‘ทองคำ’เมินเลื่อนลดดบ. ‘กูรู’ ชี้ยังเป็นเทรนด์ขาขึ้น ลุ้นแตะ 45,000 บาท
“กูรู” ฟันธง “ราคาทองโลก-ทองไทย” ยังเป็น “เทรนด์ขาขึ้น” ทำจุดสูงสุดใหม่ได้ต่อ ย้ำปัจจัย “ลดดอกเบี้ย” ทั้งเฟด-แบงก์ชาติ แทบไม่มีผล “แม่ทองสุก” มองเกมการเงิน ดันทองโลกขึ้นต่อหนุนทองไทยไตรมาส 3 นี้ขึ้นแตะ 45,000 บาท หากทะลุได้ไปต่อถึง 50,000 บาท
นายกฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม บริษัท MTS GOLD แม่ทองสุก กล่าวว่า ราคาทองโลกวานนี้ (11 เม.ย.) ราคาทองโลก ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงแถวบริเวณ 2,340-2,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,350 ดอลลาร์ ณ 10 เม.ย.) โดยมีการแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้นจากแรงเทขายทํากําไรเป็นช่วงๆ ขณะที่ราคาทองไทยอยู่ที่ระดับ 40,600 บาทมีแนวรับระยะสั้นที่ 40,100 บาท และมีแนวต้านที่ 40,500 บาท
โดยจะเห็นได้ว่า ราคาทองมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง วานนี้ (11 เม.ย.) ราคาทองไทยเคลื่อนไหว ปรับขึ้นลงมากถึง 16 ครั้ง ปรับขึ้น 7 ครั้ง ปรับลง 9 ครั้ง ราคาทองแท่ง ขายออก 40,450 บาท ราคาทองรูปพรรณ ขายออก 40,950 บาท จากช่วงเปิดตลาด ราคาทองแท่ง อยู่ที่ 40,600 บาท ระหว่างวันสูงสุด 45,650 บาท และต่ำสุด 40,400 บาท
และ วันนี้ (12 เม.ย.)ราคาทองคำ ทำออลไทม์ไฮใหม่ ราคาทองไทย ทองแท่งขายออก ที่ 41,400 บาท ขณะที่ ราคาทองโลก แตะบริเวณ 2,400 ดอลลาร์ต่อออนไซด์ ระหว่างวัน ราคาทองไทยยังผันผวนไม่หยุด 25 ครั้งในวันเดียว ปรับขึ้น 900บาท ณ 17.00น. ราคาทองแท่งเคลื่อนไหวบริเวณ 41,350 บาทาก นักลงทุนเข้าซื้อทองคำจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีความกังวลว่าอิหร่านอาจโจมตีตอบโต้อิสราเอลในเร็ว ๆ นี้ ส่วนกองทุน SPDR ซื้อทอง 2.3 ตัน
นายกฤชรัตน์ มองว่า ราคาทองโลกและทองไทยในระยะกลางและระยะยาว ยังคงอยู่ในแนวโน้มทิศทางขาขึ้นและมีโอกาสขึ้นได้ต่อ โดยราคาทองไทยน่าจะมีโอกาสขึ้นไปแตะที่ระดับ 45,000 บาท ในไตรมาส 3 ปีนี้หากทะลุผ่านไปได้ มีโอกาสไปแตะแนวต้านต่อไปที่ 50,000 บาท ตามลำดับ
ขณะที่ราคาทองโลกมีโอกาสแตะที่ระดับ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในไตรมาส 3 ปีนี้และแนวต้านถัดไป 2,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามลำดับ
สาเหตุที่ทำให้ราคาทองน่าจะปรับตัวขึ้นได้ในระยะยาว มีมุมมองต่างไปจากเดิม กล่าวคือ จากเดิมปัจจัยหลักที่มีผลต่อราคาทองมาจากนโยบายการเงินของเฟดเป็นหลัก แต่ขณะที่ตอนนี้นโยบายการเงินของเฟดกลับไม่ส่งผลต่อราคาทองคำเท่าไรนักโดยจะเห็นได้ว่าเฟดมีการเลื่อนเวลาของการปรับลดดอกเบี้ยออกไป และจะปรับลดดอกเบี้ยลงเหลือเพียง 2 ครั้งภายในปีนี้ แต่ราคาทองคำยังคงปรับตัวสูงขึ้น และทำจุดสูงสุดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น จึงมองว่าปัจจัยที่สนับสนุนให้ราคาทองปรับตัวขึ้นน่าจะมาจากเกมทางการเงิน หรือ Dedollarisation กล่าวคือ ในระบบการเงินของโลกสกุลเงินดอลลาร์เริ่มเสื่อมค่าลง รวมถึงการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเริ่มลดลง ซึ่งจากเดิมอาจมีความสำคัญถึง 90% ของพอร์ตการถือครองของธนาคารกลางทั่วโลก ขณะที่ปัจจุบันอาจลดความสำคัญลงมาเหลือที่ 50% หรือในประเทศรัสเซียอาจถือครองพันธบัตรสหรัฐฯไม่ถึง 5% รวมทั้งจีนที่มีการเพิ่มทุนสำรองเป็นทองคำแทน และลดทุนสำรองที่เป็นพันธบัตรสหรัฐฯลง
ด้วยนโยบายการเงินดังกล่าวจึงนำมาสู่การปรับขึ้นของราคาทองคำอย่างรุนแรงในปัจจุบัน และเป็นสาเหตุสำคัญในระดับโลกที่ทำให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่หยุด และทำให้ราคาทองคำมีโอกาสที่จะแตะระดับ 2,400 ดอลลาร์ได้
สำหรับระยะสั้นราคาทองโลกมองแนวรับอยู่ที่ระดับ 2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แนวต้านอยู่ที่ระดับ 2,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ระยะกลาง (ไตรมาส 3 ปีนี้ ) และระยะยาวมองแนวรับอยู่ที่ 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แนวต้านอยู่ที่ 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ระยะสั้น ยังมีโอกาสย่อตัวทำกำไร ราคาทองไทยมองแนวรับ อยู่ที่ 40,000 บาท แนวต้าน อยู่ที่ 41,300 บาท
นายไชยวัฒน์ คมโสภาพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) เอ็มเอฟซี เปิดเผยว่า ปัจจัยดอกดอกเบี้ยของไทยจะลดหรือไม่ลดยังคาดเดาได้ยาก หากแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยไทยก่อนดอกเบี้ยเฟดจะทำให้เงินไหลออก และบาทอ่อนค่า ราคาทองปรับขึ้น แต่มองว่าการปรับดอกเบี้ยไทยของแบงก์ชาติ คงไม่น่าจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าหรือแข็งค่าเร็วจนเกินไป ดังนั้น ค่าเงินบาทน่าจะไซด์เวย์ระดับนี้ต่อไป ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดและแบงก์ชชาติ ที่มีผลต่อค่าเงินบาทเป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งต่อราคาทองไทยเท่านั้น
ทว่าปัจจัยหลักที่มีผลต่อราคาทองไทยเป็นขาขึ้นแตะ 45,000 บาท ราคาทองโลกแตะ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วง 1 ปีจากนี้ มาจากราคาทองโลกเป็นทิศทางขาขึ้น จาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ 1.ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งภูมิภาครัฐศาสตร์ในตะวันออกที่ยือเยื้อและรุนแรง 2.ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงเข้าตุนทองคำพยายามกระจายความเสี่ยง ลดน้ำหนักเงินดอลลาร์ในทุนสำรองต่างประเทศลงต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน