ค่าเงินบาทวันนี้ 10 เม.ย.67 'แข็งค่าขึ้น' ตามดอลลาร์อ่อนค่า-จับตา กนง.
ค่าเงินบาทวันนี้ 10 เม.ย.67 เปิดตลาด “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” ที่ 36.32 บาทต่อดอลลาร์ "กรุงไทย” ชี้เงินบาทแกว่งตามดอลลาร์อ่อนค่า ก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐ คืนวันพุธนี้ รอผลประชุมกนง.ลดดบ.0.25% อ่อนค่าทะลุ 36.50 และ มองกรอบวันนี้ 36.20-36.70 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.32 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.36 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.20-36.70 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.28-36.43 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากที่ในช่วงวันก่อนหน้า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ ที่คาดว่าจะเป็นการลดสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนวันพุธนี้
ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ยังได้แรงหนุนการแข็งค่าจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ เรายังเห็นการทยอยลดสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ของผู้เล่นในตลาด ก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และการแข็งค่าของเงินบาทจนหลุดโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจทำให้เกิด Stop loss ของสถานะ Short THB บางส่วน ซึ่งมีส่วนยิ่งช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
แนวโน้มของค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง “เร็วและแรง” ของเงินบาทในวันก่อนหน้า จนหลุดโซนแนวรับที่เราประเมินไว้แถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ นั้นอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะเริ่มเข้าสู่โหมดระมัดระวังตัว (Wait and See) เพื่อรอลุ้นปัจจัยสำคัญ ทั้ง ผลการประชุม กนง. รายละเอียดมาตรการ Digital Wallet และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้เงินบาทน่าจะแกว่งตัว sideways ในกรอบ 36.25-36.45 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะรับรู้ปัจจัยสำคัญดังกล่าว โดยเฉพาะผลการประชุม กนง.
หากกนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% ตามที่ตลาดและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (ยกเว้นเรา) ประเมินไว้ พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ก็อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่า จนทะลุโซนแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
ขณะที่ หาก กนง. ลดดอกเบี้ยลง แต่ส่งสัญญาณอาจลดดอกเบี้ยเพิ่มราว 1 ครั้ง หรือแม้จะเป็นกรณีที่ กนง. คงอัตราดอกเบี้ย แต่ส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ย (Dovish Hold) ตามที่เราประเมินไว้ ก็อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเงินบาทมากนัก และเงินบาทก็อาจแกว่งตัว sideways เพื่อรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ต่อไป
ในส่วนของรายละเอียดมาตรการ Digital Wallet นั้น เราประเมินว่า หากรัฐบาลมีความชัดเจนของมาตรการดังกล่าว ทั้งในแง่ของไทม์ไลน์และมูลค่าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจพอช่วยให้ผู้เล่นในตลาดมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ทว่าต้องจับตาประเด็นแหล่งเงินทุนสำหรับมาตรการ Digital Wallet อย่างใกล้ชิด ว่าจะทำให้ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะในฝั่งตลาดบอนด์มีความกังวลต่อปริมาณการออกบอนด์ในอนาคตหรือไม่
และประเด็นสุดท้าย รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เรามองว่า หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ตามคาด และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็ไม่ได้ส่งสัญญาณสนับสนุนการลดดอกเบี้ย น้อยกว่า 3 ครั้งของเฟด ที่ชัดเจน ก็อาจพอช่วยทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีความหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนได้ ทำให้เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways หรือ อ่อนค่าลงได้บ้าง ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ออกมาสูงกว่าคาด และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ต่างส่งสัญญาณสนับสนุนการลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้ง ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เร็วและแรง ทดสอบโซน 104.5-105 ได้เช่นกัน สำหรับดัชนีเงินดอลลาร์ DXY ซึ่งในกรณีดังกล่าว เงินบาทอาจกลับไปอ่อนค่าเกินระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง
อนึ่ง เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพุธนี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรหุ้นเทคฯ ใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นได้แข็งแกร่งนับตั้งแต่ต้นปีมาบ้าง เช่น Nvidia -2.0% ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +0.14%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงกว่า -0.61% ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดก่อนที่จะรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ดังจะเห็นได้จากแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ SAP -2.7%, Hermes -2.4%, ASML -1.6%
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 4.36% โดยเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังจากที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้พุ่งขึ้นเข้าใกล้ระดับ 4.50% ในช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นก็เริ่มเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพุธนี้ ซึ่ง เรายังคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (รวมถึงบอนด์ยีลด์ระยะยาวอื่นๆ) มีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงได้ในวันนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ซึ่งหากออกมาสูงกว่าคาด โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็จะทำให้ผู้เล่นในตลาดมีความกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอยู่ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นทดสอบโซน 4.40%-4.50% ได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดี เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจ และ Risk-Reward มีความคุ้มค่ามากขึ้น (Asymmetric Risk-Reward หากลองประเมิน ผลตอบแทนในกรณีที่ บอนด์ยีลด์ ปรับตัวขึ้น หรือ ลง 50bps หรือแม้กระทั่ง 100bps) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อสะสมได้ (Buy on Dip)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.9-104.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ เริ่มชะลอลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไร นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็ยังไม่รีบปรับสถานะถือครองมากนัก จนกว่าจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,372 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ โฟลว์ธุรกรรมทองคำ ทั้งจังหวะซื้อทองคำตอนย่อ และขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways ในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด จะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งจะรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งจะมีกำหนดในช่วงหลังตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI เพื่อประเมินว่า เจ้าหน้าที่เฟดจะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินเฟดอย่างไรบ้าง หลังรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ ทั้งภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อที่ดูเริ่มชะลอลงช้า
ส่วนในฝั่งไทย ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่และผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงราว 0.25% สู่ระดับ 2.25% ได้ในการประชุมครั้งนี้ (เราคงมุมมองเดิมว่า กนง. อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% แต่จะส่งสัญญาณชัดเจนว่าพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในการประชุมเดือนมิถุนายน) และนอกเหนือจากผลการประชุม กนง. ควรจับตารายละเอียดของมาตรการ Digital Wallet ที่จะมีการเปิดเผยในวันนี้