‘กสิกร’อุ้มรับเหมารายใหญ่ หวังธุรกิจกลับมาพลิกฟื้น หลังขาดสภาพคล่องหนัก
“กสิกรไทย” รับเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการ “รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่” ที่กำลังประสบปัญหา “ขาดสภาพคล่องหนัก” หวังให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการต่อได้ ด้านความเคลื่อนไหวหุ้น “ไอทีดี” ราคาร่วงฟลอร์ หลังปลด “SP” วันแรก “บล.ซีจีเอสฯ” ชี้หุ้น “กลุ่มแบงก์” ไม่น่าสนใจ เหตุปมปล่อยกู้
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า ในกรณีมีคำถามว่า ธนาคารกสิกรไทยจะให้การช่วยเหลือกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจต่อหรือไม่ เพื่อให้กลับมามีสภาพคล่องดำเนินธุรกิจต่อไปนั้น ประเด็นในส่วนนี้ธนาคารตอบว่า ธนาคารกสิกรไทยยอมรับว่าคงต้องเข้าไปช่วยเหลือบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ดังกล่าวต่อแน่นอน
ส่วนการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นที่ผ่านมา ธนาคารเชื่อว่าอยู่บนการคำนึงถึง ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย Stakeholders ที่เป็นส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับธนาคารที่ต้องดูแลกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจ่ายเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานปี 2566 กำหนดจ่ายอยู่ที่หุ้นละ 6 บาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 10 พ.ค. 2567 นี้
ขณะที่ วานนี้ (1 เม.ย.2566) ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น ITD หรือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ปรับตัวร่วงฟลอร์ 30.59% หรือ 0.26% อยู่ที่ 0.59 บาท หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ปลดเครื่องหมาย “SP” หุ้น ITD วันแรก
นายกรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจ และการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า บริษัทมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง และ ITD ส่วนใหญ่รับงานที่อิงกับภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ และงบประมาณรัฐเพิ่งผ่านมาได้ไม่นาน จากที่ล่าช้าไปเกือบปี ทำให้สายป่านเงินสดไม่พอเข้าบริษัท และช่วงที่ผ่านมาอุปสงค์ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรง
ส่วนใหญ่ ITD ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องเป็นอย่างมาก แนะนำนักลงทุนควรหลีกเลี่ยง ขณะที่แบงก์ใหญ่ที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับ ITD มากสุดคือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) น้อยที่สุดคือ ธนาคารกรุงไทย (KTB)
ฉะนั้น หลังจากนี้ในวันที่ 10 เม.ย. นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้หรือรอบหน้า สะท้อนแบงก์ใหญ่ปัจจุบันก็ยังไม่น่าสนใจ เนื่องจากมีปัญหาเรื่อง ITD เข้ามาด้วย
ล่าสุดรายงานงบการเงินของ ITD ปี 2566 ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ขาดทุนสุทธิ 1,072 ล้านบาท ลดลง 77% จากปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 4,759 ล้านบาท สาเหตุจากรายได้จากการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง 56,936 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2,719 ล้านบาท
(บล.) เอเซียพลัส ระบุว่า ต้นเหตุที่ทำให้ ITD ตกอยู่ในวังวนแห่งการขาดทุน เกิดจากอัตรากำไรขั้นต้นจาก ธุรกิจก่อสร้าง/บริการที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้าง ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การแข่งขัน ด้านราคาที่สูงขึ้นในช่วงที่งานก่อสร้างขนาดใหญ่ในตลาดมีน้อยลง
สำหรับภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ ITD ต้องแบกรับเกือบ 3 พันล้านบาทต่อปี ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ ITD เข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ขนาดใหญ่ที่ยังไม่สร้างผลตอบแทนอย่าง โครงการเหมืองแร่บ๊อกไซต์และโครงการก่อสร้างโรงงานอลูมิน่าใน สปป.ลาว มูลค่า 1,217 ล้านบาท โครงการทวายในเมียนมาร์ มูลค่า7,849 ล้านบาท โครงการเหมือง แร่โปแตซ อุดรธานี มูลค่า 5,282 ล้านบาท โครงการทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกที่ โมซัมบิก มูลค่า 2,689 ล้านบาท นับรวมมูลค่าโครงการทั้งหมดกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท
โดยที่ ITD มีต้นทุนการเงินเฉลี่ย 6% เท่ากับว่า ITD ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย จ่ายจากโครงการที่ยังไม่สร้างผลตอบแทน สูงถึง 1 พันล้านบาทต่อปี ปัจจุบัน ITD อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคัดเลือก และเจรจากับผู้ร่วมทุนที่จะเข้ามาลงทุน ในบางส่วนของโครงการเหมืองโปแตซ และโครงการทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกที่ โมซัมบิก หากดีลประสบความสำเร็จและ ITD ขายได้ราคาสูงกว่าต้นทุนในบัญชี ก็ จะทำให้เกิดกำไรพิเศษและมีสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น