ถึงเวลาทำเรื่องการให้ความรู้ทางการเงินเป็นวาระแห่งชาติ
จากการสำรวจความเห็นของเด็กไทยในช่วงวันเด็กของปี 2567 พบว่าวิชาที่เด็กอยากให้มีในหลักสูตร คือวิชาการเงิน การลงทุน โดยมีเด็กถึง 39.7% เลือกวิชานี้
“ข้อมูลจากรายงานปี 2566 พบว่ามีการหลอกลวงทั้งจากสายโทรเข้าและข้อความ SMS (ในเอเชีย) รวม 347.3 ล้านครั้ง ลดลงจาก ปีก่อนหน้า 14% (405.3 ล้านครั้ง ในปี 2565) ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เนื่องจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยการหลอกลวงออนไลน์”
“ขณะที่เทรนด์การหลอกลวงในเอเชียดูเหมือนจะคลี่คลายลง ปี 2566 คนไทยกลับเสี่ยงโดนหลอกจากสายโทรเข้าและข้อความ รวม 79 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 18% จากยอดรวม 66.7 ล้านครั้ง ในปี 2565 จำนวนสายโทรเข้า 20.8 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 22% จาก 17 ล้านครั้ง ในปี 2565 และข้อความหลอกลวงเพิ่มขึ้น 17% สูงถึง 58.3 ล้านข้อความ จาก 49.7 ล้านข้อความ ในปี 2565”
ข้างบน เป็นรายงานการสำรวจเกี่ยวกับภัยการหลอกลวงออนไลน์ในเอเชีย ที่บริษัท Gogolook/ Whoscall นำเสนอเมื่อปลายเดือนมีนาคม โดยพบว่า คนไทยถูกหลอกลวงออนไลน์มากที่สุดในเอเชีย ก่อให้เกิดความกังวลใจ แม้หน่วยงานต่างๆจะพยายามแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังแล้ว แต่คนไทยก็ยังตกเป็นเหยื่อ
ข้อมูลจาก วารสารพระสยาม ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับ 3/2566 แจ้งว่า ACI Worldwide ผู้ให้บริการโซลูชันการธนาคารและการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเรียลไทม์ ได้รายงานว่าประเทศไทยมีการหลอกลวงในการทำธุรกรรมออนไลน์ ถึง 25.7%ในปี 2565
จากการสำรวจความเห็นของเด็กไทยในช่วงวันเด็กของปี 2567 พบว่าวิชาที่เด็กอยากให้มีในหลักสูตร คือวิชาการเงิน การลงทุน โดยมีเด็กถึง 39.7% เลือกวิชานี้
จริงๆ แล้ววิชาการเงินเป็นวิชาที่สนุก และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ตลอดเวลา มีคนสอบถามดิฉันมากมายว่า เรียนอักษรศาสตร์แล้วทำไมถึงเรียนการเงินได้ คนเรียนสายศิลปะภาษา ส่วนใหญ่ไม่ชอบตัวเลข ดิฉันตอบได้ทันทีว่า ความสนใจเรื่องการเงินมีมาตั้งแต่เด็กเพราะที่บ้านค้าขาย และเชื่อมไปสู่การสนใจเรียนคณิตศาสตร์เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ทอนเงิน คิดต้นทุนสินค้า คิดกำไรขาดทุน ฯลฯ
และความที่มีทักษะในการคำนวณและวิชาการเงินแบบบ้านๆติดตัว ถึงแม้จะเรียนมาสายภาษาและภาษาศาสตร์ ธนาคารกสิกรไทยผู้ใจกว้าง ก็ยินดีให้ทุนส่งดิฉันไปเรียนบริหารธุรกิจ วิชาเอกการเงินในระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก จนจบออกมาได้ใช้วิชามาทำงาน สร้างความก้าวหน้าให้กับตนเอง และสามารถนำมาถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังๆในทุกวันนี้
ถึงเวลาแล้วค่ะ ที่ประเทศไทยจะนำเรื่องการให้ความรู้ทางการเงินเป็นวาระแห่งชาติ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีนำเรื่องการแก้ไขหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะนอกระบบมาเป็นวาระแห่งชาติ ก็ทำให้การแก้ไขหนี้เป็นไปในวงกว้าง ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ หรือการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน ก็ได้ประโยชน์ แต่เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ถ้าจะแก้ไขที่ต้นเหตุ เราต้องบรรจุเรื่องความรู้ทางการเงินเข้าไปในหลักสูตรภาคบังคับ ให้เยาวชนทุกคนได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็ก จะได้เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตั้งแต่ต้น
ดิฉันเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากเยาวชนไทยได้เรียนวิชาการเงินตั้งแต่เด็ก คะแนนสอบ PISA จะเพิ่มขึ้น โดยอัตโนมัติ เพราะ PISA ไม่ได้ให้โจทย์มาตรงๆ แบบโจทย์วิชาคณิตศาสตร์ที่บ้านเราสอนอยู่ แต่ให้โจทย์ที่ต้องตีออกมาเป็นโจทย์คณิตศาสตร์อีกชั้นหนึ่ง เช่นเวลาให้คำนวณองศาของมุม อาจตั้งโจทย์มาเป็นบันไดของบ้านที่มีความสูงระดับหนึ่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ วิชาการเงินจะช่วยเป็นเกราะคุ้มกันภัยหลอกลวงทั้งหลายที่เราเผชิญอยู่ ด้วยการที่เยาวชนจะรู้จักคิด ว่าสิ่งที่ผู้หลอกลวงนำเสนอมานี้ สมเหตุสมผลหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ มีพิรุธอะไรไหม
วิชาการเงินจะช่วยปูพื้นให้เยาวชนสนใจที่จะจัดการงบประมาณ และรู้จักจัดสรรเงินเพื่อการต่างๆ ทำให้มีวินัยทางการเงิน และวินัยในชีวิต จะไม่ตกเป็นทาสของการใช้เงินเกินตัวและจะลดปัญหาอาชญากรรม ลดปัญหาในครอบครัว ลดปัญหายาเสพติด ลดปัญหาคนที่เป็นมิจฉาชีพ หรือถูกหลอกใช้ให้ทำงานมิจฉาชีพ เรียกว่าลดทั้งจำนวนเหยื่อและลดทั้งจำนวนมิจฉาชีพ
ดิฉันเขียนบทความและบรรยายกับกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง บุคคลทั่วไป และเยาวชนมากว่า 20 ปี ได้พบและรับฟังปัญหาต่างๆมากมาย ซึ่งบางปัญหาไม่ควรเกิดขึ้น หากเพียงบุคคลนั้นๆมีความรู้ทางการเงินพื้นฐาน
หลายท่านฟังหรืออ่านบทความ แจ้งมาให้ทราบว่า ดิฉันก่อให้เกิดความเข้าใจ และการตระหนักถึงความสำคัญของการออมและลงทุน เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น ซึ่งก็ทำให้ดิฉันใจฟูขึ้นมาเลยทีเดียว
ประเทศไทยให้ความรู้ทางการเงินกับเยาวชนช้าไปแล้ว 20 ปี ถ้าเราบรรจุวิชา “เงินทองของมีค่า” ซึ่งจัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในสมัยที่คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตอนนี้เยาวชนเหล่านั้นก็จะมีอายุ 27-39 ปี ซึ่งก็จะเป็นกลุ่มหลักที่จะมีภูมิคุ้มกันด้านการเงิน และกระจายความรู้ความเข้าใจไปยังรุ่นพ่อแม่ ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ในวัย 50-62 ปี และรุ่นลูกของตัวเอง วัย 1-18 ปี ในปัจจุบัน ดังนั้นก็จะครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเลยทีเดียว
ในสมัยที่ ดร.อุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านก็ปรารภกับดิฉันเรื่องนี้ แต่ยังไม่ทันจะได้ทำ ก็มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีไปเสียก่อน
เริ่มตอนนี้ แม้จะสายไปนิดหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่เริ่มค่ะ ขอฝากความหวังไว้กับท่านประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ด้วยค่ะ
สำหรับทุกท่านที่ต้องการคาถากันการถูกหลอกลวง ตอนนี้ขอแนะนำให้ท่องไว้สองข้อนะคะ หนึ่ง ของฟรีไม่มีในโลก และสอง ไม่โลภ ค่ะ