ซีอีโอ ‘Rolex’ เตือนอย่าเทียบ ‘นาฬิกา’ กับหุ้น ชี้ เป็นแนวคิดลงทุนที่อันตราย
แม่ทัพ “Rolex” (โรเล็กซ์) แบรนด์นาฬิกาหรูระดับโลก เตือน การมองนาฬิกาเป็นการลงทุนถือว่า “อันตราย” หลังราคานาฬิกาหรูมือสองพุ่งสูงจากการเก็งกำไรในช่วงโควิด-19
ฌอง-เฟรเดริก ดูฟูร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท Rolex SA ผู้ผลิตและจำหน่ายนาฬิกาหรูสัญชาติสวิส ซึ่งปกติแทบไม่แสดงความเห็นผ่านสื่อบ่อยนัก ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ NZZ ของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อไม่นานนี้ว่า การมองนาฬิกาหรูเป็นการลงทุนถือเป็นเรื่องอันตราย และไม่ชอบที่คนนำนาฬิกาหรูไปเปรียบเทียบกับสินทรัพย์การลงทุน เช่น หุ้น
“ผมไม่ชอบเลย เวลาคนเปรียบเทียบนาฬิกากับหุ้น นี่เป็นการส่งข้อความผิด ๆ และเป็นเรื่องที่อันตรายมาก” ซีอีโอ Rolex แสดงความคิดเห็นก่อนงานมหกรรมการค้า “Watches and Wonders” จะเปิดฉากที่นครเจนีวาในสัปดาห์นี้
ที่ผ่านมา ราคานาฬิกามือสองซึ่งนำโดยแบรนด์ใหญ่อย่าง Rolex, Patek Philippe และ Audemars Piguet พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2564 และต้นปี 2565 เนื่องจากบรรดานักเก็งกำไรแห่ซื้อนาฬิกาสวิสราคาแพงไปขายต่อ ขณะเดียวกันยังได้แรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำและมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซีที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ราคาในตลาดนาฬิกามือสองกลับร่วงหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้น ข้อมูลจากดัชนี Bloomberg Subdial Watch ซึ่งติดตามราคานาฬิกาที่ถูกซื้อขายด้วยมูลค่าสูงที่สุด 50 อันดับแรก ระบุว่า ราคาเฉลี่ยในตลาดนี้ปรับตัวลดลงถึง 40% ในช่วง 2 ปีหลังสุด
ขณะที่ Rolex ถือเป็นแบรนด์นาฬิกาสวิสรายใหญ่ที่สุดและครองอุตสาหกรรมนี้มานาน ด้วยส่วนแบ่งตลาดราว 30% ข้อมูลจากมอร์แกน สแตนลีย์ระบุว่า ยักษ์ใหญ่นาฬิกาหรูรายนี้ทำยอดขายทะลุ 10,000 ล้านฟรังก์สวิส (ราว 4.2 แสนล้านบาท) เป็นครั้งแรกในปี 2566
นอกจากนี้ ดูฟูร์ซึ่งนั่งตำแหน่งซีอีโอ Rolex ตั้งแต่ปี 2558 คาดการณ์ว่า ปี 2567 จะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส เนื่องจากความต้องการชะลอตัวลงจากระดับสูงสุด
ซีอีโอ Rolex เสริมด้วยว่า ภาวะชะลอตัวนี้จะส่งผลกระทบ “หนักที่สุด” ต่อยอดขายของ “แบรนด์นาฬิการายเล็กกว่า” แต่สำหรับกลุ่มแบรนด์นาฬิการายใหญ่นั้น ความผันผวนเหล่านี้ส่งผลกระทบน้อยกว่ามาก
“ตอนนี้ลูกตุ้ม (ความผันผวนของราคานาฬิกา) เหวี่ยงไปอีกทางหนึ่ง และเป็นธรรมชาติที่แบรนด์ที่มีความมั่นคงน้อยกว่าจะเผชิญกับผลกระทบที่หนักกว่า”
“ถึงแม้พวกเขาจะมียอดขายเพิ่ม 20% ในช่วงขาขึ้น แต่ตอนนี้ พวกเขาก็อาจเจอยอดขายร่วง 15% ก็ได้” ดูฟูร์กล่าว
อ้างอิง: Bloomberg