มุมมองเศรษฐกิจโลกล่าสุดจากไอเอ็มเอฟ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เพิ่งออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับเดือน เม.ย.2024 ให้ข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้า ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่โลกเต็มไปด้วยความวุ่นวายและความไม่แน่นอน
บทความวันนี้จะสรุปการวิเคราะห์ มุมมอง และประเด็นห่วงใยของไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกขณะนี้ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ
ถ้าจําได้มุมมองไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกปลายปีที่แล้ว คือ เศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอจากผลของอัตราดอกเบี้ยที่สูงเพื่อลดเงินเฟ้อ และเมื่อเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องในปีนี้ อัตราดอกเบี้ยก็จะสามารถปรับลดลงได้
ซึ่งจะช่วยประคองการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอยและกลับมาขยายตัวได้สูงขึ้นอีกในปีหน้า เป็นธีมเศรษฐกิจโลกซอฟต์แลนดิ้งจากอัตราเงินเฟ้อที่สูง
ผ่านมา 4 เดือน เศรษฐกิจโลกก็กําลังเดินในแนวนี้ แต่ความเข้มแข็งหรือน้ำอดน้ำทนมีมากกว่าที่คาด คือเศรษฐกิจยังขยายตัวพอควร การลดของเงินเฟ้อมีต่อเนื่อง และระบบการเงินมีเสถียรภาพ
ไอเอ็มเอฟประเมินว่าปีนี้และปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.2 เท่ากับปีที่แล้ว คือไม่ได้ชะลอลงแม้อัตราดอกเบี้ยจะยืนในระดับสูง เป็นความเข้มแข็งที่น่ายินดีและเกินคาดพอควร
ความเข้มแข็งนี้ โดยเฉพาะกรณีเศรษฐกิจสหรัฐเป็นผลจากหลายปัจจัย
1.การกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิดโดยนโยบายการคลังในวงเงินที่สูงมาก ยังส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจอยู่
2.ประชาชนใช้จ่ายจากเงินออมที่สะสมไว้ในช่วงโควิด ทําให้การบริโภคไม่ชะลอมากแม้อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น
3.ข้อจำกัดด้านอุปทานผ่อนคลายมากกว่าคาด โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่อุปทานได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดแรงงานของแรงงานย้ายถิ่นจากต่างประเทศ และ
4.ดอกเบี้ยที่สูงไม่ได้กระทบครัวเรือนมากอย่างที่ประเมิน ส่วนหนึ่งเพราะสินเชื่อบ้านส่วนใหญ่เป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่
สำหรับเงินเฟ้อ การปรับลดของเงินเฟ้อมีต่อเนื่อง แม้ไม่เร็วอย่างที่อยากเห็น กรณีสหรัฐช่วงสามเดือนแรกปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังยืนระยะที่ร้อยละ 3 และร้อยละ 4 ต่อปี ไม่สามารถปรับลงสู่ร้อยละ 2 ที่เป็นระดับเป้าหมาย
ไอเอ็มเอฟประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อโลกจะปรับลงจากร้อยละ 6.8 ปีที่แล้ว เป็นร้อยละ 5.9 ปีนี้ และร้อยละ 4.5 ปีหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อในประเทศอุตสาหกรรมจะลดลงสู่ระดับเป้าหมายได้เร็วกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่
อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟห่วงว่าการใช้จ่ายในเศรษฐกิจโลกที่ยังเข้มแข็ง อาจเป็นความเสี่ยงให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ต้องระวังและไม่ควรประมาท
ทำให้นโยบายการเงินต้องให้ความสำคัญกับการนําอัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าเป็นอันดับแรก และการลดอัตราดอกเบี้ยควรทำเมื่อมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับเป้าหมายหรือไม่เป็นปัญหาอีก
ในภาพรวม ไอเอ็มเอฟมองว่าเศรษฐกิจโลกมีน้ำอดนํ้าทนมากกว่าคาด ตัวเลขต่างๆ ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกกําลังซอฟต์แลนดิ้งและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ลดลง
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างในการฟื้นตัวและการขยายตัวของเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ ขณะนี้มีมาก เป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่าเทียมและไม่ทั่วถึง มีประเทศที่โตมาก เช่น สหรัฐและประเทศที่โตน้อย ทําให้นโยบายเศรษฐกิจของแต่ละประเทศต้องมุ่งไปที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศมี
ในประเทศที่การขยายตัวไปได้ดี ไอเอ็มเอฟเเนะนําให้ใช้โอกาสนี้กระชับพื้นที่การคลังด้วยการลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดการใช้จ่ายเพื่อลดภาระดอกเบี้ย รักษาฐานะการคลังให้มีเสถียรภาพ และสร้างพื้นที่การคลังที่จะรองรับหรือเผชิญกับปัญหาและความท้าทายในอนาคต ไม่ว่าภาวะโลกร้อน สังคมสูงวัย เศรษฐกิจดิจิตอล ความมั่นคงทางพลังงาน และการป้องกันประเทศ
และสำหรับประเทศที่อัตราการขยายตัวยังตํ่า นโยบายควรมุ่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างความสามารถให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในอัตราที่สูงขึ้น
สำหรับระยะปานกลางคือ 3-5 ปีข้างหน้า ไอเอ็มเอฟมองว่าศักยภาพเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวยังดูอ่อนแอไม่เข้มแข็ง
สาเหตุหลักมาจากผลิตภาพการผลิต (Factor Productivity) ที่ลดลง ซึ่งต้องแก้ด้วยการจัดสรรทรัพยากรระหว่างทุนและแรงงานในระดับอุตสาหกรรมให้ดีขึ้น และใช้ประโยชน์เทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในกระบวนการผลิต ซึ่งหมายถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และวางกฎเกณฑ์ระดับสากลที่จะจูงใจภาคธุรกิจให้ลงทุนและปรับตัวในทิศทางดังกล่าว
อีกประเด็นคือภูมิรัฐศาสตร์ที่สร้างข้อจำกัดต่อการค้า ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะนําไปสู่มาตรการกีดกันทางการค้าและนโยบายอุตสาหกรรม ที่มุ่งปกป้องประโยชน์ระยะสั้นของแต่ละประเทศ
ท้ายสุดคือภัยต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจากภาวะโลกร้อนที่ต้องการการเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้พลังงาน ภาครัฐลดการอุดหนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน นํ้ามัน ซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และกระตุ้นการลงทุนสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีความร่วมมือระหว่างประเทศ
นี้คือมุมมองและข้อห่วงใยของไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกขณะนี้
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล