'ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม' ที่จ่ายไป มีภาษีอะไรที่เกี่ยวข้อง
เมื่อมีการกู้เงิน ก็ต้องมี "ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม" และย่อมมีภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งผู้จ่ายดอกเบี้ยและผู้รับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ไม่ว่าจะเป็น บุคคลธรรมดา นิติบุคคล และสถาบันการเงิน ก็ต้องมีประเด็นที่เกี่ยวกับภาษีทั้งสิ้น
เมื่อมีการทำธุรกิจและเปิดบริษัทจัดตั้งเป็นนิติบุคคล สิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินกิจการก็คือ "เงินทุน" ซึ่งหากต้องใช้เงินทุนในช่วงที่ยังมีรายรับไม่มาก หรือมีการขยายกิจการ ก็อาจต้อง "กู้ยืมเงิน" เข้ามาเพื่อบริหารจัดการกิจการของตนเอง
และแน่นอนว่าเงินที่กู้ยืมมาจะต้องเสีย "ดอกเบี้ย" ซึ่งการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2)(ก)
ดังนั้น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจึงมี "ภาษี" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งในมุมของผู้จ่ายดอกเบี้ยและผู้รับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล และสถาบันการเงิน จะต้องมีประเด็นที่เกี่ยวกับภาษีทั้งสิ้น ดังจะอธิบายได้ต่อไปนี้
กิจการกู้ยืมเงินจากกรรมการ
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในกรณีที่กิจการได้มีการกู้ยืมเงินจากกรรมการบริษัท ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัท ก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในกิจการ หรือการกู้ยืมเงินมาใช้ลงทุนขยายกิจการ บริหารจัดการงานของบริษัท
กิจการผู้กู้ยืมต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่กรรมการหรือบุคคลที่ให้กู้ยืม ตามกฎหมายกำหนดให้กิจการผู้กู้ยืมที่เป็นนิติบุคคลจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของเงินได้ค่าดอกเบี้ย ตามมาตรา 50(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายแบบ ภ.ง.ด.2 จากนั้นสามารถนำดอกเบี้ยที่จ่ายไป นำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ เพื่อใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในส่วนของกรรมการผู้ให้กู้ยืมเงิน เมื่อได้รับดอกเบี้ยกู้ยืมเงินจากกิจการผู้กู้ จะต้องนำดอกเบี้ยไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถเลือกได้ 2 แนวทาง คือ
1.ให้กิจการผู้กู้ยืมเงินหัก ณ ที่จ่าย 15% เสียภาษีเลย โดยไม่ต้องนำดอกเบี้ยที่ได้รับไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นๆ เพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากกิจการผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องนำส่งเงินจำนวนนี้ให้กับสรรพากรอยู่แล้ว
2.หรือนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี
กิจการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน
หากกิจการได้มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท การจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่สถาบันการเงิน กิจการไม่ถือว่าอยู่ในบังคับที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้
กิจการกู้ยืมเงินจากบริษัทที่อยู่ในเครือ
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีกิจการกู้ยืมเงินจากบริษัทที่อยู่ในเครือ ถือเป็นช่องทางการหาเงินทุนที่รวดเร็วในการได้เงินทุนมา เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอนุมัติหลายขั้นตอนเหมือนการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งการจ่ายดอกเบี้ยกู้ยืมเงินให้กับบริษัทที่อยู่ในเครือ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 1% ของเงินได้ค่าดอกเบี้ย
หรือถ้าหากกิจการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ก็อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 1% เช่นกัน
- ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีที่จัดเก็บจากธุรกิจเฉพาะที่เข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ธนาคาร ธุรกิจเงินทุน ซึ่งในกรณีที่กิจการกู้ยืมเงินจากบริษัทในเครือ ไม่ว่าผู้ให้ยืมเงินจะนำเงินของตนเอง หรือยืมจากคนอื่นมาให้กิจการยืมก็ตามดอกเบี้ยที่บริษัทในเครือผู้ให้ยืมเงินได้รับนั้น ไม่ต้องนำมารวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
บุคคลธรรมดาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่บุคคลธรรมดา
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กิจการที่ทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา เมื่อมีการกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น กิจการผู้จ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ให้กู้ยืมเงินไม่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ เนื่องจากผู้มีสิทธิหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ จะต้องประกอบกิจการในนามนิติบุคคลเท่านั้น
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้ได้รับดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงิน จะถือเป็นรายได้ของผู้ให้กู้ยืม จำเป็นต้องนำมารวมเพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีเท่านั้น เนื่องจากผู้รับดอกเบี้ยเงินกู้จากบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช้นิติบุคคล จึงไม่อยู่ในมาตรา 43(8) ซึ่งไม่สามารถเลือกให้หัก ณ ที่จ่ายเป็น final ได้
สรุป... อัตราการหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
ดังนั้น สามารถสรุปภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายและรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ซึ่งจัดอยู่ประเภทเงินได้ 40(4)(ก) เฉพาะดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมได้ดังนี้
- ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สถาบันการเงิน จ่ายดอกเบี้ยกูยืมเงินให้กับผู้รับเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทย ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% และยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.2
- ผู้จ่ายเงินที่เป็นผู้จ่ายดอกเบื้อเงินกู้ยืมทุกรายให้กับผู้รับเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่อยู่ในต่างประเทศ ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% และยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.2
- ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ไม่รวมสถาบันการเงิน) จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้กับผู้รับเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย (ไม่รวมสถาบันการเงิน) ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% และยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.53
- ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ไม่รวมสถาบันการเงิน) จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้กับมูลนิธิหรือสมาคม (ไม่รวมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด) ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% และยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.53
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting