‘10 กองทุนทองคำ’รีเทิร์นพุ่ง ชี้ ‘ทองไทย’ ระยะ 1 ปี มีโอกาสราคาแตะ 45,000 บาท 

‘10 กองทุนทองคำ’รีเทิร์นพุ่ง  ชี้ ‘ทองไทย’ ระยะ 1 ปี มีโอกาสราคาแตะ 45,000 บาท 

ไม่มีใครตอบได้ “ราคาทองคำ” จะทำสถิติจุดสูงสุดตรงไหน... เพราะนับตั้งแต่ปี 2567 ราคาทองปรับตัวขึ้นมากว่า 13.73% แล้ว แม้ที่ผ่านมาต้องเผชิญกับ “แรงกดดัน” 

จากข้อมูลตัวเลขของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่ง ! และคาดการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเลื่อนเวลาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปหลังเดือนมิ.ย. อีกก็ตาม

 ทว่า โมเมนตันทองคำยังคงเป็น “ขาขึ้น” ต่อเนื่อง สอดรับกับ “กูรู” ต่างมีมุมมองว่า จากกรณีที่ธนาคารกลางหลายประเทศขนาดใหญ่ ยังเดินหน้าทยอย “ตุนทองคำ” อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าราคาทองคำอยู่ในช่วงผันผวนหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ธนาคารกลางของจีน” ที่เข้าซื้อทองคำต่อเนื่อง ประกอบกับผลจาก "ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์" เป็นแรงหนุนให้ราคาทองคำโลก “ทำจุดสูงสุด” (ออลไทม์ไฮ) แทบทุกวัน

ล่าสุดที่ 2,464 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ “ทองคำไทย” ทะลุ 41,000 บาท !! 

ขณะเดียวกัน “ค่าเงินดอลลาร์” เริ่มอ่อนค่าลง และ “อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ” (บอนด์ยีลด์) ปรับตัวลดลง ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้การลงทุน “ทองคำ” น่าสนใจมากขึ้น ดังนั้น การขยับขึ้นของทองคำช่วยหนุน “กองทุนทองคำ ETFs” ส่วนใหญ่ลงทุนตาม SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกอง ETF ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยนโยบายของกองดังกล่าว เป็นการ “ซื้อทองคำแท่ง” จริงๆ เก็บไว้ 

‘10 กองทุนทองคำ’รีเทิร์นพุ่ง  ชี้ ‘ทองไทย’ ระยะ 1 ปี มีโอกาสราคาแตะ 45,000 บาท 

 

ดังนั้น ราคาทองคำจะขึ้นลงไปตามราคาทองโลก และดันกองทุนทองคำในประเทศมี “ผลตอบแทน” (รเทิร์น) เป็น “บวก” ต่อเนื่อง ในช่วง 4 เดือนที่ผ่ามา 

 “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)” รายงานพบว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 5 เม.ย. 2567 มี “กองทุนทองคำ” ที่สร้างผลตอบแทนสูงสุด “10อันดับแรก” พุ่งทะยานเกินการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำแล้ว ประกอบด้วย

1.กองทุนเปิดบีแคป โกลด์ (UOBSG-N ) มีผลตอบแทน 18.75% 

2. กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท โกลด์ (UOBSG-N) มีผลตอบแทน 18.02% 

3. กองทุนเปิดทหารไทย โกลด์ ฟันด์ (TMBGOLD) มีผลตอบแทน 17.83% 

4.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ (SCBGOLDE) มีผลตอบแทน 17.68% 

5.กองทุนเปิดกรุงศรีโกลด์ (KF-GOLD) มีผลตอบแทน 17.07% 

6.กองทุนเปิดบัวหลวงโกลด์ฟันด์ (BGOLD) มีผลตอบแทน 17.03% 

7.กองทุนเปิดธนชาตทองคำแท่งเพื่อการเลี้ยงชีพ (TGoldRMF-UH) มีผลตอบแทน 17.00% 

8.กองทุนเปิดบัวหลวงโกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพ (BGOLDRMF) มีผลตอบแทน 16.91%

 9.กองทุนเปิดธนชาตทองคำแท่ง (TGoldBullion-UH) มีผลตอบแทน 16.90% 

 10.กองทุนเปิด ฟิลลิป ทองคำ (PGOLD) มีผลตอบแทน 14.19%

ดังนั้น ด้วยราคาทองคำที่พุ่งทะยานเดินหน้าทุบสถิติออลไทม์ไฮรายวัน “มอร์นิ่งสตาร์” แนะนำนักลงทุนจัดพอร์ตโฟลิโอด้วยทองคำด้วยการทยอยเข้าสะสม โดยยังคงมองว่า “ทองคำ” ถือเป็นสกุลเงินเก่าแก่ที่สุดในโลกโดยถูกใช้มาตั้งแต่ช่วง 550 ปีก่อนคริสต์ศักราช และยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือการลงทุนอีกด้วย แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องคำนึงในช่วงเวลานี้ คือ “จัดพอร์ตการลงทุนด้วยทองคำได้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด  ใช้ประโยชน์และจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุนในทองคำ”

อย่างไรก็ตาม มองว่า ทองคำยังคงเป็นเหมือนสินทรัพย์เพื่อสะสมความมั่งคั่งระยะยาว ในช่วง 20 ที่ผ่านมา ทองคำให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี “เฉลี่ย15-17%” แต่ความผันผวนก็สูงมากด้วยเช่นกัน แม้ทองคำจะมีความเสี่ยง แต่ถ้าเทียบกับสินค้า Commodity อื่นๆ ก็นับว่ายังมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า

แม้ว่าระยะสั้นทองคำจะมีความผันผวนแต่ก็นับเป็น “สินทรัพย์ลงทุนที่ปลอดภัยในยามวิกฤติ” ราคาทองคำมักไม่ผันผวนหรืออ้างอิงไปตามสินทรัพย์อื่นๆ และใช้เป็นทางเลือกในการลงทุนที่ดีในช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า นอกจากนี้ทองคำยังใช้ลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่สูงและรองรับความผันผวนของตลาดการเงินได้อีกเช่นกัน 

“นักวิเคราะห์ มอร์นิ่งสตาร์” แนะควรถือลงทุนทองคำอย่างน้อย 10 ปี !! โดยดูจากค่าความถี่ในอดีตของการขาดทุนในช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี ซึ่งรวมไปถึงระยะเวลาที่ราคาทองต้องใช้เพื่อฟื้นตัวจากช่วงที่ปรับลงไปมากๆ ด้วย

 “เราแนะนำลงทุนในทองคำไม่เกิน 15% ของสินทรัพย์ในพอร์ต เนื่องจากการจะให้ผลตอบแทนที่ดีต้องลงทุนด้วยระยะเวลายาวนาน การลงทุนในทองคำจึงเป็นเหมือนแหล่งพักเงินปลอดภัยในยามวิกฤติ และช่วยกระจายการลงทุนจากการที่มีค่าความสัมพันธ์กับหุ้น และบอนด์ที่ต่ำ”

 “ไชยวัฒน์ คมโสภาพงศ์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลยุทธ์การลงทุน บลจ. เอ็มเอฟซี มองว่า ทองคำยังเป็นทิศทาง “ขาขึ้น” ต่อเนื่อง ทองโลกขึ้นสู่บริเวณ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และทองไทยแตะระดับ 45,000 บาท ได้ในระยะ 1 ปีข้างหน้าจากปัจจุบัน 

 “ปัจจัยหนุน” มาจากความกังวลสงครามตะวันออกกลางยืดเยื้อและทวีความอาจรุนแรง และธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลกทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์ในทุนสำรองของตัวเอง เพื่อกระจายความเสี่ยงที่ถือเงินดอลลาร์มากเกินไป หันมาสะสมทองคำทะลุ 1,000 ตันติดต่อกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าปกติเฉลี่ย 500 ตันต่อปี โดยธนาคารกลางของจีนเพิ่มทองซื้อถึง 30%  

ดังนั้น แนะกลยุทธ์ “เพิ่มน้ำหนัก” การลงทุนกองทุนทองคำต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา (ราคาทองโลกต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ราคาทองไทย 38,000 บาท ) และในระยะ 1 ปีข้างหน้า ราคาทองยังเป็นเทรนด์ขาขึ้น แต่มีความผันผวนสูงเช่นกัน   

การเข้าลงทุนในทองคำ มีทั้งเป็นลักษณะ “การออมเงิน” เพื่อรักษามูลค่า และ "การเข้าลงทุน" หากกังวลความผันผวนค่าเงินบาท ควรลงทุนทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยง ติดพอร์ตสัดส่วน 5% เท่านั้น เหตุราคาทองคำผันผวนสูงและไม่มีเงินปันผล      

ที่สำคัญควรเลือกลงทุนกองทุนทองคำที่มีนโยบายปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุน หรือตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าราคาทองที่ปรับตัวขึ้นได้เช่นกัน !!