1 ล้านบาท คือ 1 ล้านบาทในยุคแรก มันมีความหมายมากกว่า 100 ล้านในปัจจุบันเมื่อเทียบกับขนาดของเราตอนนี้”

“เพราะฉะนั้น พอเรามีพื้นที่สำหรับความผิดพลาด (Margin of Error) ได้บ้าง ควรจะกระจาย (Decentralize) อำนาจการตัดสินใจให้คนในองค์กรเราเรียนรู้ที่จะผิดพลาด เรียนรู้ที่จะโตขึ้นมาเป็นผู้นำในอนาคต มันเป็นการทำให้โครงสร้างผู้นำของเรา (Leadership Structure) แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ”

แต่เขาก็เสริมว่า ถ้าพนักงานคนนั้นยังมีประสบการณ์ไม่มาก (Junior) อาจจำเป็นต้องจ้างผู้จัดการ (Manager) จากข้างนอกเพื่อเข้ามาฟูมฟักให้เขาสามารถเป็นผู้นำในอนาคต (Future Leader) ได้อย่าสมบูรณ์เพื่อดึงค่าเฉลี่ยของความสามารถ (Talent Bar) บริษัทให้สูงขึ้น

พักบิตคอยน์ มาคุยกับ ‘ท๊อป บิทคับ’  ในวันที่ (ยัง) ไม่เชื่อเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์

'ท๊อป จิรายุส' ผู้ (ยัง) ไม่เชื่อเรื่อง 'เวิร์คไลฟ์บาลานซ์'

ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ท๊อปเล่าว่าเขาทุ่มเทเวลาทั้งหมดของชีวิตไปกับการทำงาน เราจึงถามความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดความสมดุลระหว่างการทำงานและเวลาพักผ่อนหรือ “เวิร์คไลฟ์บาลานซ์” เขาตอบทันทีว่า แนวคิดเรื่องการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ในช่วงไหนของชีวิต

“สำหรับแนวคิดผมตอนนี้คือตั้งแต่ผมเกิดมา ผมยังไม่เคยเห็นใครที่ประสบความสำเร็จเกินค่าเฉลี่ยแล้วบอกว่าเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ดีสักคน อย่างคริสเตียโน โรนัลโด (Cristiano Ronaldo) ก็ไปสนามคนแรกและออกจากสนามเป็นคนสุดท้าย ทุกวันนี้อายุ 38 เขายังเป็นนักเตะที่วิ่งเร็วที่สุดและกระโดดสูงที่สุด หรืออีลอน มัสก์ (Elon Musk) เขาก็ยังนอนในพื้นโรงงานของตัวเองอยู่เลย”

“กลับกันถ้าลองไปถามเจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bazos) ตอนนี้สิ มั่นใจเลยว่าเขามีเวลาให้ทุกคนทั้งครอบครัว (หัวเราะ) เพราะเกษียณจากอเมซอน (Amazon) แล้วถูกไหมครับ แต่ถ้าถามว่าในช่วงก่อตั้งบริษัทเขาจะมีเวลามานั่งกินข้าวตอนเช้ากับลูกตอน 10 โมงไหม คงไม่ใช่เพราะมันเป็นเวลาที่เขาหอบหนังสือไปส่งตามบ้านลูกค้าเอง”

ดังนั้นท๊อปจึงสรุปว่า “อย่าเปรียบเทียบเวลาของแต่ละคน เพราะมันไม่เหมือนกัน ช่วงชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องใช้กลยุทธ์ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสมของตัวเอง ทั้งหมดอยู่ที่เป้าหมายและนิยามความสำเร็จของเราว่าคืออะไร”

นิยามความสำเร็จของ ‘จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา’

เราถามต่อทันทีว่า “แล้วความสำเร็จของคุณคืออะไร” ท๊อปเล่าว่าเป้าหมายและนิยามความสำเร็จของเขาเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงของชีวิต อย่างตอนปริญญาตรีคืออยากสอบเข้ามหาวิทยาลัยเข้าอ๊อกฟอร์ด (Oxford University) ให้ได้ ตอนเข้าไปเรียนได้แล้วเป้าหมายคือเรียนให้จบ

ส่วนตอนทำบริษัทเกี่ยวกับบิตคอยน์ที่แรก (Coins.co.th) ตอนนั้นก็คิดเพียงแค่ว่าอยากพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นคนเดียวที่คิดถูกเกี่ยวกับสินทรัพย์ดังกล่าว ขณะที่เป้าหมายตอนทำบิทคับตอนแรกคือต้องการสร้างยูนิคอร์นตัวแรกให้ได้ “จะเห็นว่าแต่ละช่วงก็มีเป้าหมายของมัน แต่ผมจะมีแค่เป้าหมายเดียวในแต่ละช่วงของชีวิต”

พักบิตคอยน์ มาคุยกับ ‘ท๊อป บิทคับ’  ในวันที่ (ยัง) ไม่เชื่อเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์

ไม่ต้องออกจากคอมฟอร์ตโซนก็ได้ แต่ขยายให้กว้างขึ้น

เมื่อถามเขาต่อว่า คุณใช้ชีวิตในฐานะท๊อป จิรายุส มากว่า 34 ปี มีคติประจำใจที่ติดตัวมาตั้งแต่ตอนเป็น “เด็กชายท๊อป” หรือไม่ เขาตอบทันทีว่า มีอยู่สองอย่างคือทำสิ่งที่กลัวหนึ่งอย่างทุกวันและอย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ

“CEO ย่อมาจาก Chief Everything Officer คือเราต้องทำทุกอย่างที่ไม่มีใครทำเพื่อให้องค์กรรอด เราต้องชินกับการทำอะไรใหม่ๆ ที่อยู่นอกคอมฟอร์ตโซน เช่นการพูดต่อหน้าคน เมื่อก่อนเป็นสิ่งที่ผมกลัวมากๆ แต่เดี๋ยวนี้ ทำไปเรื่อยๆ คอมฟอร์ตโซนของเราจะใหญ่ขึ้น อะไรที่ทำเกิน 1,000 ครั้ง เราจะเก่ง มนุษย์เราจะปรับตัวได้มหาศาล”

เขาอธิบายต่อว่า “ลองวิ่งทุกวันสิครับ ไม่นานเราจะวิ่งได้ไกลมาก มนุษย์จะปรับตัวกับสิ่งที่ทำทุกวันได้อย่างดี เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะเป็นคนที่เก่งขึ้น เราต้องทำหนึ่งอย่างที่เรากลัวทุกวัน”

“อย่างที่สองคืออย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ หลายคนกลัวแม้กระทั่งจะขอความช่วยเหลือ จริงๆ ผมว่าทุกคนจะเซอร์ไพรส์ว่า ถ้าคุณเริ่มเทคแอคชัน กล้าพูด กล้าขอจริงๆ คนยินดีที่จะช่วยเรามากกว่าที่คิด ไม่มีใครประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวของคุณเอง มันอยู่ที่คอมมูนิตี มันอยู่ที่สภาพแวดล้อม อยู่ที่เน็ตเวิร์คของเราที่จะต้องสร้างและกล้าที่จะขอความช่วยเหลือ”

ซีอีโอวัย 34 ผู้นี้แนะนำว่า หนึ่งเน็ตเวิร์คที่สำคัญของบรรดาผู้บริหารคือ Young Presidents' Organization (YPO) คอมมูนิตีของผู้ก่อตั้งบริษัททั่วโลกที่มารวมตัวเพื่อช่วยเหลือแชร์ข้อมูลซึ่งกันและกัน

“เรามีแค่ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ดังนั้นต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มี (Leverage Resource) ของทุกคนที่เรารู้จัก เพราะฉะนั้น YPO กลุ่มของผู้ประกอบการที่มีความคิดคล้ายๆกัน อันนี้ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งถ้าใครร่วมได้ก็แนะนำครับ”

พักบิตคอยน์ มาคุยกับ ‘ท๊อป บิทคับ’  ในวันที่ (ยัง) ไม่เชื่อเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์

มาถึงตรงนี้เราทราบดีว่ากว่าชายที่อยู่ตรงหน้าเราจะพาบริษัทของเขามาจนถึงทุกวันนี้ยากขนาดไหน ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทบิตคอยน์แห่งแรกของตัวเองในปี 2013 แล้วล้มลุกคลุกคลานจนกลายมาเป็นบิ๊กเทคฯ ด้านบิตคอยน์รายแรกๆ ของประเทศไทย เราจึงถามเขาว่าทุกวันนี้มีเรื่องที่ยังก้าวข้ามไม่ได้หรือไม่ เขายิ้มแล้วตอบว่า “เยอะมากครับ ผิดพลาดทุกปี แล้วก็ยังเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกปี”

“ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เราไม่เคยเล่นกีฬาเดิมเลย หลายคนมักคิดว่าบิทคับใช้เวลาแค่ 3-4 ปีก็ได้เป็นยูนิคอร์นแล้ว แต่จริงๆ ผมเริ่มทำบริษัทเกี่ยวกับบิตคอยน์มาตั้งแต่ปี 2013 ผ่านหลายเหตุการณ์ ทั้งแบงก์ชาติ สรรพกร ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) และกลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) เรียกพบ”

“ผมบอกเลยว่ามันไม่ง่าย ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จแบบข้ามคืน (Overnight Success) ทั้งหมดต้องใช้ความอดทน ความเพียรพยายาม และความสม่ำเสมอ และถึงแม้ว่าจะเจอเรื่องยากขนาดไหนผมจะคิดเสมอว่าตื่นมาเช้ามาก็เป็นวันใหม่เราก็ลุยใหม่อีกทีหนึ่ง ทำต่อเนื่องอย่ายอมแพ้ง่ายๆ”

พักบิตคอยน์ มาคุยกับ ‘ท๊อป บิทคับ’  ในวันที่ (ยัง) ไม่เชื่อเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์

ก่อนบทสนทนาจะจบลงเราไม่ลืมที่จะถามคำถามสำคัญของคอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิดที่ว่า หากย้อนกลับไปช่วงหนึ่งของชีวิตได้อยากกลับไปช่วงไหนเพราะอะไร เขาตอบกลับมาแบบติดตลกว่า

“อยากกลับไปช่วงศึกแดงเดือดเมื่อ 15 ปีที่แล้ว คือช่วง ‘แมนเชสเตอร์ 2009’ ครับ ตอนนั้นบิตคอยน์ออกมาใหม่พอดี คือเหรียญละประมาณ 0.003 ดอลลาร์ สิ่งที่อยากบอกตัวเองคือซื้อบิตคอยน์เต็มที่เลย เพราะมาตอนนี้เหรียญละประมาณ 62,000 ดอลลาร์แล้ว (หัวเราะ)”

ภาพ: ฐานิสส์ กงจก