ลูกหนี้สภาพคล่องขาดหนัก แห่กู้ ‘นาโนไฟแนนซ์‘ สะพัด
“ทีทีบี” ชี้เป็นตลาดที่มีโอกาสเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ เหตุปล่อยกู้ดอกเบี้ยระดับสูงจากกลุ่มเสี่ยง หลังขาดสภาพคล่องช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว หวังช่วยลูกหนี้-ลดพึ่งพากู้นอกระบบ ประเดิมปล่อยกู้เฟสแรก 300 ล้านบาท “ชโย” เผยลูกค้าแห่ขอกู้นาโนไฟแนนซ์สะพัด
หากพูดถึงตลาดสินเชื่อ “นาโนไฟแนนซ์” หรือ “สินเชื่อรายย่อย” เพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือว่าเป็นอีกสินเชื่อที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก สำหรับ “ผู้กู้” ทั้ง รายย่อยและผู้ประกอบอาชีพ พ่อค้า-แม่ค้า แม้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะมีเพดานอัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับสูงสุดที่ 33% หากเทียบกับบรรดาสินเชื่อบุคคลอื่นๆ ที่มีเพดานดอกเบี้ยสูงสุดเพียง 25%
ด้วยอัตราดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์ที่สูงสุดอยู่ที่ระดับ 33% ยังเป็นจุดดึงดูดสำคัญให้ผู้ให้บริการทางการเงินสนใจในการเข้ามาแย่งชิงในตลาดนี้จำนวนมาก โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ที่ได้รับใบอนุญาต (ไลเซนส์) ให้ดำเนินธุรกิจได้แล้ว 68 ราย
หากดูด้านการให้บริการ พบว่า สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เติบโตขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจำนวนบัญชี และยอดการปล่อยสินเชื่อ โดย สิ้นเดือนม.ค. 2567 มีลูกหนี้ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 2,343,324 บัญชี เพิ่มขึ้น 26% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีบัญชีที่ได้รับอนุมัติเพียง 1,857,980 บัญชี
ด้านสินเชื่อคงค้างพบว่า เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ล่าสุดอยู่ที่ 42,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่เพียง 33,815 ล้านบาท ในด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล อยู่ระดับสูงเช่นเดียวกัน โดยสิ้นปี 2566 หนี้เสียสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อยู่ที่ 2,392 ล้านบาท
นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB กล่าวว่า ในส่วนของทีทีบีมีแผนเข้ามาปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ภายในช่วงเม.ย.นี้ โดยมองว่าการเข้ามาปล่อยสินเชื่อในตลาดนี้เป็นโอกาสสำหรับธนาคาร ที่จะเข้าไปสู่ตลาดสินเชื่อ และมีฐานลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้นในระยะข้างหน้า
โดยการเข้ามาปล่อยสินเชื่อในตลาดนาโนไฟแนนซ์ จะอยู่ภายใต้การเข้าไปทดลองตามเกณฑ์ Risk based pricing concept หรือการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกหนี้ ซึ่งหากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ธนาคารก็สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้ ดังนั้น มองว่าเป็นโอกาสที่ธนาคารจะสามารถเข้าถึงลูกค้าบางกลุ่มได้มากขึ้น โดยเฉพาะหากธนาคารมีการเชื่อมข้อมูล alternative data ที่หาได้หรือได้จากพันธมิตรก็มีโอกาสที่จะทำให้รู้จักลูกค้ามากขึ้น
อีกทั้ง การเข้ามาปล่อยสินเชื่อในตลาดนาโนไฟแนนซ์ ถือเป็นการช่วยลูกหนี้ ให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น และมีส่วนช่วยลูกค้าไม่ให้กลับไปพึ่งพาหนี้นอกระบบได้
อย่างไรก็ตาม ธนาคารตั้งเป้าในการเข้าไปทดลองปล่อยสินเชื่อราว 200-300 ล้านบาทก่อนในช่วงแรก เพื่อติดตามความพร้อมทั้งเรื่องระบบ การให้บริการ การติดตามหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระบวนการทั้งหมดจะอยู่บนดิจิทัลทั้งหมด เพื่อลดค่าใช้จ่ายของธนาคาร
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO กล่าวว่า ปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ค่อนข้างมาก เนื่องจากส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ อีกทั้ง ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่รายได้ยังไม่กลับมาฟื้นตัว ทำให้ขาดสภาพคล่องค่อนข้างมาก ส่งผลให้ยอดขอสินเชื่อมีเข้ามาจำนวนมากขึ้น
แต่ในส่วนของบริษัท ยังคงต้องปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง และพิจารณาลูกค้าเก่าเป็นหลัก หรือลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึง ลูกค้าที่มาจากบริษัทพันธมิตร ที่บริษัทมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ เช่นการเข้าไปปล่อยกู้ให้กับพนักงานโรงงาน ที่บริษัทมีความเชื่อมั่น เพื่อลดอัตราการเกิดหนี้เสีย
ดังนั้น มองว่าการเข้ามาในตลาดนี้ แม้จะเป็นโอกาสในการสร้างได้ แต่อีกด้านก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ที่จะเกิดหนี้เสียมากจากลูกหนี้เสี่ยงสูง ดังนั้นการปล่อยสินเชื่อต้องอยู่ภายใต้การระมัดระวัง และรู้จักตัวตนลูกค้าเป็นอย่างดี
สำหรับเป้าหมายในการเข้าไปปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้บริษัทตั้งเป้าอยู่ที่ 1 พันล้านบาท โดยรวมถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ