ตลาดหุ้นสหรัฐ All Time High แล้วยังมีโอกาสลงทุนอะไรในสหรัฐ?
ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงร้อนแรงจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากกลุ่มเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2023 หุ้นเทคโนโลยีให้ผลตอบแทนถึง 68% (ณ กลางเดือน ก.พ. 2024) มากกว่าดัชนี S&P 500 ซึ่งอยู่ที่ 32%
KEY
POINTS
- ตลาดหุ้นสหรัฐ ยังคงร้อนแรงจนถึงปัจจุบัน รับแรงขับเคลื่อนหลักจากกลุ่มเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
- ตั้งแต่ต้นปี 2566 หุ้นเทคโนโลยีให้ผลตอบแทนถึง 68% (ณ กลางเดือน ก.พ. 2567) มากกว่าดัชนี S&P 500 ซึ่งอยู่ที่ 32%
- บลจ. สแทชอเวย์ เจาะลึกตลาดหุ้นสหรัฐ พิจารณาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ พื้นฐาน, ราคา และการถือครองของนักลงทุน (Net Overweight, Net Underweight หรือ Neutral)
- กลุ่มเทคโนโลยียังมีโอกาสในระยะยาว แม้จะน่ากังวลในระยะสั้น
- กลุ่ม Healthcare ยังน่าสนใจ ในราคาที่สมเหตุสมผล
- กลุ่มพลังงานอาจสร้าง Surprise
ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงร้อนแรงจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากกลุ่มเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2566 หุ้นเทคโนโลยีให้ผลตอบแทนถึง 68% (ณ กลางเดือน ก.พ. 2567) มากกว่าดัชนี S&P 500 ซึ่งอยู่ที่ 32%
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าและราคาหุ้นที่สูง ทำให้เกิดคำถามสำคัญ คือ เรายังควรลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในช่วงนี้หรือไม่? และยังมีหุ้นกลุ่มไหนที่มีโอกาสทำผลงานได้ดีกว่าตลาด?
บลจ.สแทชอเวย์ (ประเทศไทย) หรือ StashAway จึงอยากพาทุกท่านเจาะลึกตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งจะต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ พื้นฐาน, ราคา และการถือครองของนักลงทุน (Net Overweight, Net Underweight หรือ Neutral)
กลุ่มเทคโนโลยียังมีโอกาสในระยะยาว แม้จะน่ากังวลในระยะสั้น
กลุ่ม IT และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เช่น Communication Services มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีโอกาสทำกำไรได้ค่อนข้างดีในปีนี้ (แต่อาจไม่สูงเท่าปีที่แล้ว)
"ยศกร นิรันดร์วิชย" กรรมการผู้จัดการ บลจ. สแทชอเวย์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจเหล่านี้มี EPS ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยหุ้นกลุ่ม IT เช่น Apple, Microsoft และ Nvidia มี CAGR ถึง 16% ต่อปี ระหว่างปี 2007 ถึง 2022 ขณะที่ หุ้นกลุ่ม Communication Services อย่าง Alphabet และ Meta มีการเติบโตของ EPS ราว 8% ต่อปี โดย EPS ของทั้ง 2 กลุ่มยังเติบโตมากกว่า EPS ของดัชนี S&P 500 ซึ่งอยู่ที่ 6.6% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่ม IT อาจมีราคาค่อนข้างสูงแล้ว เพราะมีค่า Forward P/E อยู่ที่ 36.5 เท่า ซึ่งเหนือกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปีที่ 21.2 เท่า ส่วนกลุ่ม Communication Services ยังมีราคาค่อนข้างสมเหตุสมผลกว่าที่ 18.6 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 15 ปีที่ 17.2 เท่า
การสำรวจของ BofA ยังพบว่านักลงทุนจำนวนมากแห่เข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสัดส่วนที่สูงแล้ว ทำให้สัดส่วนการ Net Overweight ของหุ้นเทคโนโลยีแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2020 ซึ่งโดยปกติแล้ว ยิ่งนักลงทุนมีสัดส่วนการถือครองมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
สรุปคือ กลุ่มเทคโนโลยี ยังคงเป็นการลงทุนที่ดีในระยะยาว แต่เนื่องจากทั้งราคาและสัดส่วนการถือครองของนักลงทุนอยู่ในระดับสูงแล้ว จึงมีความเป็นไปได้ว่า ราคาหุ้นอาจมีการปรับฐานเพื่อที่จะไปต่อ (Healthy Correction) ในระยะข้างหน้า
กลุ่ม Healthcare ยังน่าสนใจ ในราคาที่สมเหตุสมผล
กลุ่ม Healthcare มักทำผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนี S&P 500 รวมถึงมีการเติบโตที่มั่นคงและมีราคาที่สมเหตุสมผล โดยนับตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2022 กำไรของกลุ่ม Healthcare มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8.2% ต่อปี ซึ่งมากกว่าดัชนีโดยรวม และค่อนข้างมั่นคงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจทั้งหมด
"ยศกร" คาดกันว่าราคาหุ้นกลุ่ม Healthcare จะพลิกกลับมาดีในปี 2024 หลังทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐานในปี 2023 เพราะมีฐานกำไรค่อนข้างสูงจากช่วง COVID-19 (Base-effect) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
EPS ของกลุ่ม Healthcare ในปี 2024 อาจเติบโตสูงกว่าตลาดโดยรวมและสถิติในอดีต เพราะนอกจากจะมีฐานกำไรปี 2023 ที่ค่อนข้างเป็นใจแล้ว ยังได้รับแรงขับเคลื่อนจากนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
หุ้นกลุ่ม Healthcare ยังมีค่า Forward P/E อยู่ที่ 19.3 เท่า ซึ่งแม้จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 16.6 เท่า แต่ยังต่ำกว่ากลุ่มเทคโนโลยีที่ 36.5 เท่า และดัชนี S&P 500 ที่ 24.2 เท่า ขณะที่การถือครองของนักลงทุน แม้ผลสำรวจของ BofA จะบ่งชี้ว่าบรรดาผู้จัดการกองทุนได้ Net Overweight ในกลุ่มธุรกิจ Healthcare แต่ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยี
สรุปคือ กลุ่ม Healthcare อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยราคาหุ้นที่สมเหตุสมผล นวัตกรรมใหม่ๆ และ Trend สังคมผู้สูงอายุในระยะยาว จะช่วยให้กำไรของกลุ่มกลับมาเป็นปกติในระยะข้างหน้า และโดยธรรมชาติของกลุ่ม Healthcare ที่ค่อนข้าง Defensive จะช่วยปกป้องพอร์ตในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน
กลุ่มพลังงานอาจสร้าง Surprise
ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในระดับสูงและ Supply น้ำมันที่ตึงตัว อาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มพลังงาน แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกก็อาจฉุดรั้งกลุ่มธุรกิจนี้เช่นกัน
แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้คาดการณ์กำไรของกลุ่มพลังงานอยู่ที่ -7% ในปีนี้ แต่ที่ผ่านมา กำไรของกลุ่มพลังงานมักผันผวนสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ หมายความว่ากลุ่มพลังงานอาจมี Upside (รวมถึง Downside) ที่เราคาดไม่ถึง
ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับ ROE โดยมีค่า P/B ratio อยู่ที่ 2.2 เท่า ซึ่งเท่ากับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่มี ROE น้อยกว่าราวครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ การถือครองของนักลงทุนยังอยู่ในระดับต่ำมาก (Net Underweight)
สรุปคือ ราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน ยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับ ROE ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุน หากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น และหุ้นกลุ่มพลังงานยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงในช่วงที่เงินเฟ้อยังยืดเยื้อได้